พิธา ลิ้มเจริญรัตน์: ย้อน “คดี ม. 151” จับตา “คดีถือหุ้นสื่อ” ฟื้นชีพหลัง กกต. รับรอง ส.ส.

แม้ “ปัญหาทางเทคนิค” ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีตกคำร้อง “คดีถือหุ้นสื่อ” ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่นักกฎหมายและนักการเมืองชี้ว่า กรณีนี้ยังมีโอกาสฟื้นคืนชีพได้อีกภายหลัง กกต. ประกาศรับรองนายพิธาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะมีช่องทางให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

นายพิธา เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจาก 8 พรรคการเมืองให้เป็นผู้นำประเทศคนต่อไป ภายหลังนำพรรคสีส้มชนะการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา

แต่ถึงขณะนี้ยังไม่อาจการันตีว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสม 312 เสียงจะประสบความสำเร็จหรือไม่ โดยหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์พลิกผัน หนีไม่พ้น กรณีการถือหุ้นของ บมจ.ไอทีวี ของนายพิธา ซึ่ง “นักร้องทางการเมือง” ตีความว่าเป็นหุ้นสื่อ และอาจทำให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จากกรณีการถือหุ้นของ บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ตามการรายงานข่าวตรงกันของสื่อหลายสำนัก

มติดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุม กกต. เมื่อ 9 มิ.ย. ซึ่งตรงกันวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน กกต. ครบ 25 ปี โดย กกต. เห็นว่า 3 คำร้องยื่นมาเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ทั้งนี้ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากพบว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ต้องร้องภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่กรณีนี้มาร้องก่อนวันเลือกตั้งเพียง 2 วัน

อย่างไรก็ตาม กกต. เห็นว่า คำร้องดังกล่าวมีรายละเอียด ข้อเท็จจริง และพฤติการณ์มีหลักฐานพอสมควร มีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า นายพิธามีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน จะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป

สำหรับมาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร

  • ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี
  • ปรับ 20,000-200,000 บาท
  • ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
เลขาธิการ กกต.

สำนักงาน กกต./ นายแสวง บุญมี ระบุว่า มีปัญหาทางเทคนิคในช่วงหลังเลือกตั้งก่อนการประกาศผล ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

ก่อนการประชุม กกต. ทั้งประธาน และเลขาธิการสำนักงาน กกต. ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวกรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุตอนหนึ่งว่า หากไม่รับเป็นคำร้อง จะรับเป็นความปรากฏต่อ กกต. หรือไม่ หากรับ จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนมาสืบสวนไต่สวน เชิญผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำ กระบวนการสอบสวนสามารถทำควบคู่ไปกับการประกาศรับรองผลได้ ซึ่งกระบวนการสืบสวนสอบสวนต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรม ต้องให้ความเป็นธรรมนายพิธา

“หากกระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ หรือคาดว่าไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่มีประเด็นอะไรต้องมาขวางการประกาศผล” ประธาน กกต. กล่าว

ส่วนกรณีที่นายพิธาเซ็นรับรองส่งผู้สมัคร ส.ส. ในฐานะหัวหน้าพรรค จะส่งผลให้ กกต. ไม่ประกาศรับรอง ส.ส. พรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายอิทธิพรตอบว่า “ไม่ถึงขนาดนั้น”

ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า “มีปัญหาทางเทคนิค” จากกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องมาร้องก่อนวันเลือกตั้ง 2 วัน และการพิจารณาลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ต้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ถ้าเป็นช่วงหลังเลือกตั้งก่อนการประกาศผล ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ถ้าประกาศรับรองผลไปแล้ว การให้พ้นจาก ส.ส. ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ต้องมีหลักฐานข้อเท็จจริง

“ส่วนตัวมองว่าคดีเรื่องขาดคุณสมบัติ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพราะมีลักษณะต้องห้าม ยังไม่สามารถพิจารณาได้ตอนนี้ เพราะยังไม่มีการรับรองเป็น ส.ส. เป็นเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง จึงต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส. ไปก่อน เพราะพ้นช่วงการยื่นของศาลฎีกามาแล้ว กกต. ไม่มีอำนาจไม่ประกาศ” เลขาธิการ กกต. กล่าวและว่า ขณะนี้พิจารณาได้เฉพาะคดีอาญา มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น

ไอทีวี

AFP/Getty Images/ บมจ.ไอทีวี หยุดดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2550 และได้ถอนชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2557 สาเหตุที่ยังคงสถานะเป็นบริษัท เพราะยังมีการฟ้องร้องอยู่กับ สปน.

คดีอาญา “ข้ออ้างแบบไม่ตะขิดตะขวงใจ” ในการงดโหวตนายกฯ

มติ กกต. ที่ออกมา ก่อให้คำถามจากสังคมว่าเหตุใด กกต. ถึงหยิบคดีอาญามาไต่สวนก่อน ทั้งที่ยังมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่า บมจ.ไอทีวี ยังมีสถานะเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ และสัดส่วนการถือครองหุ้นของนายพิธาสามารถมีอำนาจครอบงำสื่อมวลชนได้หรือไม่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาว่า คดีอาญานั้น ต้องฟ้องศาลอาญา ซึ่งมีกระบวนการยาวนานเป็นปี และเป็นหลักประกันความยุติธรรมว่าต้องผิดจริงจึงถูกลงโทษ ไม่สามารถเอาผิดโดยง่าย แต่โทษรุนแรงกว่า

“การที่ กกต. ฟ้องดำเนินคดีอาญา แม้ยังอยู่ในขั้นกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น แต่ก็เป็นวัตถุดิบเพียงพอต่อเหล่า ส.ว. ที่ตั้งใจไม่เลือกพิธาเป็นนายกฯ ไม่ยกมือให้ โดยมีข้ออ้างแบบไม่ตะขิดตะขวงใจ” นายสมชัยวิเคราะห์

จับตา “คดีถือหุ้นสื่อ” ฟื้นชีพหลัง กกต. รับรองพิธาเป็น ส.ส.

แม้ กกต. ตีตก 3 คำร้อง “คดีถือหุ้นสื่อ” ของนายพิธา แต่นักกฎหมายและนักการเมืองชี้ว่า กรณีนี้ยังมีโอกาสฟื้นคืนชีพได้อีกภายหลัง กกต. ประกาศรับรองนายพิธาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะมีช่องทางให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายพิธาสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82

  • ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ 50 คน จาก 500 คน เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
  • ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 25 คน จาก 250 คน เข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
  • กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ กรณีความปรากฏ หรือมีเหตุอันควรสงสัย

รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ขณะที่มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ด้วย นั่นเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรี “ห้ามถือครองหุ้นสื่อ” ด้วยเช่นกัน

ผู้ยื่นคำร้องอาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับ คดีอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ในจำนวนนี้คือ คดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จำนวน 675,000 หุ้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณาและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 23 พ.ค. 2562 ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย 20 พ.ย. 2562 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธรสิ้นสุดลง จากการถือหุ้นสื่อ

ศาล

Thai News Pix

ย้อนคดี ม.151 ใครรอด ใครร่วง

แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธรพ้นสมาชิกภาพของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แต่เขารอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่ง กกต. หยิบเอา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 มาฟ้องดำเนินคดีกับเขาเช่นกัน

ผ่านไป 5 เดือน หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธรพ้นจากความเป็น ส.ส. กกต. มีมติเมื่อ 23 เม.ย. 2563 ให้ดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรรค อนค. ในข้อหา “รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง” โดยแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.ทุ่งสองห้อง

ต่อมา 22 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร โดยให้เหตุผลว่า “พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของนายธนาธรได้”

อัยการสูงสุด (อสส.) เห็นว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานเพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญา โจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าว มาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง

นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า เป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกับศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนี้อัยการพิจารณาเฉพาะข้อหาคดีอาญา ซึ่งดูเรื่องเจตนาจากพยานหลักฐานทั้งหมดพบว่านายธนาธรน่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา

เช่นเดียวกับกรณีนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 22 ธ.ค. 2564 ให้สิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส. จากกรณีถูกจำคุกตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีฉ้อโกงเมื่อปี 2538 จึงถือเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)

ต่อมา 9 มี.ค. 2565 กกต. มีมติให้สำนักงาน กกต. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับนายสิระ ตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เช่นกัน โดยถือเป็น “ดาบสอง” ที่อดีตนักการเมืองรายนี้ต้องต่อสู้คดีในชั้นอัยการและศาลยุติธรรม เพื่อไม่ให้ต้องโทษจำคุก ปรับ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทั้งกรณีนายธนาธร และนายสิระ กกต. ตั้งคดีอาญา หลังจากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ของทั้งคู่แล้ว ต่างจากกรณีนายพิธาที่ กกต. ตั้งคณะกรรมการไต่สวนคดีอาญาก่อน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว