คิดแบบ “สยามพิวรรธน์” สร้างผู้นำรุ่นใหม่ผลิตงานระดับโลก

อัมพร โชติรัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (ล่างขวา), รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซ้ายบน), ทัสพร จันทรี Head of Organization Transformation สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (ขวาบน) และ จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล ที่ปรึกษา สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (ซ้ายล่าง)
อัมพร โชติรัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (ล่างขวา), รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซ้ายบน), ทัสพร จันทรี Head of Organization Transformation สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (ขวาบน) และ จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล ที่ปรึกษา สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (ซ้ายล่าง)

ตลอด 3 ปีผ่านมา “สยามพิวรรธน์” เดินหน้าผลักดันองค์กรของตัวเองให้ก้าวสู่ “digital organization” อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การพัฒนาฐานข้อมูลจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำไปสร้างธุรกิจดิจิทัลหลายประเภท ทั้งนั้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างครบถ้วน รวมถึงการจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรของบริษัทในเครือกว่า 48 บริษัท เพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้เกิดความคล่องตัว และรวดเร็ว

ทั้งยังกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้บุคลากรกว่า 2,300 คน คำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการนำนวัตกรรมมาพัฒนาศักยภาพของทีมงาน ที่สำคัญ ยังเปิดโอกาสให้ “คนรุ่นใหม่” ก้าวสู่ความเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจของตน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็น “talk of the world” ในที่สุด

ซึ่งเหมือนกับแอปพลิเคชั่นล่าสุดคือ “SuperApp” ที่เกิดขึ้นจากพลังสร้างสรรค์ “ผู้นำรุ่นใหม่” ของสยามพิวรรธน์ เมื่อไม่นานผ่านมา

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า…อะไรเป็นมูลเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง ? คนรุ่นใหม่ และผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นใครมาจากไหน ? ทำงานแผนกอะไร ? และพวกเขา และเธอจะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็น new economy อะไรบ้าง ?

Advertisment

จนเมื่อมีโอกาสพูดคุยกับทีมผู้บริหารระดับสูง และที่ปรึกษา อาทิ อัมพร โชติรัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทัสพร จันทรี Head of Organization Transformation สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล ที่ปรึกษา สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด คำตอบในคำถามเหล่านั้นจึงค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

เบื้องต้น “อัมพร” เล่าให้ฟังว่า สยามพิวรรธน์ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ มาหลายครั้งมาก ทุกครั้งเป็นไปได้ด้วยดี และทุกครั้งที่เจอวิกฤต เราพยายามคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อยู่เสมอ แม้แต่ในช่วงการปรับองค์กร หรือการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านก็เป็นสิ่งท้าทายมากจนถึงมากที่สุด แต่เราก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีทุกครั้ง เพราะมีพื้นฐาน คุณค่าขององค์กรที่เรียกว่าเข้มแข็งมาก ซึ่งคุณค่าขององค์กรประกอบด้วย

หนึ่ง ความเข้มแข็งในด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านค้าปลีกก็ดี ดีเวลอปเปอร์ก็ดี เรามีพื้นฐานและความสำเร็จในด้านธุรกิจที่เข้มแข็งมากระดับโลก เราได้รางวัลเยอะมาก เรากวาดรางวัลมาเรียบทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก

สอง พาร์ตเนอร์ชิป เรามีความเหนียวแน่นมาก และที่มีอยู่สามารถเคลมได้เลยว่าเรามี ecosystem ที่เป็นพาร์ตเนอร์ชิปแข็งแกร่งมาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแบงก์, โรงพยาบาล และธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งอันนี้เรามีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี

Advertisment

สาม ทรัพยากรบุคคล ต้องบอกว่าคนของเราที่มีอยู่เป็นผู้มีประสบการณ์หลากหลายมาก และแข็งแรงมาก ๆ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้เป็นผู้นำพาฝ่าฟันวิกฤตต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา เรายอมรับความเปลี่ยนแปลง เราสามารถพัฒนาตัวเราในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่เข้ามา เรามีความเข้าใจ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

“พูดง่าย ๆ ว่าสยามพิวรรธน์ถูกสอนมาให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แม้แต่ในเรื่องนวัตกรรม เราไม่ยึดติดกับภาพเก่า ๆ การดำเนินการแบบเก่า ๆ หรือธุรกิจแบบเดิม ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้สยามพิวรรธน์มีคุณค่าสำหรับการคิดอะไรก็ตาม เราจะคิดไปข้างหน้าอยู่เสมอ และมองหานวัตกรรรมอะไรใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้คือคำตอบว่าทำไมเราถึงพร้อมเดินหน้าสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ และครั้งนี้จะไม่เหมือนกับทุกครั้งในเรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น”

“เพราะตอนนี้ดิจิทัลดิสรัปต์ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของบุคลากร ส่วนที่ถูกกระทบอย่างรุนแรง ถามว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไหม ? แน่นอน เพราะเรามีการทำ organization ในส่วนของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น เราพัฒนาการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากตอนนี้เรายึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างจึงต้องเริ่มจากลูกค้า และจบลงด้วยลูกค้า อันนี้เราเรียกว่าประสบการณ์ลูกค้าแบบ 360 องศา”

“นอกจากนั้น สิ่งที่เราทรานส์ฟอร์มเมื่อ 3 ปีผ่านมา เราลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลประมาณ 1,000 ล้านบาท และเรามีการสร้างฐานข้อมูล ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ทรงพลังมาก ทั้งยังมีความแม่นยำ จนเรามีความพร้อมในการใช้ฐานข้อมูลนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทุกวันนี้ถ้าธุรกิจไม่มีฐานข้อมูล ดิฉันคิดว่าไปไม่รอด ดาต้าอะนาไลติกส์เป็นอะไรที่สำคัญมาก เป็นการสร้างฐานดาต้าแวร์เฮาส์เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดเรื่องของนวัตกรรมในการสร้างธุรกิจ”

“อัมพร” กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเราก็สร้างจักรวาลแห่งประสบการณ์คือการเชื่อมโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ เราสร้างแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อภายนอก ดังนั้น ประสบการณ์นี้จึงไร้รอยต่อ สยามพิวรรธน์ในปัจจุบันจึงเป็นการปฏิวัติธุรกิจค้าปลีกอีกครั้งหนึ่งอย่างรุนแรง

โดยเริ่มต้นจากตัวเราเอง จากภายในองค์กรสู่ภายนอก ซึ่งการทำแบบนี้เราต้องเริ่มจากบุคลากรก่อน คือ เราต้องจัดทัพบุคลากรภายในองค์กรเสียก่อน โดยนำกลุ่มบุคลากรที่มีความพร้อมมาทำความเข้าใจกับโจทย์ และกลยุทธ์ขององค์กร ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมาเติมเต็มคือเราต้องหาคน พนักงาน หรือผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอกมาช่วยเสริมทัพของเรา

“เราจึงดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ในแง่ของตัว young generation หรือ management team เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขา ที่สำคัญ เรามีรีครูตเด็กอายุประมาณ 30 ปี ที่มีพื้นฐาน young talent in the future มาภายใน 1-2 ปีสูงมาก เรียกว่ามากกว่า 50% ตรงนี้เป็นการสร้างทัพคนรุ่นใหม่เข้ามา”

“คนเหล่านี้จะมีความรู้หลากหลาย พวกเขาจะมาเสริมทัพทีมที่มาจากทางเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากจะมาเสริมทัพ สิ่งที่น้อง ๆ มาร่วมงานกับเราคือเราจะให้โอกาสทุกคนในการเข้ามาเรียนรู้ เข้ามาร่วมโครงการ มาทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อทำโปรเจ็กต์ที่สยามพิวรรธน์ดิวมา นอกจากนั้น เรายังมีโครงการหลากหลายมาก นอกจากในระดับโลคอลแล้ว ยังมีพันธมิตรจากทั่วโลกมาให้สยามพิวรรธน์ช่วย”

“พูดง่าย ๆ ว่าน้อง ๆ เหล่านี้ หรือพนักงานใหม่เหล่านี้จะเข้ามาร่วมทีม และเวิร์กไปกับพวกเรา ดังนั้น พวกเขาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากพี่ และพันธมิตรจากทั่วโลก ดิฉันมองว่าการเสริมทัพจากภายในองค์กร และจากภายนอกที่มาเมิร์ชกัน จะทำให้เรามีกองทัพที่เกิดจากการผลักดัน กระทั่งทำให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด และประสบความสำเร็จเหมือนกับ 60 ปีที่เราเป็นที่ 1 ในหลาย ๆ ด้าน”

“รศ.ดร.ณัฐชา” กล่าวเสริมว่า ดิฉันเข้ามาช่วย และพัฒนาระบบการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะทำให้เราในฐานะ educator มาสร้างผู้นำแห่งอนาคต เพื่อให้พวกเขามีทักษะทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และจะต้องมี playground ให้คนเหล่านี้ได้ทำจริง ๆ ด้วยการแปลงความฝันให้กลายเป็นความจริง ที่จะตอบโจทย์ประชาชน และทำให้ประชาชนคนไทยดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ และมีความสุขในรูปแบบใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

เพราะสยามพิวรรธน์เป็นองค์กรที่มีผู้นำในแง่ของการสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประชาชนคนไทยอยู่แล้ว

ดังจะเห็นว่าในโลกอนาคต young generation สำคัญมาก คนรุ่นใหม่เหล่านี้ถ้าเขามีโอกาส และมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับทางทีมที่เป็นองค์กรชั้นนำอย่างสยามพิวรรธน์ จะทำให้เราสร้างบุคลากรที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทยได้ และจะทำให้บุคลากรที่มีอยู่ในสยามพิวรรธน์มี future skills ด้วย

เหมือนกับมีคนหลาย generation พร้อมกันในองค์กรเดียวกัน จะทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าเร็วขึ้น และทักษะที่สำคัญที่จะต้องมี 4C คือ creativity, collaboration, communication และ critical thinking สิ่งเหล่านี้จะถูกผสมไปพร้อม ๆ กันกับเด็กรุ่นใหม่ และบุคลากรที่อยู่ในองค์กรด้วย รวมถึงดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่นตอนนี้สยามพิวรรธน์อยากจะสร้างออมนิแชนเนล (omnichannel) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับโลก

“ถ้าประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้ และถูกวางบนแผนที่โลก เนื่องจากวิชั่นของสยามพิวรรธน์ คือ talk of the world เราจึงจำเป็นต้องนำคนรุ่นใหม่เข้ามาผสมในการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และเราเชื่อว่าคนไทยทำได้ เพราะคนไทยมีศักยภาพ ขอเพียงแค่โอกาส และมาผนึกกำลังกัน ทั้งจากภาคเอกชน, มหา’ลัยก็จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจใหม่”

“เพราะตอนนี้ engine ของเศรษฐกิจมีอยู่ไม่กี่ตัว เราจึงต้องเร่งสร้างสิ่งที่เป็น talk of the world โดยอาศัยคนไทยเป็นกำลังสำคัญ เพราะอย่างที่ทราบคนสำคัญที่สุด และคนเหล่านี้จะเป็นคนสร้างอนาคตแห่งประเทศไทย”

ขณะที่ “ทัสพร” บอกว่า ผมรับผิดชอบในส่วนของการปรับองค์กรทั้งหมด ถ้าเราเห็นภาพใหญ่มาตั้งแต่ 2 -3 ปีที่แล้วจะเห็นว่าเป็นการทำให้ครบด้าน เพราะถ้าเราทำงานด้านการปรับองค์กรธุรกิจ โมเดลทั้งหลายที่ผ่านมาเป็นสิ่งดีที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือการปรับ process เพราะถ้านำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเดียว แต่ไม่ปรับกระบวนการข้างในจะไม่เกิดผล

ฉะนั้น สิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำจริง ๆ คือส่วนของเทคโนโลยี ขณะที่ส่วนของแพลตฟอร์มผมว่าพร้อมอยู่แล้ว แต่ที่เราทำเพิ่มอีกด้านคือการทำระบบการทำงานทั้งหมดให้รวดเร็วขึ้น

“วันนี้ถ้าเรามองภาพสยามพิวรรธน์จะเป็นที่ทำงานในอุดมคติ เพราะว่าสิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำคือทำอะไรแล้วต้องทำระดับโลก เราอาจไม่ต้องใหญ่ที่สุด แต่เวลาเราลงมือทำอะไร จะอยู่ในคุณภาพที่เป็นการทำงานที่ดีที่สุด พอตั้งโจทย์เรื่องการทำงานให้ดีที่สุด คนที่มาทำงานด้วย ก็จะเป็นคนเก่งที่สุดในแต่ละสายงาน กับอีกส่วนหนึ่งคือคนรุ่นใหม่เขาจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือเขาต้องการทำอะไรที่ไม่วุ่นวายซับซ้อน, ไม่ต้องการไปอยู่ท้ายแถว, ไม่ต้องการว่าเมื่อเข้าไปทำงานแล้ว ต้องไปต่อคิวว่าฉันเป็นเด็กจบใหม่ โดยไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะเขาต้องการอำนาจตัดสินใจ”

“ที่สำคัญ เขาต้องการเรียนรู้ในแต่ละวัน เพราะว่าวันนี้เส้นแบ่งระหว่าง work life balance ไม่มีแล้ว มีแต่ balance life ทำอย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ทำงานจะต้องได้รับการพัฒนาด้วย ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ จึงต้องทำองค์กรให้ขับเคลื่อนงานไปในระดับโลกให้ได้ โดยเด็กรุ่นใหม่เข้ามาจะต้องสนุก, เรียนรู้ในการทำงาน และได้เรียนรู้จากคนเก่ง ๆ ด้วย ในที่สุด พวกเขาจะเกิดผลสัมฤทธิ์ในชีวิตของเขาที่ได้ทำโปรเจ็กต์ระดับโลก”

“ส่วนการปรับโครงสร้างมีเรื่องของการทำงานให้เป็นลักษณะของทีมย่อย ๆ 8-12 คนที่สามารถตัดสินใจได้เร็ว เข้าถึงข้อมูลได้ เรียกว่าเป็น agile team การเข้าถึงข้อมูล เราจะพัฒนาให้ทุกคนมี skills สำหรับ future นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราถึงต้องมีอาจารย์ณัฐชามาช่วย และต้องมี 4C เพราะคนเหล่านี้คืออนาคต และคือทรานส์ฟอร์เมอร์สกิล คือไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็สามารถพัฒนาอนาคตได้ โดยสรุปคือวันนี้เราเป็นองค์กรที่ทำงาน 2 ด้านพร้อม ๆ กัน คือด้านเทคโนโลยี และด้านปรับโครงสร้าง ให้มีการทำงานที่กระชับ และตัดสินใจรวดเร็วขึ้น”

สำหรับ “จารุนันท์” มองเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นคือทำอย่างไรให้ way of work กลายเป็น work as one ซึ่งเป็นคำที่ซีอีโอ (ชฎาทิพ จูตระกูล) เราเน้นมาก เพราะไม่ว่าจะทำงานในสภาพการเปลี่ยนแปลงที่มีการดิสรัปชั่นเยอะแยะอย่างไร เราต้องก้าวข้ามผ่าน และต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งหลัง ๆ เรามีน้อง ๆ สายเทครุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานกับเราตั้ง 50%

“ดังนั้น โจทย์สำคัญของเราที่จะไปด้วยกันอย่างลงตัวคือ ต้องมี way of work เพื่อที่จะ work as one ให้ได้”

“ฉะนั้น สิ่งที่เราทำ 2 ส่วนคือในเชิงของลอจิก หรือฟังก์ชั่นนอล คือกลไกอะไรที่จะทำให้เรา work as one เราจึงต้องสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกันให้มีทักษะที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และมีทักษะในการร่วมงานแบบ collaborate กับอื่น ๆ ได้ดี เพราะเราเน้นเรื่องการลงมือทำ ด้วยการลองทำโปรเจ็กต์ด้วยกัน ฉะนั้น พวกเขาก็จะร่วมกันทำงาน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เข้าอกเข้าใจกัน และเวิร์กอย่างเป็นหนึ่งเดียว”

“แต่มีอีกสิ่งที่เราทำเพิ่มคือทำให้มีอารมณ์ด้วย ไม่ใช่ลอจิคอล หรือฟังก์ชั่นนอลอย่างเดียว ในเชิงอารมณ์เราทำโครงการอันหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า change to shine (ปรับแล้วรอด เปลี่ยนแล้วรุ่ง) และเราเรียกคนมาร่วมในโครงการว่า warrior เพื่อพวกเขาจะได้รู้สึกสนุก ฮึกเหิม แบบเราต้องพร้อมรบนะ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เล่น ๆ แต่เป็นสงครามที่เราต้องชนะเท่านั้น”

“ที่สำคัญ ตัวโครงการเราระดมคนทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่มาทำโครงการด้วยกัน จึงมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งมาจากทุกสายงานเลยกว่า 100 ชีวิต คนเหล่านี้เสมือนเป็นตัวแทนของแต่ละหน่วยงาน ส่วนหนึ่งมาทำการปรับเปลี่ยนการทำงานแบบรุกรับฉับไว สั้นขึ้น มีทางลัดสั้นย่อ ไม่ต้องเรียงซีเควนซ์แบบเดิม ๆ เพื่อให้การทำงานสนุกขึ้น”

“ในเชิงอารมณ์ เราคิดว่าน้อง ๆ เป็นตัวแทนที่มีทัศนคติคิดบวก และเป็นคนที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงมาทำงาน เราเรียกคนเหล่านี้ว่า employee engagement champion หรือผู้สื่อสาร และสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้ทุกคนพร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงเน้นการลงมือทำงานจริง และการลงมือทำงานร่วมกันแบบ cross team โดยมีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มาช่วยโค้ชให้ ที่สำคัญ เรายังสร้างกลุ่มพนักงานคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็น certified scrum master จำนวนมาก ดังนั้น พนักงานคนหนึ่ง ๆ เราลงทุนกับเขาพอสมควร เพื่อจะได้ certified เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว