ทำไมต้องเป็น 7-11 “เอเย่นต์” จุดคืนภาษีทัวริสต์

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ก้อย ประชาชาติ

กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ในกลุ่มบริษัทยักษ์ค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่คว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง

เรียกได้ว่ามาแรงแซงทุกโค้ง หลังมีผู้ยื่นสมัคร 3 ราย คือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส, กลุ่มบริษัทธุรกิจจิวเวลรี่ และแวตรีฟันด์ เซอร์วิส ไทยแลนด์ ที่เป็นการร่วมทุนของ 4 ค้าปลีก คือ เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์ และโรบินสัน

แม้จะเป็นการให้บริการคืนภาษีในรูปแบบทดลองระบบ 6 เดือน คือ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562 แล้วค่อยมาสรุปวัดผลกันอีกที ว่าจะต่อยาวหรือยกเลิกไป แต่ความเคลื่อนไหวกลับยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการตั้งคำถามจากกลุ่มบริษัทร่วมทุนแวตรีฟันด์ เซอร์วิส ไทยแลนด์ และการชี้แจงในส่วนของกรมสรรพากร

หลังการประกาศผลเลือกเอเย่นต์คืนภาษี ซึ่งตามกำหนดเดิมจะเป็นวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561 เพื่อให้เริ่มรันระบบในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 นั้น กรมสรรพากรได้เลื่อนการประกาศผลไปวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2561

กรมสรรพากรให้รายละเอียดว่า มีผู้ยื่นสมัครจำนวน 3 ราย โดยมีผู้ได้รับการอนุมัติให้เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมืองจำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด โดยจะให้บริการใน 3 สาขา “ปิ่นสาย สุรัสวดี” รองโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นสมัครทั้ง 3 ราย พบว่า ผู้ยื่นสมัคร 2 ราย มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศและแนวปฏิบัติ โดยรายหนึ่งไม่ได้แสดงวัตถุประสงค์จดแจ้งจัดตั้งบริษัทเป็นตัวแทน และอีก 1 รายขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเสนอจุดบริการจำนวน 5 แห่ง ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนด

วันรุ่งขึ้นหลังคำอธิบายจากกรมสรรพากร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และบริษัทร่วมทุน “แวตรีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้แก่ เซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ และสยามพิวรรธน์ ได้ชี้แจงกรณีดาวน์ทาวน์ แวตรีฟันด์ ฟอร์ทัวริสต์

โดยเฉพาะเป็นการตั้งคำถามกลับไปยังกรมสรรพากรว่า “เกิดอะไรขึ้นกับโครงการ Downtown VAT Refund for Tourists ?”

หลังประกาศจากกรมสรรพากร ที่คัดเลือกให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 3 สาขา ได้รับสิทธิ์เป็นจุดคืนแวตรีฟันด์แต่เพียงผู้เดียว

“วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขยายความว่า โครงการดาวน์ทาวน์ แวตรีฟันด์ ฟอร์ทัวริสต์ เป็นโครงการนำร่องที่มาจากการลงทุนของเอกชน โดยมีแนวคิดเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเพิ่มการจับจ่ายช็อปปิ้งมากขึ้น และคืนเงินภาษีในสกุลเงินบาท นักท่องเที่ยวจึงสามารถนำเงินไปใช้

“เราไม่ได้มีปัญหาต่อการที่ร้านสะดวกซื้อได้รับสิทธิ์ เพียงแต่ต้องการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นรายเดียว และทำไมต้องแค่ 3 จุด และเลือกจากอะไร มองว่าการมีหลายจุดคืนภาษียิ่งดีต่อระบบ เพราะยิ่งช่วยกันกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว และอีกอย่างเป็นการลงทุนของภาคเอกชนเองทั้งนั้น และหลังจากนี้ทางสมาคมและบริษัทร่วมทุน

“แวตรีฟันด์ เซอร์วิส ไทยแลนด์” เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อกรมสรรพากร ที่ผ่านมาสมาคมได้ทำงานและประสานข้อมูลกับทางสรรพากรมาโดยตลอด เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการนี้ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี”60

ทั้งนี้ “วรวุฒิ” ให้เหตุผลของการที่สมาคมและบริษัทร่วมเลือกจุดนำร่องในการคืน VAT refund 5 แห่ง เนื่องจากเป็นแลนด์มาร์กของนักท่องเที่ยว และมีปริมาณนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 90,000- 150,000 คนต่อวันต่อสถานที่

ที่สำคัญ ร้านค้าในศูนย์การค้าเหล่านี้จะจดทะเบียน ภ.พ. 10 (แบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว) กับกรมสรรพากร ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 5 จุดที่คัดเลือกมีการขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวกว่า 9 แสนใบต่อไป เท่ากับ 60% ของการขอคืนภาษีจากนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากทั่วประเทศ

และในช่วง 6 เดือนที่ทดลอง เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในสกุลเงินบาท และมีการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้าน