ไม้ต่อธุรกิจ KTC “พิทยา วรปัญญาสกุล” นั่งซีอีโอหญิงคนแรก

ระเฑียร ศรีมงคล-พิทยา วรปัญญาสกุล
ระเฑียร ศรีมงคล-พิทยา วรปัญญาสกุล

ภายหลังจากเคทีซี หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง “พิทยา วรปัญญาสกุล” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน “ระเฑียร ศรีมงคล” ที่จะครบกำหนดการขยายเวลาเกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า “พิทยา” ถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของเคทีซี ทั้งยังเป็นผู้คร่ำหวอด มีประสบการณ์ด้านการตลาดบัตรเครดิตมาเกือบ 30 ปี โดยเข้าร่วมงานดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงาน Credit Card เมื่อปี 2540 ก่อนมารับผิดชอบเพิ่มในสายงานธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร (Chief Marketing & Communication Officer) ในปัจจุบัน

ระเฑียร ศรีมงคล
ระเฑียร ศรีมงคล

“ระเฑียร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี กล่าวในงาน The story continues the next journey begins ณ CVK Park Bosphorus Hotel สาธารณรัฐทูร์เคียว่า เหตุผลที่คณะกรรมการบริษัทเลือกคุณพิทยา เพราะเธอมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำครบถ้วน โดยเคทีซียึดระบบปฏิบัติการความเป็นผู้นำ (leadership operation system) เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่คณะกรรมการบริษัทตัดสินใจในการเลือกสรรผู้บริหารระดับสูงอย่างคุณพิทยาขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่

“เคทีซีเป็นองค์กรที่มี agility สูง คนของเราไม่ว่าจะต้องไปทำอะไร สามารถจะพัฒนาตนเองได้ ฉะนั้น hard skill อาจจะไม่ใช่หัวใจสำคัญที่สุด เพราะสิ่งสำคัญของการที่จะขึ้นเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะต้องเป็นคนที่มี leadership operation system หรือสามารถสร้าง leadership OS ขึ้นมาได้”

ถามว่า leadership OS คืออะไร ? และ “คุณพิทยา” เหมาะกับ leadership OS ไหม ?

Advertisment

“ผมขอตอบว่าหลัก ๆ มีแค่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ต้องสร้าง trust หรือศรัทธา ให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร, ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน สอง ต้องมี clarity หรือความชัดเจน ในการดำเนินการ หรือทำอะไรก็ตาม และเมื่อสองสิ่งนี้ครบแล้ว ทำอะไรจะต้อง drive ให้แน่ใจว่ามี momentum ของการทำต่อเนื่องไปได้”

พิทยา วรปัญญาสกุล
พิทยา วรปัญญาสกุล

“ระเฑียร” กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะสร้าง trust ในองค์กรนั้นต้อง care หรือห่วงใยผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา พาร์ตเนอร์ ลูกค้า ขณะเดียวกัน ก็ต้อง provide psychological safety คือความอบอุ่นใจ ความมั่นคงทางจิตใจว่าลูกน้องต้องกล้าที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ ไม่ใช่ลูกน้องไม่กล้าพูดอะไร เพราะนายตาเขียว นายไม่ให้ทำอะไร และต้องเป็นคนที่มี reliability คือเป็นคนที่มีความชัดเจน พูดแล้วไม่กลับไปกลับมา พูดอะไรไปแล้ว ต้องชัดเจน และสุดท้ายต้องเป็นคน fair ด้วย

“ในสังคมของเคทีซี เราไม่ได้ treat ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เรา fair เราไม่ได้บอกว่าคนที่ทำกับคนที่ไม่ทำจะได้เท่ากันนั่นไม่ใช่ แต่เรา fair คือคนที่ทำต้องได้มาก คนที่ไม่ทำต้องได้น้อย คนที่ทำดีต้องได้ดี คนที่ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดี อันนั้นคือคุณลักษณะของผู้นำที่จะสร้าง trust ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา เราเชื่อว่าคุณพิทยามีข้อนี้ครบ”

ส่วนทางด้าน clarity นั้น เป็นเรื่องของ direction ต้องกำหนดว่าเราจะไปในเส้นทางไหน ? ทิศทางไหน ? และต้องบอกว่าองค์กรเรามีวัตถุประสงค์อะไร purpose ขององค์กรเรา องค์กรเราเกิดมาเพื่ออะไร ทำไมเคทีซีจึงจำเป็นต้องดำรงอยู่ คนเป็นผู้นำต้องรู้ว่าทำไมต้องเป็นเคทีซี ถ้าเราไม่อยู่แล้ว อุตสาหกรรมทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร เช่น เราจะไม่ทำในสิ่งที่ผิด เราจะไม่ทำอะไรที่สร้างปัญหาให้สังคม อันนี้เป็นเป้าหมายของเคทีซี

Advertisment

นอกจากนั้น “ระเฑียร” ยังกล่าวว่า ที่สำคัญคนของเราต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าเรามี psychological safety แล้วเราจะพูดอะไรก็ได้ พนักงานของเรากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าที่จะเห็นต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองคิด ในสิ่งที่ตัวเองพูดด้วย สุดท้ายต้องสร้าง value ที่ดีให้สังคมและองค์กร หมายความว่าสร้าง culture สองคำนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นมาเป็นตัวหนังสือเฉย ๆ แต่คือดีเอ็นเอ คือถ้าใครเดินมาแล้วคุยด้วย จะรู้เลยว่านี่คือคนของเคทีซี

“ข้อสุดท้ายอาจจะยากหน่อยคือ momentum การทำสิ่งที่เราทำมาแล้วต่อเนื่องต่อไป ส่งต่อไปให้ได้ในอนาคต ฉะนั้น การที่จะมี momentum จะต้องเป็นคนที่มี motivation คุณพิทยาเป็นคนที่สามารถ drive ลูกน้องได้ ดังนั้น ถ้าดูลูกน้องคุณพิทยาทุกคน จะเห็นเลยว่าทุกคนนั้นถูกคุณพิทยากระตุ้นบ่อยมาก การกระตุ้นในที่นี้เป็นแรงจูงใจภายในไม่ใช่แรงจูงใจภายนอก

ดังนั้น ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนรู้สึกอยากทำงาน อยากจะบรรลุเป้าหมาย ต่อมาคือต้องมีความมั่นใจ ต้องมีความมั่นใจในผู้ใต้บังคับบัญชา และต้องมีความมั่นใจในงานที่ตัวเองจะทำ อันนี้เป็น hard skills ที่ค่อย ๆ ฝึกได้ และผมเชื่อว่าคนที่รู้จักคุณพิทยาจะรู้ว่าเธอเป็นคนที่มีความมั่นใจในระดับหนึ่งกับการทำธุรกิจ”

และจะต้องเป็นคน empowerment คือปกติเรารู้อยู่แล้วว่าเมื่อถึงคราวที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ วันหนึ่งก็ถึงคราวต้องลง เป็นเรื่องของวัฏจักร ทุกอย่างเป็นอนิจจัง เราจะต้องแน่ใจว่าเรามีผู้ใต้บังคับบัญชา หรือมีคนที่เราจะให้ขึ้นมาต่อจากเราในอนาคต การที่เรา empowerment คือการที่เราให้เขาเติบโต กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะดำเนินการทำงานอะไรก็ตาม ซึ่งองค์กรของเราเป็นองค์กรที่ empowerment การเปลี่ยนผ่านผู้บริหารทุกตำแหน่ง จะมีการทำลักษณะนี้ คือมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่พร้อมสานต่อ

อีกเรื่องคือ connection การที่เราจะไปต่อได้ ต้องมี connection ที่ดี การที่เราพยายามดูแล stakeholders ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือผู้ถือบัตรของเรา ลูกค้าของเรา พาร์ตเนอร์ของเรา แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็ทราบว่าเราดูแล เรา connect ทุกอย่างต่อเนื่องกันเสมอมา นี่คือจุดสำคัญอีกประการที่ต้องทำ

“ด้วยทุกข้อของ momentum ผมเชื่อว่าคุณพิทยาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปได้ ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลให้เราเชื่อว่าคุณพิทยามีคุณสมบัติครบ ทั้งเรื่องของ trust, clarity และสามารถก่อให้เกิด momentum ได้ อันนี้คือจุดที่ผมคิดว่าสำคัญ และเป็นจุดที่ผมและทุกคนเลือกคุณพิทยาขึ้นมาเป็นซีอีโอคนใหม่ของเรา

สำหรับพวกเราอาจคิดว่าก็แค่ soft skills อย่างเดียว หรือพวกเรารู้จักคุณพิทยาในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด ปีที่แล้วคุณพิทยาขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร เราคงเห็นคุณพิทยาในสองบทบาทนี้ แต่จริง ๆ แล้วคุณพิทยาเป็นคนที่มีความเข้าใจ และรู้เรื่องกลยุทธ์ขององค์กรค่อนข้างมาก คุณพิทยาเป็นคนสอนเรื่องกลยุทธ์ให้แก่พนักงานเคทีซีด้วย”

ช่วงสุดท้าย “ระเฑียร” กล่าวทิ้งท้ายว่า…ผมค่อนข้างสบายใจว่าเธอได้ hard skills จริง ๆ หน้าที่ของซีอีโอ
นอกจากจะต้องมี leadership ที่ดี และสร้าง leadership OS ในองค์กรแล้ว จำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทด้วยว่าจะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งเป็นบทบาทของคุณพิทยาต่อไป

“ปีหน้าผมไม่ได้เป็นคนทำกลยุทธ์แล้ว ผมจึงขอส่งมอบไม้ต่อให้คุณพิทยาด้วยครับ”