“บางกอกแอร์เวย์ส” บุกรอบทิศ พร้อมปรับกลยุทธ์มุ่งสู่ “โกลบอลแบรนด์”

“บางกอกแอร์เวย์ส” ชี้แนวโน้มศักยภาพการทำกำไรต่อที่นั่งของธุรกิจสายการบินทั่วโลกปรับตัวลดลง เร่งขยายฐานธุรกิจรอบทิศ ทั้งธุรกิจการบิน-แคเทอริ่ง-อาหาร-คาร์โก ล่าสุดทุ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาทลงทุนศูนย์ซ่อมฯ ที่สนามบินสุโขทัย หนุนรายได้กลุ่มน็อนแอโรเติบโต พร้อมปรับแผนการตลาดมุ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจนทั้งในระดับประเทศ-ระดับโลก หวังยกระดับแบรนด์สู่โกลบอลแบรนด์อย่างชัดเจน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่งของธุรกิจสายการบินมีแนวโน้มปรับตัวลดลงทั่วโลก ขณะที่การแข่งขันของธุรกิจยังรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่ส่งผลให้ราคาตั๋วโดยสารโดยภาพรวมปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกันธุรกิจสายการบินยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเมื่อต้นปี 2560 ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจสายการบินในปีที่ผ่านมามีศักยภาพในการสร้างกำไรต่อที่นั่ง (ยีลด์) ลดลง

มุ่งปิดความเสี่ยง-รักษากำไร

“ปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 28,493.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% และมีผลกำไรสุทธิ 846.4 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 53.9% มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสาร 5% และมีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 5.944 ล้านคน อัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 68.5 ซึ่งสาเหตุหลักที่ตัวเลขกำไรลดลงมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และผลจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในด้านราคานั่นเอง” นายพุฒิพงศ์กล่าว

Advertisment

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า โจทย์สำคัญในการดำเนินงานสำหรับบางกอกแอร์เวย์สในปี 2561 นี้ คือ การรักษาอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่ง (ยีลด์) ไม่ให้ปรับลดลงไปกว่าเดิมให้ได้ โดยวางโครงสร้างราคาตั๋วโดยสารให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันในอัตราที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าในปี 2561 นี้จะเป็นปีที่บริษัทปรับตัวเตรียมพร้อมและบริหารจัดการได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ามีรายได้รวมเพิ่มประมาณ 10% จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 7% และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 30%

ปั้นธุรกิจน็อนแอโรรอบทิศ

และเพื่อให้บริษัทยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่อง ขณะนี้บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานสุโขทัย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการออกแบบและจัดเตรียมพื้นที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2563

Advertisment

ส่วนธุรกิจครัวการบินบริษัทบางกอกแอร์เคเทอริ่ง จำกัด หรือ BAC นั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวน 24 สายการบิน ล่าสุดได้เปิดสาขาภูเก็ตไปแล้ว และมีแผนเปิดอีก 1 แห่ง คือ สาขาเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ภายในปี 2562 นี้

นอกจากนี้ยังได้ลงทุนในธุรกิจอาหารแปรรูปภายใต้แบรนด์ กูร์เมต์พรีโม่ (Gourmet Primo) สำหรับให้บริการลูกค้าภายนอก สำหรับธุรกิจบริการภาคพื้นของบริษัท บางกอกไฟลต์เซอร์วิสเซส จำกัด ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 74 สายการบิน และคาดว่าภายในปีนี้จะมีลูกค้าสายการบินเพิ่มอีก 4 สาย และธุรกิจสถานีพักสินค้า (BFS Cargo) ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 67 สายการบิน คาดว่าภายในปีนี้จะมีลูกค้าสายการบินเพิ่มอีก 4 สาย

“ปัจจุบันเรามีรายได้จากธุรกิจสายการบินประมาณ 71-72% แต่อัตราการเติบโตในแต่ละปีไม่สูงมาก ขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน แคเทอริ่ง ฯลฯ มีศักยภาพในการเติบโตในอัตราที่สูงกว่า จึงเชื่อว่าในระยะยาวธุรกิจที่เป็นน็อนแอโรน่าจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น” นายพุฒิพงศ์กล่าว

เพิ่ม “เที่ยวบิน-โค้ดแชร์”

สำหรับในธุรกิจสายการบินนั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า บริษัทยังคงมีแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่และขยายโครงข่ายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมเมืองสำคัญทางธุรกิจ หรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) เกาะสมุย และเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางการบินโดยเส้นทางบินที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ ได้แก่ เชียงใหม่-ฮานอย (เวียดนาม) ที่จะเปิด 25 มีนาคมนี้ และเส้นทางภูเก็ต-ย่างกุ้ง (เมียนมา) จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี สำหรับเส้นทางสมุย

บริษัทมีแผนที่จะเปิดให้บริการแบบเช่าเหมาลำในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว ในเส้นทางบินระหว่างเกาะสมุยกับเมืองสำคัญของประเทศจีน อาทิ สมุย-ซีอาน และสมุย-ฉางซา นอกจากนี้ บริษัทจะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ในส่วนของการโค้ดแชร์กับสายการบินชั้นนำนั้นปัจจุบันเรามี 24 สายการบิน และจะลงนามเพิ่มเติมอีก 4-6 สายการบินในปีนี้” นายพุฒิพงศ์กล่าว

ยกระดับสู่ “โกลบอลแบรนด์”

ด้านนายพรต เสตสุวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการตลาด กล่าวเสริมว่า ในปีนี้บางกอกแอร์เวย์สดำเนินธุรกิจด้านการบินมาครบรอบ 50 ปี บริษัทจึงมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขวางขึ้น เพื่อสร้างความผูกพันรวมทั้งเพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้การให้บริการของบางกอกแอร์เวย์ส โดยมีเป้าหมายผลักดันให้แบรนด์บางกอกแอร์เวย์สขยับสู่โกลบอลแบรนด์โดยวางแผนจัดกิจกรรมทางการตลาดให้มีความต่อเนื่องตลอดทั้งปีในรูปแบบสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งและเอ็นเตอร์เทนเมนต์มาร์เก็ตติ้ง โดยกิจกรรมในส่วนของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งนั้น

ล่าสุดได้ให้การสนับสนุนรายการแข่งขันชกมวยไทยไฟต์ การสนับสนุนทีมฟุตบอลอาชีพในไทยเพิ่มเติมอีก 2 ทีม และจัดวิ่งมาราธอนใน 7 เส้นทางบินของสายการบิน

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนจับมือกับทีมฟุตบอลดังในยุโรป เพื่อเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนทีมฟุตบอลระดับโลกอีกด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะสรุปได้ประมาณเดือนมีนาคมนี้

ส่วนเอ็นเตอร์เทนเมนต์มาร์เก็ตติ้งนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมเซ็นสัญญากับบริษัทสร้างภาพยนตร์ระดับโลก เพื่อทำแคมเปญการตลาดร่วมกัน คาดว่าจะสรุปได้ภายในอีก 2-3 เดือนนี้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกจำนวนมาก อาทิ จัดเทศกาลดนตรี “สมุย มิวสิก เฟสติวัล” สนับสนุนงานฟูลมูนปาร์ตี้ เกาะพะงัน, จัดคอนเสิร์ตฉลอง 50 ปี เป็นต้น

เจาะตลาดรายเซ็กเมนต์

นายพรตกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดหลักของสายการบินนั้นจะเน้นการลงโฆษณาส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการเดินทางให้มากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ สมุย ภูเก็ต กระบี่ ตราด และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดจีน จัดทำแคมเปญกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคมากขึ้นด้วย

“ไม่เพียงเท่านี้ เรายังขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มจำนวนลูกค้าโดยออกแคมเปญที่เฉพาะกลุ่ม อาทิ แคมเปญ U Fare By Bangkok Airways บัตรโดยสารราคาพิเศษเพื่อจูงใจให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงแคมเปญ Resident Card สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียงสนามบินทั้ง 3 แห่ง คือ เกาะสมุย สุโขทัย และตราด ให้ซื้อบัตรโดยสารในราคาพิเศษ” นายพรตกล่าว