ปรับตัวยุคดิจิทัล ด้วย ‘Crowdfunding’ มิติใหม่ของการระดมทุน สู่พลังขับเคลื่อนสังคมที่ยั่งยืน

‘Crowdfunding’ หรือ ‘การระดมทุนสาธารณะ’ คือระบบการระดมเงินทุนเพื่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง อาทิ การทำโปรเจ็กต์ การทำโครงการเพื่อสังคม ระดมทุนเฉพาะด้าน หรือแม้กระทั่งการระดมทุนเพื่อทำกิจการส่วนตัว โดยมีช่องทางเว็บไซต์เป็นตัวกลาง ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งการระดมทุนรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ

Crowdfunding จึงตอบโจทย์หนึ่งในปัญหาใหญ่ของผู้ที่เริ่มกิจการเพื่อสังคม คือ การเข้าถึง ‘การระดมทุน’ สำหรับผู้คนรวมกลุ่มกันทั้งในนามองค์กรไม่แสวงหากำไร กิจการเพื่อสังคม หรือมูลนิธิ เพื่อแก้ปัญหาที่พอจะช่วยเหลือได้

สำหรับการระดมทุนแบบ Crowdfunding ในประเทศไทย เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อสังคม เห็นได้จากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา เกิดโครงการรับบริจาคและระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์ขึ้นมากมาย 

เช่นเดียวกับโครงการ ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ อีกหนึ่งหน่วยงานต้นแบบเพื่อสังคม ที่มี คุณพณชิต กิตติปัญญางาม หรือ คุณก้อง CEO บริษัทสตาร์ทอัพด้านการแปลงข้อมูลดิจิทัล แอ็คโคเมท (ZTRUS)  ซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทใน Portfolio AIS The StartUp และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการฯ ที่นำระบบคราวด์ฟันดิงมาปรับใช้จนเกิดผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรม 

Advertisment

‘เป็ดไทยสู้ภัย’ รวมพลังสตาร์ทอัพสู้ภัยโควิด-19

เป็ดไทยสู้ภัย เกิดจากการผนึกกำลังของกลุ่มสตาร์ทอัพไทยในนาม สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) จับมือกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนค่าห้องพักรักษาตัว รวมทั้งค่ารถรับ-ส่งให้กับผู้มีความเสี่ยงและผู้ป่วยโควิด-19 ถือเป็นการปลุกพลังบริษัท Startup ในไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี (tech startup)และนวัตกรรม เข้าช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ 

ซึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากการพูดคุยกันในกลุ่มสตาร์ทอัพว่าพวกเรามีเทคโนโลยีอยู่ในมือ จะนั่งดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ผ่านไปเฉยๆ รอให้รัฐบาลแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว หรือจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จึงได้นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพหลายๆ บริษัทมาดูกันว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสามารถใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องไหนได้บ้าง

โดยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงจัดทีมสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำเว็บเพจ เข้ามาช่วยเหลือภาครัฐในการสื่อสารให้คนตระหนักถึงความอันตรายของโควิด-19 และให้คนในสังคมไม่ส่งต่อความเชื่อที่ผิดออกไป เช่น เพจชัวร์ก่อนแชร์ เป็นต้น

Advertisment

นอกจากการให้ข้อมูลข่าวสารและแบบประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเอง ทางเพจเป็ดไทยสู้ภัย ยังมีการเปิดให้คำปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ (Telemedicine)เพื่อช่วยให้ประชาชนคลายข้อสงสัยและตรวจสอบอาการ COVID-19 เบื้องต้นได้ โดยไม่ต้องออกเดินทางไปโรงพยาบาลร่วมกับสตาร์ทอัพ Health Tech ที่สามารถพูดคุยกับหมอผ่านแพลตฟอร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับการผนึกกำลังกันในครั้งนี้ ถือเป็นการรวมพลังกลุ่มสตาร์ทอัพครั้งสำคัญ ที่นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาเป็นเซอร์วิสด้านต่างๆ เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 อย่างทันท่วงที ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร คิดค้นระบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ระบบการติดตามอาการ ระบบรวบรวมโรงแรมและที่พักรองรับกลุ่มเสี่ยง รวมถึงระบบจัดส่งยาและส่งผู้ป่วย เพื่อแบ่งเบาภาระงานและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้ 

เสริมระบบ ‘Crowdfunding’ ระดมทุนช่วยเหลือประชาชน

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก หากใครมีอาการป่วยโควิด-19 ก็จะไม่มีคนอยากรับขึ้นรถเพื่อนำไปรักษาต่อ แต่เป็ดไทยสู้ภัยพร้อมเดินหน้าเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งในขณะนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ทั้งการใช้จ่ายด้านการขนส่งผู้ป่วยและการสั่งซื้อยา ที่มีราคาต่อ 1 ชุด เฉลี่ยอยู่ประมาณ 1,500-2,000 บาท 

และไม่เพียงเท่านั้น เป็ดไทยสู้ภัย ยังช่วยจัดหาที่พักให้ผู้มีความเสี่ยงและผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส ซึ่งหากนับจำนวนผู้ป่วยที่คงค้างอยู่ในระบบ ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการจัดการต่างๆ แต่ทางโครงการฯ คงไม่รอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ทีมงานจึงตัดสินใจเปิดระดมทุนผ่านการรับเงินบริจาคด้วยระบบ คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) จากแพลตฟอร์ม เทใจ.com และ Socialgiver โดยอาศัยชื่อของ ‘มูลนิธิ ยุวพัฒน์’ ในการระดมเงินบริจาค เพื่อให้เราสามารถออกใบเสร็จให้กับผู้บริจาค นำไปใช้หักภาษีได้ 

ทั้งนี้ Crowdfunding ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางในการใช้ระดมทุน โดยจะต้องบอกถึงวัตถุประสงค์หลักของโครงการว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ทำอะไร ซึ่งหากโครงการมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ตรงกับเงื่อนไขของแพลตฟอร์มนั้นๆ ก็จะสามารถดำเนินการขอระดมทุนได้ โดยแต่ละคนจะลงเงินจำนวนไม่มาก ซึ่งหากหลายคนรวมกันก็มีจำนวนมากเพียงพอ จนสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้เงินได้

โปร่งใส-ตรวจสอบได้-ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก คือ ข้อดีของคราวด์ฟันดิง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็ดไทยสู้ภัยเลือกใช้ระบบ Crowdfunding เนื่องจากมีรูปแบบที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว รวมถึงช่วยลดกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากจากการระดมทุนรูปแบบเดิม ขณะเดียวกันหากอยากให้โครงการได้รับการระดมทุนจากผู้สนับสนุน การสื่อสารของเจ้าของโครงการที่ดีจะช่วยส่งผลให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้สนับสนุนจะเข้าใจทันทีว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งการทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันจะนำไปสู่การสนับสนุนนั่นเอง

ฉะนั้นแล้ว ผู้สนใจหรือเจ้าของโครงการที่ต้องการระดมทุน สามารถเข้าไปใช้บริการขอระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ที่เปิดให้ระดมทุนอย่างถูกต้องและตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ ขณะเดียวกันต้องศึกษาทำความเข้าใจ เงื่อนไขของเว็บไซต์นั้นให้ชัดเจนก่อน เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือผู้สนับสนุนได้จริง และลดความเสี่ยงที่จะทำให้การระดมทุนนั้นล้มเหลวอีกด้วย

โครงการ เป็ดไทยสู้ภัย ภายใต้กลุ่มสตาร์ทอัพไทยในนามของ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)ถือเป็นโครงการต้นแบบที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม ทั้งการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยเหลือภาครัฐในการรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 

รวมถึงเป็นต้นแบบให้แก่มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณะเพื่อสังคมอื่นๆ ได้รู้จักช่องทางหาแหล่งเงินทุนที่มีความปลอดภัยสูงและผ่านการรับรองอย่างถูกต้อง จนเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้ขอรับระดมทุนและผู้บริจาคได้เลือกสนับสนุน ต่อยอดสู่การขยายผลในด้านอื่นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข หากรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว อาจไม่ทันการหรือไม่เพียงพอ ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยเหลือสังคม จึงเป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่จะต้องร่วมมือกัน เพิ่มโอกาสความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันที่น่าอยู่อย่างไม่มีสิ้นสุด

และหากใครสนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ‘AIS The StartUp’ สู่เส้นทางแห่งความสำเร็จของธุรกิจในยุคดิจิทัล สามารถส่งผลงานเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/thestartup หรือ www.facebook.com/aisthestartup แล้วมาร่วมเดินหน้าสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกัน!