เลือกตั้ง 2566 : ย้อนคดีธนาธรพ้น ส.ส. ถึงคำร้องสอบพิธาขาดคุณสมบัติ ปม “ถือหุ้นสื่อ”

Thai News Pix

เหลือเวลาอีกเพียง 4 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัทสื่อ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ (10 พ.ค.) ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

นายพิธา วัย 42 ปี ไม่เพียงเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แต่ยังเป็นหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค

นายเรืองไกรระบุว่า “พบข้อมูลที่น่าเชื่อว่า” นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV โดยเจ้าตัวได้ออกมายอมรับเรื่องชื่อผู้ถือหุ้นอยู่ใน บมจ.ไอทีวี และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ ตามข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแสดงไว้ และรายงานการประชุมของบริษัทเมื่อ 26 เม.ย. 2566 จึงถือว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว

“ผมหวังว่า กกต. จะทำหน้าที่โดยเร็ว ไม่ต้องรอวันเวลาต่าง ๆ ให้เนิ่นนานไปกว่านี้ เพราะถ้ารีบวินิจฉัย เรื่องก็จะไปศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง แต่ถ้ารอรับรองคุณสมบัติ เรื่องจะต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกร เป็นอดีตฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ลาออกมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่อนลาออกจากการเป็นสมาชิก พปชร. อีกครั้ง

เขาอ้างถึงการการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในกรณีหุ้นของนายพิธา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

จากการตรวจสอบข้อมูล ณ 7 เม.ย. 2566 ทำให้เข้าใจว่า

  • นายพิธายังคงเป็นผู้ถือหุ้นของ บมจ.ไอทีวี ในลำดับที่ 6,121
  • เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168
  • ที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110
  • จำนวนหุ้น 42,000 หุ้น

เมื่อตรวจสอบข้อมูลของ บมจ.ไอทีวี จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า

  • สถานะนิติบุคคล : ยังดำเนินกิจการอยู่
  • ทุนจดทะเบียน : 7.8 ล้านบาท
  • ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน : การออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงยกเว้นทางออนไลน์
  • วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : สถานีโทรทัศน์
  • หมวดธุรกิจ : กิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์
  • ปีที่ส่งงบการเงิน : ปี 2560-2564

เมื่อตรวจข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ 27 เม.ย. 2565 พบว่า

  • นายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,138
  • จำนวน 42,000 หุ้น
  • เลขที่ใบหุ้น 06680180285422
  • มูลค่าหุ้นละ 5 บาท

เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากจากเว็บไซต์ของ บมจ.ไอทีวี พบว่า

  • บริษัทแจ้งว่า ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิดทุกประเภท
  • รายได้ : ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และปี 2564 รวม 24 ล้านบาท
  • บริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อ 26 เม.ย. 2566

เมื่อตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่นายพิธาแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกาทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อ 25 พ.ค. 2562 พบว่า นายพิธาแจ้งเงินลงทุนไว้ 45 รายการ แต่ไม่พบลงทุนในหุ้นบริษัทไอทีวี

นายเรืองไกรจึงขอให้ กกต. ตรวจสอบข้อมูลว่านายพิธาถือหุ้นจำนวนดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด หากถือมาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. หรือไม่ และการเป็น ส.ส. ที่ผ่านมา จะชอบหรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.

ขณะเดียวกัน มาตรา 160 ยังกำหนดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามาตรา 98 ด้วย นั่นเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี ก็ห้ามถือครองหุ้นสื่อด้วยเช่นกัน

พิธาไม่กังวลปมถือหุ้นสื่อ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ของเขาเมื่อ 9 พ.ค. ว่า “ผมไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้ง ป.ป.ช. ไปนานแล้ว”

หัวหน้าพรรค ก.ก. ผู้มีกระแสนิยมมาเป็นอันดับที่ 1 ตามการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของสำนักโพลต่าง ๆ ณ ต้นเดือน พ.ค. ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล” และขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว เสียสมาธิในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรค ก.ก. ที่กล่าวระหว่างปราศรัยที่ จ.พิษณุโลก เมื่อ 9 พ.ค. ว่า นายพิธาเป็น ส.ส. มา 4 ปี อยู่ดี ๆ เพิ่งออกมาบอกว่าถือหุ้นสื่อ

“นี่เป็นมุก เป็นแผนการสกปรกของคนที่จนตรอก และกลัว เมื่อเขากลัว เขาก็พยายามบอกให้ประชาชนเลือกตั้งด้วยความกลัว” ช่อ-พรรณิการ์ ระบุ

อดีตเพื่อนร่วมพรรคชี้ ไร้หลักฐานทิมสละมรดก

นายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และอดีตสมาชิกพรรค อนค. ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการที่นายพิธาออกมาระบุว่า เป็นผู้จัดการมรดก ไม่ใช่เจ้าของหุ้นไอทีวี

ในฐานะที่ได้รับมรดกเป็นหุ้นของไอทีวีเช่นเดียวกัน นายนิกส์ตั้งข้อสังเกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในเอกสารของนายพิธาแจ้วว่า นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ เสียชีวิตในปี 2549 (พิธีศพระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2549) มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 3 คนคือ นางลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายภาษิ ลิ้มเจริญรัตน์

ตามกฎหมาย ทายาทเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ดังนั้น บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น จะต้องตกเป็นของทายาทในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ย่อมหมายความว่านายพิธา ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นไอทีวี จำนวน 14,000 หุ้น

“นายพิธาจะอ้างว่ามิใช่เจ้าของหุ้นไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่านายพิธาได้สละมรดกแต่อย่างใด อีกทั้ง การสละมรดกจำต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเจ้าพนักงาน หรือสัญญาประนีประนอม และในประการสำคัญ หากนายพิธาสละมรดกจริง ย่อมไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ ที่สำคัญถ้าหุ้นนี้เป็นของกองมรดกก็ต้องระบุใน บอจ.5 ว่าผู้ถือหุ้นคือนายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดก” อดีตเพื่อนร่วมพรรคของนายพิธากล่าว

นายนิกม์กล่าวว่า ตั้งแต่กรณีเรื่องหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวเขาเองก็ระมัดระวังตัว ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ จึงได้ติดต่อโบรกเกอร์ ติดต่อ TSD เสียค่าธรรมเนียม ออกใบหุ้น เพื่อโอนออกจากตัวเองไปแล้ว

ย้อนคดีธนาธรพ้น ส.ส. เพราะคดีถือหุ้นสื่อ

ธร

THAI NEWS PIX
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้นบริษัทสื่อ โดยเจ้าตัวเดินทางไปฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเองเมื่อ 20 พ.ย. 2562

ที่ผ่านมา มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 หลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการถือหุ้นบริษัทสื่อ ในจำนวนนี้คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่า นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่เมื่อ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่พรรค อนค. ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจนกว่าศาลจะวินิจฉัย ทำให้หัวหน้าพรรค อนค. ไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาแม้แต่วันเดียว

การประชุมสภานัดแรกเกิดขึ้นเมื่อ 25 พ.ค. 2562 โดยนายธนาธรได้เข้าร่วมปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่กับเพื่อน ส.ส. ด้วย ซึ่งต่อมานายชัย ชิดชอบ ประธานการประชุมสภาชั่วคราว ได้สั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ่านคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และไม่อนุญาตให้หัวหน้าพรรค อนค. พูดกลางสภา

นายธนาธรเปิดแถลงข่าว ยืนยันว่ายังเป็นตัวแทนของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ในสภาเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เวลานี้ไปพบปะประชาชน

“ผมจะยังคงทำงานต่อไป ไม่ท้อถอย และจะไม่ไปไหน จะอยู่ตรงนี้ ทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ผมจะรอวันนั้น แล้วสักวันผมจะกลับมา” นายธนาธรกล่าวเมื่อ 25 พ.ค. 2562

ในระหว่างต่อสู้คดีถือหุ้นสื่อ นายธนาธรอ้างว่าได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ จำนวน 675,000 หุ้น ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ตั้งแต่ 8 ม.ค. 2562 แต่ศาลเห็นว่ามี “ข้อพิรุธที่น่าสงสัยหลายประการ” และไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่ามีการโอนหุ้นกันจริง

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว