ปรับปรุง “การศึกษา”

ภาพจาก : https://www.amnesty.co.th

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

 

เช้าวันหนึ่ง ผมไปเข้าเรียนมัธยมปลายตามปกติ ก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นขึ้น พบว่าในห้องเรียนมีโทรทัศน์ตั้งให้นักเรียนดูกัน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับโรงเรียนคงแก่เรียนแห่งนี้ แต่วันนั้นโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ดูการถ่ายทอดสดยานอวกาศอพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ วันนั้นคือวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 พวกผมเฝ้าดูการถ่ายทอดด้วยความตื่นเต้น

และตื่นเต้นมากขึ้น เมื่อครูวิชาวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งแอบกระซิบกระซาบดัง ๆ นอกหลักสูตรว่า ครูท่านไม่เชื่อว่าเป็นการถ่ายทอดจากพระจันทร์จริง ท่านว่าที่เราเห็นมนุษย์อวกาศกระโดดลงไปเหยียบบนดวงจันทร์นั้นเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวูด เพราะว่าในตำราที่ท่านเรียน (นับอายุแล้วตอนที่ท่านเรียนน่าจะประมาณ พ.ศ. 2480-2490) ไม่เคยพูดถึงเรื่องมนุษย์จะไปดวงจันทร์ได้

Advertisment

พระจันทร์เป็นที่สถิตของเทพยดา เราถึงต้องมีสารทไหว้พระจันทร์ ถ้ามนุษย์บุกไปโลกพระจันทร์รบกวนเทพยดาก็อาจจะถูกจับหักคอ ครูสอนวิทยาศาสตร์มาหลาย 10 ปีแล้ว จึงไม่เชื่อเรื่องที่อเมริกาถ่ายทอดให้เราดู พวกผมเป็นนักเรียนเด็ก ๆ หลายคนก็จำที่ท่านพูดวันนั้นได้ดีด้วยความรักและเคารพต่อครูท่านนั้น คำสอนของครูท่านนี้มีคุณค่ามหาศาลต่อพวกผม เพราะเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่าวิทยาการและวิชาความรู้ต่าง ๆ มีการพัฒนาไปตลอดเวลา เช่นเรื่องส่งมนุษย์ไปพระจันทร์นั้นเกิดขึ้นจากนโยบายของอเมริกาที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาที่น้อยกว่า 10 ปีในสมัยนั้น ครูท่านนั้นเป็นข้าราชการซึ่งไม่เปิดช่องให้ท่านออกไปศึกษาเพิ่มเติมหลังจากที่เรียนจบมาแล้ว

เราต้องมีการพัฒนาการศึกษาตลอดเวลา การพัฒนาการศึกษาที่สำคัญที่สุดคือพัฒนา “ครู” ให้ตามการพัฒนาทางเทคโนโลยีและวิชาการต่าง ๆ ให้ทัน หรือให้ล้ำไปข้างหน้า เพราะ “ครู” เป็นผู้ชี้แนวทางการศึกษาให้แก่ลูกศิษย์ว่าควรจะศึกษาค้นคว้ากันไปในทางใด ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้ครูท่านใช้สิ่งที่ท่านเรียนมาจากสถาบันการศึกษาของท่านเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วมาพร่ำสอนแก่ลูกศิษย์ ในขณะที่ 20-30 ปีที่ผ่านมา วิทยาการต่าง ๆ พัฒนาไปจนเปลี่ยนรูปไปหมดแล้ว

เมื่อ 30 ปีก่อน ถ้าใครพูดถึงการสื่อสารหรือการชมคลิปภาพยนตร์จากอุปกรณ์แบบโทร.มือถือหรือไอแพด คนฟังจะหาว่าเราเพ้อเจ้อ แต่การสื่อสารในช่วง 23 ปีที่ผ่านมาก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากวิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์บ้าน (โทรศัพท์แบบมีสาย) โทรทัศน์ เทเลกซ์ พัฒนามาเป็นรูปแบบการสื่อสารแบบโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์ไร้สาย และกำลังพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ

ทำให้รูปแบบของวิชาการและธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เช่น วิชาการแพทย์เภสัชและวิศวกรรม ก็เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด รูปแบบธุรกิจแม้แต่การซื้อของขายของก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างตามกันไม่ทัน หลักของการทำการตลาดหรือแม้แต่การหาเสียงของนักการเมืองก็เปลี่ยนแปลงตามกันไป เราจึงต้องเรียนรู้ของใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงตัวเราเอง เพื่อจะได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีไปเรื่อย ๆ

Advertisment

“คนไทยรุ่นใหม่” จะมีที่ยืนหยัดอยู่ในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ ถ้า “คนไทยรุ่นใหม่” ของเรามี “ครูรุ่นใหม่” ที่จะช่วยชี้ทางเขาไปอยู่รอดได้ เช่น ทำอย่างไร “คนไทยรุ่นใหม่” จึงจะมีความรู้ความสามารถที่ (ก) เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ถูกรังสรรค์โดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงนี้

นั่นคือเป็น “ลูกจ้าง” ที่ระบบเศรษฐกิจใหม่ต้องการ หรือ (ข) เป็นผู้นำที่เกาะกระแสความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างธุรกิจขึ้นใหม่ ที่จะสามารถอยู่รอดและยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังพัฒนานี้ นั่นคือเป็น “เจ้าของกิจการ” หรือ “เถ้าแก่”

“ครูรุ่นใหม่” ที่ว่านี้คือเป็นครูที่หลังจากเรียนจบมาแล้วครูท่านแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาความสามารถของตนเพื่อจะได้ใช้ชี้นำลูกศิษย์ลูกหาให้บรรลุเป้าตามที่กล่าวมาแล้ว

ผมฝันว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมีระบบว่าทุก 3 ปีหรือ 5 ปีครูของเราสามารถกลับเข้าไปเรียนตามสถาบันการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อปรับพื้นฐานความรู้เพื่อตามให้ทันว่ามีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นบ้าง การเรียนนี้อยู่ในลักษณะเรียนตามความสมัครใจ ใครไม่อยากเรียนก็ไม่เป็นไร ก็สอนในสิ่งที่ตนรู้ต่อไป แต่ใครที่อยากเรียนก็สะสมคะแนนการเรียนไป

ถ้าครูท่านได้เรียนได้คะแนนสะสมครบตามเกณฑ์ที่กำหนดก็มีการปรับเงินเดือนปรับวุฒิเพื่อเป็นการจูงใจให้ “ครูรุ่นใหม่” รักการศึกษาใหม่ ๆ นอกจากนี้ ค่าเรียนค่าตำรา ฯลฯ ควรต้องให้ครูท่านใช้หักภาษีได้ ตำราและวิธีการสอนควรเน้นการค้นคว้าผ่านทาง internet เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ศึกษาสามารถค้นคว้าข้อมูลจากโลกภายนอก

เพราะเราอยากให้ครูเหล่านี้สามารถสอนลูกหลานเราไปแข่งกับโลกภายนอก ดังนั้น ครูและนักศึกษาในโลกภายนอกเขาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้อะไร ครูและนักศึกษาในไทยก็ควรต้องเข้าถึงและใช้องค์ความรู้นั้นด้วย

ส่วนสถาบันการศึกษาต่อเนื่องนี้ ก็อาจจะปล่อยให้มีการแข่งขันกันหาหลักสูตรที่ครูทั้งหลายจะสนใจ โดยให้มีการตรวจสอบคุณภาพจากภายนอก เป็นต้นว่า ถ้าวิชาวิทยาศาสตร์ก็ให้ “ลูกค้า” ของสถาบัน เช่นธุรกิจที่สนใจจะจ้างผู้เรียนจบสาขานั้น ๆ มาช่วยกำหนดว่ามีวิชาอะไรที่บรรดานายจ้างในอนาคตเหล่านี้อยากให้ลูกศิษย์ของ “ครูรุ่นใหม่” รู้อะไรบ้าง เขาจึงจะได้อยากให้ไปทำงานด้วย ครับ เป็นการผลิตคนป้อนตลาดโดยตรง