วิศวะมหิดลคิดนวัตกรรม “ทะลายปาล์ม” รักษามะเร็งลำไส้แบบมุ่งเป้า

วิศวมหิดล

นับเป็นอีกก้าวของคนไทยที่สามารถสร้างนวัตกรรมพิชิตมะเร็งเพื่อรักษามนุษยชาติ ทั้งยังตอบโจทย์แนวเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้เกิดเป็นเมดิคอลฮับในอนาคต ผลเช่นนี้ จึงทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคคาร์บอนเรืองแสง” จากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์มในการอุบัติยารักษามะเร็งลำไส้แบบมุ่งเป้า

หรือ (Synthesis of Fluorescent Carbon Dots Derived From Palm Empty Fruit Bunch For The Targeted Delivery of Anticancer)

ทั้งนี้ โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Nature.com เพื่อนำเสนอนาโนเทคโนโลยีผสานวิศวกรรมเคมีขั้นสูง และชีวพอลิเมอร์ที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 70 ปี โดยปี 2018 พบจํานวนผู้ป่วยใหม่ทั่วโลกมากถึง 18 ล้านคน

ส่วนประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ปีละ 1.4 แสนคน และเสียชีวิตปีละกว่า 8 หมื่นคน โดยมี 5 โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตสูงสุด คือ มะเร็งตับ, มะเร็งลำไส้, มะเร็งปอด, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม

การวิจัยพัฒนานวัตกรรมของคนไทยเป็นความภาคภูมิใจ และได้รับความสนใจจากนานาประเทศ โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก Nature.com ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยไทย 5 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.จุฬารัตน์ ศักดารณรงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย, ดร.สุธิดา บุญสิทธิ์, ดร.สาคร ราชหาด อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อมรรัตน์ แสงจันทร์ นักศึกษา ป.โท สาขาวิศวกรรมเคมี ม.มหิดล และ ดร.กนกวรรณ ศันสนะพงษ์ปรีชา หน่วยปฏิบัติการเวชศาสตร์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สนง.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

“รศ.ดร.จุฬารัตน์” กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยว่า วิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีหลายวิธี อาทิ การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก, การฉายรังสีบําบัด และเคมีบําบัด ซึ่งยังมีข้อด้อย เนื่องจากสารออกฤทธิ์ที่กว่าจะไปถึงเป้าหมายจะเหลือปริมาณตํ่า จึงต้องใช้ยาในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ

เราจึงมีแนวคิดในการพัฒนานาโนเทคโนโลยี สำหรับการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า โดยใช้อนุภาคนาโนเป็นวัสดุในการนำส่งยาต้านมะเร็ง (Drug Delivery) สู่เซลล์เป้าหมาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

“จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า อนุภาคคาร์บอน (Carbon Dots) มีคุณสมบัติความเข้ากันได้ทางชีวภาพ ความเป็นพิษต่ำ ทั้งยังมีความสามารถในการละลายน้ำสูง พื้นที่ผิวสูง ปรับปรุงหมู่ฟังก์ชั่นพื้นผิวได้ง่าย มีขนาดเฉลี่ยต่ำกว่า 10 นาโนเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสม สามารถเคลื่อนที่เข้าไปในเซลล์ได้ดี และมีคุณสมบัติในการเรืองแสงหลายสีตามหมู่ฟังก์ชั่นที่ดัดแปลงซึ่งจะช่วยติดตามการบำบัดรักษาได้ว่ายาอยู่ส่วนไหนของร่างกาย”

วิศวมหิดล

กล่าวกันว่า ทีมวิจัยคิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคคาร์บอนเรืองแสงจากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” ซึ่งการใช้อนุภาคคาร์บอนที่เป็นวัสดุนาโน ในการนําส่งยาเข้าสู่ร่างกาย เพื่อเข้าไปขัดขวาง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

รวมถึงจํากัดบริเวณเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อเซลล์ปกติโดยรอบได้ และลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้

“สำหรับการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนตอนนี้ทดลองพัฒนาด้วยหลากหลายกระบวนการ ในที่สุดทีมวิจัยจึงเลือกใช้กระบวนการไฮโดรเทอมัล คาร์บอไนเซชัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ มีศักยภาพในการขยายขนาดในภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และง่ายต่อการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนใหม่ ๆ จากสารตั้งต้นอื่น ๆ ในอนาคต

อาทิ เปลือกส้ม, เปลือกมะม่วง, ฟางข้าว, นม, สาหร่าย, กรดซิตริค, กรดโฟลิค, ยูเรีย, กลีเซอรอล เป็นต้น รวมทั้งยังใช้พลังงานต่ำ และไม่ต้องปรับสภาพหรืออบแห้งชีวมวล”

“รศ.ดร.จุฬารัตน์” กล่าวว่า สำหรับจุดเด่นของการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนจากทะลายปาล์ม ซึ่งเป็นวัสดุระดับนาโนจากชีวมวลเหลือจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยนำมาเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตอนุภาคคาร์บอน

ทั้งนี้ โครงสร้างหลักของทะลายปาล์มคือกลุ่มของลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulose) ประกอบด้วย เซลลูโลส (Cellulose) 35-50% เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose) 20-35% และลิกนิน (Lignin) 10-25% ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการปรับสภาพ และแยกองค์ประกอบจะเป็นอนุภาคคาร์บอนที่ดี

“ดังนั้น ถ้าจะสรุปผลวิจัยว่า อนุภาคคาร์บอน (Carbon Dots) ที่ผลิตจากกระบวนการนี้จะเป็นสารละลายสีน้ำตาล เพราะจากการศึกษาพบว่าเมื่อนำอนุภาคคาร์บอนมากระตุ้นด้วยแสง UV จะให้ผลได้ควอนตัม และคุณสมบัติในการเรืองแสงสูงสุด ในกระบวนการนำส่งยาต้านมะเร็งสู่เซลล์มะเร็งเป้าหมาย จึงทำปฏิกิริยาการเชื่อมโยงหมู่ฟังก์ชั่น COOH บนอนุภาคคาร์บอนเข้ากับหมู่ OH ของโมเลกุลพอลิเอทิลีนไกลคอลที่ขนาดโมเลกุลต่าง ๆ และ NH2 ของยาต้านมะเร็ง ได้แก่ Doxorubicin”

จากนั้นการนำส่งยาจะถูกทดสอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเปรียบเทียบกับเซลล์ปกติ ด้วยนาโนเทคโนโลยีการเชื่อมขวางอนุภาคคาร์บอนเข้ากับ “โปรตีนจำเพาะ” ซึ่งจะไปต่อเข้ากับ “ตัวรับ” หรือ “รีเซ็ปเตอร์” ของเซลล์มะเร็ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งยาเข้าสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ ส่วนในอนาคตจะนำไปสู่การทดลองกับสัตว์ และมนุษย์ต่อไป

“สำหรับประโยชน์ของนวัตกรรม ‘อนุภาคคาร์บอนเรืองแสงจากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งลำไส้แบบมุ่งเป้า’ จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอัตราผู้ป่วยสูง เช่น มะเร็งลำไส้ ลดเวลาจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม

โดยเพิ่มทางเลือกในการรักษาด้วย ‘เคมีบำบัดแบบมุ่งเป้า’ ที่สำคัญ ต้นทุนต่ำ และมีราคาถูก ไม่มีพิษต่อร่างกาย ลดความเหลื่อมล้ำช่วยให้ประชากรในประเทศสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง”

ที่สำคัญ ยังช่วยส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตจากวัตถุดิบการเกษตรที่มีในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าวัสดุนำส่งยาที่มีราคาแพง ตลอดจนโอกาสต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และส่งเสริมประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเมดิคอลฮับ อันสอดคล้องกับแนวทาง BCG ของประเทศไทย และกลุ่มภูมิภาค APEC อีกด้วย