“ฝรั่งเศส-เยอรมนี” จับมือ กู้วิกฤต “อียู” สู้เบร็กซิต

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 3 ตามลำดับ ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพฉบับใหม่ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจ ทหาร และอื่น ๆ ให้ลึกกว่าเดิม

การเซ็นสนธิสัญญาครั้งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และมีนัย เพราะเกิดขึ้นในห้วงที่อียูกำลังวิกฤต อันมีปฐมเหตุมาจากอังกฤษที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ขอถอนตัวออกจากอียู และสร้างความปั่นป่วนไปทั้งอียู เพราะจนถึงปัจจุบันอังกฤษยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้น

เนื่องจากการเมืองภายในอังกฤษเอง การถอนตัวของอังกฤษ จุดประกายให้สมาชิกอียูชาติอื่น ๆ อยากเอาอย่างตาม บรรดาพวกขวาจัด พวกชาตินิยมและนักประชานิยมผงาดขึ้นมา ปลุกเร้าให้ประชาชนของตัวเองถอนตัวจากอียู

สาระหลักของสนธิสัญญาดังกล่าว ระบุว่า จะเพิ่มความเชื่อมโยงกันมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษฝรั่งเศส-เยอรมนี, ร่วมกันพัฒนาศักยภาพทางทหารเพื่อเสริมความแกร่งให้อียูและนาโต้, ให้เยาวชนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน รวมทั้งเรียนรู้ภาษาของกันและกัน โดยมีเป้าหมายจะจัดตั้งมหาวิทยาลัย “ฝรั่งเศส-เยอรมนี”

ตลอดจนจะทำให้ชายแดนของทั้งสองใกล้ชิดมากขึ้นด้วยการใช้ “สองภาษา” บนสองฝั่งของชายแดน

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี พูดชัดว่า “สนธิสัญญานี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาพิเศษ ที่กระแสชาตินิยมและประชานิยมกำลังเฟื่องฟู และเป็นครั้งแรกที่มีประเทศหนึ่งนามว่าเกรท บริเตน กำลังจะถอนตัวจากอียู” ส่วนผู้นำฝรั่งเศสระบุว่า เป็นความท้าทายสำหรับยุโรปในการเป็น “เกราะ” ป้องกันโลกที่กำลังปั่นป่วน

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าสนธิสัญญานี้จะมีผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ ซึ่งตามความเห็นของอลิสแตร์ โคล แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ชี้ว่า ความสำคัญของสนธิสัญญานี้อยู่ที่สัญลักษณ์ โดยทั้งสองประเทศตั้งใจจะประกาศว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของอียูหลังจากอังกฤษถอนตัวออกไป แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป มีน้ำเสียงในเชิงติงเตือนว่า ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศส “สามารถและควร” จะรับใช้ยุโรปโดยรวมได้เป็นอย่างดี แต่ขอพูดตรง ๆ ว่า ทุกวันนี้ยุโรปต้องการสัญญาณชัดเจนจากปารีสและเบอร์ลินว่าการเพิ่มความร่วมมือในรูปแบบเล็ก ๆ ไม่ใช่ทางเลือกความร่วมมือของยุโรปทั้งหมด และไม่ได้มาแทนที่ความร่วมมือของยุโรป

ที่ผ่านมา ประเทศยุโรปกลางและตะวันออกหลายประเทศ ไม่ยอมรับนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพของอียูที่มีฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นแกนนำ ดังนั้น แน่นอนว่าสนธิสัญญาครั้งนี้เรียกเสียงคัดค้านอย่างดุเดือดจากกลุ่มขวาจัด เช่น แมตทีโอ ซัลวินี รัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลี กล่าวว่า ถึงเวลาที่จะต่อต้านแกน “ฝรั่งเศส-เยอรมนี” ด้วยแกน “อิตาลี-โปแลนด์”

คำพูดของรัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลีมีขึ้นขณะที่เขากำลังเดินทางเยือนโปแลนด์เพื่อหารือเกี่ยวกับการก่อตั้งกลุ่ม

“พันธมิตรที่ไม่เชื่อมั่นในอียู” โดยมีเป้าหมายท้าทายการครอบงำอียูของฝรั่งเศสและเยอรมนี ก่อนจะมีการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนพฤษภาคมนี้

อเล็กซานเดอร์ เกาแลนด์ ผู้นำร่วมของพรรคเอเอฟดีแห่งเยอรมนี กล่าวหาว่า เยอรมนีและฝรั่งเศสมีเป้าหมายจะสร้าง “ซูเปอร์อียู” ภายในสหภาพยุโรป “พวกเราในฐานะนักประชานิยมยืนกรานว่า แต่ละประเทศควรดูแลประเทศตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เราไม่ต้องการให้มาครงปรับปรุงตกแต่งฝรั่งเศสด้วยเงินของเยอรมนี” ซึ่งถูกมาครงตอบโต้ว่าเป็นข้อกล่าวหาเท็จ

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า ปมของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวสนธิสัญญา แต่อยู่ที่อนาคตอันไม่แน่นอนของโครงการปฏิรูปอียูของมาครง เพราะจะเห็นว่าอำนาจและความนิยมของมาครงลดลง

หลังจากได้รับเลือกตั้งและรับปากว่าจะใช้มาตรการสนับสนุนอียูหลายอย่าง รวมทั้งการผลักดันให้ยูโรโซนใช้งบประมาณร่วมกัน

สนธิสัญญานี้ ก่อให้เกิดดราม่าเลยเถิดถึงขนาดมีการปล่อยข่าวปลอมในฝรั่งเศสว่า อาจมีผลให้ฝรั่งเศสยกชายแดนของแคว้นอัลซาซและลอร์แรนให้เยอรมนี