เรือหลวงสุโขทัย : เจาะงบราชนาวีไทย กับคำถาม ทำไมเสื้อชูชีพมีไม่พอ

ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ยอมรับเสื้อชูชีพไม่เพียงพอสำหรับกำลังพล 30 นาย ของเรือหลวงสุโขทัยที่ประสบเหตุอับปาง นำมาสู่การตั้งคำถามว่า งบประมาณของกองทัพเรือที่ได้ปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ทำไมจึงจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนได้ จนต้องตัดลดงบประมาณในส่วนอื่น เช่น งบประมาณพัฒนาขีดศักยภาพการป้องกันประเทศ

วันที่ 20 ธ.ค. พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวกรณี กำลังพล 30 นายบนเรือหลวงสุโขทัย ไม่มีเสื้อชูชีพ โดยยอมรับว่าเสื้อชูชีพไม่เพียงพอจริง

สาเหตุที่กำลังพล 30 นายไม่มีเสื้อชูชีพประจำกาย เพราะเรือหลวงสุโขทัยต้องนำกำลังพลของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง หน่วยละ 15 นาย ไปร่วมพิธีครบ 100 ปี “เสด็จเตี่ย” หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่หาดทรายรี จ.ชุมพร

Getty Images
Getty Images ลูกเรือที่รอดชีวิตในแพชูชีพ

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกกับบีบีซีไทยว่า การแถลงข่าวของ ผบ.ทร. “ฟังไม่ขึ้น” และ “ขุดหลุมฝังตัวเอง”

“แค่กับเสื้อชูชีพ ทำไมพร้อมไม่ได้ เรือลำนี้ออกมาลาดตระเวนในภารกิจช่วยเรือประมง มาช่วยเขา แต่เสื้อชูชีพ (สำรอง) ยังไม่มีเลย”

Advertisment

ดังนั้น ในความเห็นของนายพิจารณ์ ที่ติดตามและตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมมาตลอด โศกนาฏกรรมเรือหลวงสุโขทัยอับปาง นำมาสู่ “การตั้งคำถามต่อว่า ตกลงแล้ว เมื่อตอนที่ออกเรือ สภาพของเรือพร้อมไหมที่จะต้องมาเจอกับคลื่นลมแรง”

“เรือหลวงสุโขทัย มีขีดความสามารถในการรบสูง ติดระบบอำนวยการรบครบครัน แต่มันมีขีดความสามารถพร้อมรบแค่ไหน ขนาดเสื้อชูชีพยังมีไม่ครบเลย”

เปิดงบราชนาวีไทย ปี 2565 ใช้ไปเท่าไหร่

งบประมาณปี 2565 ของกองทัพเรือ ตามเอกสารรายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของรัฐสภา ชี้ว่า กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 41,307 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.32% ของกระทรวงกลาโหม ถือว่าลดลงจากปี 2564 จำนวน 1,129 ล้านบาท หรือลดลง 2.6%

เอกสารบันทึกข้อความรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 (31 มี.ค. 2565) ลงนามโดย พล.ร.ท. ณพ พรรณเชษฐ์ ปลัดบัญชีทหารเรือ (ปช.ทร.) ทำการแทน ผบ.ทร. พบว่า  งบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลงแล้ว รวมทั้งสิ้น 32,443 ล้านบาท  โดยรวมการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้ว 20,904 ล้านบาท หรือ 64.43% ของงบประมาณ แบ่งรายจ่ายเป็นแผนงานต่าง ๆ คือ บุคลากรภาครัฐ แผนงานพื้นฐาน แผนงานยุทธศาสตร์ และแผนงานบูรณาการ

Advertisment

เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังเผชิญคลื่นลมแรง
Getty Images เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังเผชิญคลื่นลมแรง

แต่รายละเอียดการใช้จ่ายของกองทัพเรือ รวมถึงการใช้จ่ายด้านกลาโหมนั้น ไม่ปรากฏรายละเอียด “ซื้ออะไร-จ่ายเท่าไหร่”

แม้แต่นายพิจารณ์ ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการทหาร ก็ไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึก แต่วิเคราะห์ว่า งบฯ จัดหาเสื้อชูชีพควรอยู่ในงบฯ “พัฒนาขีดศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ” ที่ปี 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 14,612 ล้านบาท

และงบฯ ส่วนเดียวกันนี้ ก็ครอบคลุมถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำและงบสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกันด้วย ดังนั้น “การซื้อเรือดำน้ำ มันเบียดบังการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ… พอไปใช้กับเรือดำน้ำเยอะ ก็เหลือน้อยลง”

นายพิจารณ์ ยังเปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากทหารเรือที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ว่า อันที่จริงแล้ว แพชูชีพภายในเรือหลวงสุโขทัย “ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทั้งหมด” และมีข้อมูลว่า สภาพเสื้อชูชีพบนเรืออื่น ๆ ของกองทัพเรือจำนวนไม่น้อย อยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน

แพชูชีพภายในเรือหลวงสุโขทัย “ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทั้งหมด”
Reuters แพชูชีพภายในเรือหลวงสุโขทัย “ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทั้งหมด”

จากการตรวจสอบในส่วนของงบประมาณในการซ่อมบำรุงและส่งกำลังบำรุง นายพิจารณ์พบว่า การเบิกจ่ายล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ทั้งปีงบประมาณ 2563-2564 แต่กลับมีการโอนเปลี่ยนแปลงงบไปซื้อยุทโธปกรณ์อื่นที่ไม่ได้ของบประมาณผ่านสภา ไม่ว่าจะเป็นยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก ยานเกราะ 4 ล้อ เป็นต้น

“เรืออื่น เสื้อชูชีพก็ไม่ดีพอ ขอซื้อใหม่ ก็เบิกจ่ายไม่ทันการใช้งาน” นายพิจารณ์ ระบุ

 คำชี้แจงของกองทัพ

คำถามคือ ในเมื่องบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ทำไมเสื้อชูชีพถึงยังไม่พอ โดยวานนี้ (20 ธ.ค.) ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ชี้แจงว่า เรือรบปกติจะมีเสื้อชูชีพอยู่เป็นของประจำกำลังพล กับเสื้อชูชีพสำรอง เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย และโยนเสื้อชูชีพให้กับผู้ประสบภัย นอกจากนี้ เรือรบยังมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ อาทิ แพชูชีพ ห่วงยาง หรือลูกยางกันกระแทกที่ติดอยู่กับเรือเล็กของเรือ

เรือหลวงสุโขทัยทราบปัญหานี้ดี เพราะว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับกำลังพลที่มาเพิ่มเติมจำนวน 30 คน ก็ได้พยายามที่จะนำอุปกรณ์ และสิ่งที่สามารถช่วยชีวิตได้มาให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพ

“ผมจะชี้แจงตัวเลขที่สำคัญให้ดูว่า มี 30 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ… มี 18 คนได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาแล้ว มี 12 คนที่ยังอยู่ในทะเล ในขณะเดียวกัน กำลังพลของเรือที่บอกว่า มีเสื้อชูชีพครบทุกคน ยังมีอีก 18 คนที่ยังอยู่ในทะเล”

“เพราะฉะนั้นการมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่า ทุกคนสามารถจะ พูดง่าย ๆ รอดชีวิต แล้วได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ… เขามีการกำหนดว่าใครจะขึ้นแพชูชีพก่อน ก็คือผู้ไม่มีเสื้อชูชีพต้องขึ้นแพชูชีพก่อน เป็นมาตรการที่ทางเรือกำหนดขึ้นมาในช่วงของเตรียมการในการสละเรือใหญ่”

“เพราะฉะนั้นอย่ามองว่า คนไม่มีเสื้อชูชีพ ทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า 18 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพขึ้นมากับ 75 คนแรกยังเหลือในทะเล 12 คน แล้ว 18 คนที่มีเสื้อชูชีพเองยังอยู่ในทะเลอยู่”

อย่างไรก็ดี  พล.ร.อ. เชิงชาย ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน “ไม่ได้เตรียมการแล้วเรือจมลงไปรวดเร็ว จนทำให้ทุกคนก็ชุลมุน”

Thai News Pix “เพราะฉะนั้นอย่ามองว่า คนไม่มีเสื้อชูชีพ ทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด”

ด้าน พล.ร.ท. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ให้สัมภาษณ์กับเดอะสแตนดาร์ด สอดคล้องกับการแถลงของ ผบ.ทร. โดยระบุว่า ปกติจะมีเสื้อชูชีพสำรองประมาณ 20-30 ตัว แต่บนเรือหลวงสุโขทัยนั้น “ผมไม่มีข้อมูลตรงนี้” ว่ามีเสื้อชูชีพสำรองกี่ตัว

“เสื้อชูชีพไม่สำคัญไม่ใช่ เราหมายความว่า คนที่ไม่ได้ใส่เสื้อชูชีพ เราก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่อยู่แล้ว” พล.ร.ท ปกครอง กล่าว

กองทัพเรือให้ความสำคัญกับเรือดำน้ำมากไป ?

นายพิจารณ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองโศกนาฏกรรมเรือหลวงสุโขทัยครั้งนี้ว่า ความเสียหายจากการสูญเสียครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงชีวิตของทหารประจำเรือ หรือมูลค่าเรือที่อยู่ในหลักหลายพันล้านบาท แต่ยังหมายถึงการสูญเสียศักยภาพการป้องกันประเทศด้วย เพราะเรือที่มีขีดความสามารถในระดับเดียวกับเรือหลวงสุโขทัย เหลือเพียง 4 ลำเท่านั้น

เขายังระบุว่า ในฐานะที่ติดตามงบประมาณกองทัพ โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือมาโดยตลอด จึงตั้งข้อสังเกตถึงการซ่อมบำรุงรักษาเรือของกองทัพเรือมีปัญหา ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะหลายปีที่ผ่านมาในการจัดทำงบประมาณ กองทัพเรือจัดสรรงบจำนวนมากเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ โครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนเรือดำน้ำและยุทโธปกรณ์อื่น ๆ จนต้องลดงบประมาณในส่วนอื่น ๆ ลง

ไทยกำลังสั่งซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำจากจีน
Getty Images ไทยกำลังสั่งซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำจากจีน

รัฐบาลไทยไม่เพียงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ แต่ยังของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก เพื่อเป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือดำน้ำ รวมถึงของบประมาณก่อสร้างอู่ต่อเรือ และท่าเทียบเรือดำน้ำอีกด้วย โดยมีรายละเอียดตามการรายงานของสำนักข่าวอิศรา และข้อมูลที่กองทัพเรือแถลง ดังนี้

  • เรือดำน้ำ 3 ลำ – 36,000 ล้านบาท
  • เรือยกพลขึ้นบก LPD “เรือหลวงช้าง” (เรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำ) – 6,100 ล้านบาท
  • ระบบอำนวยการรบให้ “เรือหลวงช้าง” – 1,000 ล้านบาท
  • ท่าจอดเรือดำน้ำและอาคารสนับสนุน ระยะที่ 1 – 900 ล้านบาท
  • ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่ 2 – 950 ล้านบาท
  • โรงซ่อมบำรุง – 995 ล้านบาท
  • คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดสนับสนุน – 130 ล้านบาท
  • อาคารทดสอบ และคลังอาวุธปล่อยนำวิถี – 138 ล้านบาท
  • แผนที่เรือดำน้ำ และระบบแสดงข้อมูลข่าวสารกองทางอุทกศาสตร์ระยะที่ 1+2 – 265.12 ล้านบาท
  • เรือลากจูงขนาดกลาง – 366.50 ล้านบาท
  • อาคารพักข้าราชการ – 294 ล้านบาท
  • ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ – 300 ล้านบาท

*ขอบคุณข้อมูลสำนักข่าวอิศรา

ด้าน พล.ร.ท. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ชี้แจงว่า เรือหลวงสุโขทัยได้รับการซ่อมบำรุงให้มีความพร้อมปฏิบัติการอย่างเต็มศักยภาพ โดยเพิ่งได้รับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ เมื่อ 2 ปีก่อนนี้เอง

“เรือสุโขทัยพึ่งได้รับการ Overhaul (ซ่อมบำรุงใหญ่) เมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เอง… เราใช้คอมพิวเตอร์สแกนต้นเรือถึงท้ายเรือ ดูว่ามีท้องเรือแตกหรือไม่ ตัวเรือถือว่ามีความแข็งแรงพอสมควร”

Thai Royal Navy

Thai Royal Navy
เรือหลวงสุโขทัย

นอกเหนือจากเสื้อชูชีพแล้ว สังคมยังตั้งคำถามถึงพฤติการณ์การอับปางของเรือหลวงสุโขทัยด้วย โดยผู้บัญชาการทหารเรือของไทยได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้เช่นกัน

“จากการรับทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทราบว่ามีน้ำเข้าเรือในปริมาณมาก โดยน้ำเริ่มเข้าบริเวณหัวเรือ จนทำความเสียหายกับระบบเครื่องไฟฟ้า ระบบเครื่องจักรช่วยของเรือหลวงสุโขทัย”

พล.ร.อ. เชิงชาย ผบ.ทร. เผยว่าลูกเรือพยายามใช้เครื่องสูบน้ำในเรือเพื่อระบายน้ำออกตามขั้นตอน แต่ไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน ทำให้น้ำเข้าเรือมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เครื่องจักร และเครื่องจักรช่วยได้รับความเสียหายและหยุดทำงาน”

“ปกติเรือรบจะมีความทนทะเลมากกว่าเรือโดยทั่วไปเพราะเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการรบ จะมีการผนึกน้ำเป็นคอมพาร์ตเมนต์ หากบริเวณไหนที่ได้รับความเสียหายจากการรบจะมีการผนึกน้ำ เพื่อสร้างให้เกิดกำลังลอยภายในเรือ เพื่อจะสามารถสู้รบอยู่ได้…”

“เมื่อเรือไม่สามารถสู้กับน้ำทะเลที่เข้ามาในตัวเรือได้ เขาก็ใช้วิธีการผนึกน้ำ เพื่อให้ตัวเรือยังลอยอยู่ แต่ปรากฏว่าหลังจากที่พยายามจะสู้กับน้ำทะเลที่เข้ามา ทำให้ไม่สามารถบังคับเรือได้ เพราะน้ำได้เข้ามาท่วมระบบเครื่องจักรช่วยสำคัญหลายส่วน…”

ต่อการใช้ “คอมพาร์ตเมนต์” ผนึกน้ำที่ทะลักเข้าเรือ นายอนาลโย กอสกุล บรรณาธิการเว็บไซต์ thaiarmedforce วิเคราะห์กับเดอะสแตนดาร์ดว่า ปกติแล้วลูกเรือจะได้รับการฝึกการควบคุมความเสียหาย ทั้งการถูกกระหน่ำยิงใส่ด้วยปืนและจรวด เพื่อให้เรือลอยลำและปฏิบัติการอยู่ได้ เพราะเรือรบถูกออกแบบให้มีขีดความสามารถในการลอยตัวสูง

“ข้างในเรือออกแบบเป็นห้องย่อย ๆ และกั้นด้วยประตูเหล็กแข็งแรงมาก น้ำจะผ่านไม่ได้ ดังนั้น ห้องหนึ่งท่วม เราปิดประตูซ้ายขวาและน้ำจะเข้าไปท่วมที่ห้องอื่นไม่ได้” นายอนาลโย กล่าว พร้อมเสริมว่า หากดำเนินการตามขั้นตอนหากน้ำเข้าเรือจะมีโอกาสรอดสูงมาก แต่ในเมื่อ ผบ.ทร. ชี้ว่า ทำทุกหนทางแล้ว เรือยังอับปาง คำถามคือ กระบวนการไหนที่ผิดพลาด

นายพิจารณ์ เห็นพ้องว่า เป็นความผิดพลาดทางเทคนิคของเรือหลวงสุโขทัย มากกว่าความผิดพลาดของมนุษย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ตั้งคำถามต่อว่า “ก่อนออกเรือแต่ละครั้ง กองทัพต้องประเมินสถานการณ์อยู่แล้วว่า เรือพร้อมขนาดไหน”

“ถ้าพูดว่าไม่มีปัญหาที่ตัวเรือ แล้วประเมินสภาพอากาศแล้ว ไม่วิเคราะห์กันหรือว่า พร้อมออกหรือไม่พร้อมออกเรือ”

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังชี้ว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหาและเป็นบทเรียนในหลายแง่มุม เพราะหากย้อนดูแล้ว ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่เคยมีเรือรบจมเพราะคลื่นลม สหรัฐฯ เองก็ไม่มีเรือรบอับปางเพราะพายุ ไต้ฝุ่น หรือดีเปรสชันเลย ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

“แต่ของเรา แค่คลื่นลมแรงทำให้เรืออับปาง มันตลก”

……

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว