เป้าหมาย ‘ยูนิโคล่’ ปี’67 สร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่า

ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างขยะจากเสื้อผ้าจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับ “ยูนิโคล่” (UNIQLO) กลับใช้กลยุทธ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าที่จะสร้างความแตกต่างจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น ด้วยการออกแบบเสื้อผ้า LifeWear ที่มีอายุการใช้งานที่ยืนยาว โดยชูแคมเปญ RE.UNIQLO มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อผลักดันการใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดอายุการใช้งาน รวมถึงการเปิดตัวบริการซ่อมเสื้อผ้าในร้านค้าที่ RE.UNIQLO STUDIO

“เขมจิรา เทศประทีป” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวถึงแผนและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของยูนิโคล่ ประเทศไทย ในปี 2567 ว่าปี 2567 ยูนิโคล่ ประเทศไทย มุ่งเน้นการสร้างค่านิยมในหมู่ผู้บริโภค ให้นำเสื้อผ้าเก่ากลับมาใช้ใหม่มากขึ้น เน้นการใช้ซ้ำ

เขมจิรา เทศประทีป
เขมจิรา เทศประทีป

โดยบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้วสภาพดีให้กับผู้ที่ขาดแคลน ภายใต้กรอบแคมเปญ RE.UNIQLO ที่บริษัทแม่ “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง กรุ๊ป” สร้างสรรค์ขึ้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations) โดยจะเน้น 3 เป้าหมายดังต่อไปนี้

เป้าหมายที่ 3-สร้างหลักประกันว่า คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

เป้าหมายที่ 14-อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Advertisment

เป้าหมายที่ 15-ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน และฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

RE.UNIQLO คือพันธกิจในการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2558 โดยตั้งอยู่บนปณิธาน 4 ข้อ ได้แก่ Reuse-การใช้ซ้ำ โดยบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้วสภาพดีให้กับผู้ที่ขาดแคลน, Recycle-แปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง หรือวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่, Repair-การซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวโปรดให้กลับมาใช้งานได้อย่างยาวนาน, Remake-การแปลงโฉม และตกแต่งลูกเล่นบนเสื้อผ้าอย่างมีสไตล์

ทั้งนี้ ภายใต้เป้าหมายจะเน้นการใช้ซ้ำ โดยบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้วสภาพดีให้กับผู้ที่ขาดแคลน ยูนิโคล่ ประเทศไทยริเริ่มทำโครงการ RE.UNIQLO 50,000 Warm Clothes เมื่อปี 2566 ตั้งเป้าบริจาคเสื้อกันหนาว 50,000 ตัวภายในต้นปี 2567 เพื่อช่วยผู้ประสบภัยหนาว

Advertisment

โดยเชิญชวนให้คนไทยนำเสื้อหนาว หรือเสื้อแขนยาวมาบริจาคให้ผู้ประสบภัยหนาว เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิบ้านร่มไทร และ UNHCR ประเทศไทย

“เรารวบรวมเสื้อผ้ากันหนาวทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งภายในองค์กรเป็นการรวบรวมจากพนักงานยูนิโคล่ ทั้งที่ร้านสาขาและสำนักงานใหญ่ ส่วนภายนอกองค์กร ได้แก่ การตั้งกล่องบริจาคจากลูกค้าที่ร้านยูนิโคล่ทุกสาขา และการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน ที่อยู่อาศัย ในการตั้งกล่องบริจาคเพิ่มเติมอีกด้วย

จนยอดบริจาคนับถึงปลายเดือนธันวาคม 2566 มีผู้บริจาคเสื้อผ้าทั้งหมดกว่า 94,155 ตัว ซึ่งสูงกว่าการบริจาคเสื้อผ้าในปี 2565 กว่า 4 เท่า และในจำนวนนี้ยูนิโคล่ได้คัดแยกเสื้อกันหนาว เสื้อแขนยาว และเสื้อผ้าประเภทอื่น ๆ ที่อยู่ในสภาพดี ส่งมอบต่อให้ผู้ที่ขาดแคลนแล้วกว่า 24,000 ชิ้น”

นอกจากนั้น ยูนิโคล่ยังริเริ่มจัดกิจกรรม “ส่งต่อความอบอุ่นด้วยพลังของเสื้อผ้า” (Passing Warmth Through THE POWER OF CLOTHING) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ร่วมกับ 2 โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนทับทอง เขตจตุจักร และโรงเรียนอนุบาลกลมเกลียว เขตลาดพร้าว เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ความขาดแคลนเสื้อผ้ากันหนาวในประเทศไทย รวมถึงพลังแห่งการแบ่งปัน โดยกิจกรรมนี้ทำให้สามารถรวบรวมเสื้อกันหนาวเด็กได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“เขมจิรา” กล่าวด้วยว่า ยูนิโคล่ส่งมอบเสื้อผ้าให้ผู้ที่ขาดแคลน ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา ผ่านการจัดตั้งเป็นมุมสินค้าบริจาคกึ่งถาวรภายในศูนย์ของมูลนิธิที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาจะเป็นผู้ประสานกับผู้ที่ขาดแคลนเสื้อผ้าให้สามารถเข้ามาหยิบเลือกที่ศูนย์ได้โดยตรง และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ยูนิโคล่และมูลนิธิกระจกเงามีการจัดกิจกรรม “งานวันเด็กหลังเขา” เพื่อมอบความสุขและความอบอุ่นให้เด็ก ๆ ในพื้นที่

“ทั้งยังส่งมอบเสื้อผ้าผ่านศูนย์ป่วยให้ยืมของมูลนิธิกระจกเงาในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายช่วยกระจายเสื้อผ้าที่มีการนำไปมอบให้ผู้ขาดแคลนในจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ สำหรับมูลนิธิบ้านร่มไทรทางมูลนิธิก็ได้ส่งมอบเสื้อผ้าบริจาคจากยูนิโคล่ให้แก่หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลบนภูเขา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ไปแล้วทั้งหมด 5 หมู่บ้าน”

“เขมจิรา” กล่าวถึงบริการใหม่ RE.UNIQLO STUDIO ที่เปิดตัวสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อ 28 กันยายน 2566 ที่ CentralWorld ก็ได้รับการตอบรับที่ดี และ RE.UNIQLO STUDIO ไม่ได้มีแค่เพียงประเทศไทย แต่ยังมีในสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน, อิตาลี, เดนมาร์ก, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

“บริการซ่อมแซมเสื้อผ้าของ UNIQLO เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงสิ่งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องการ ผนึกกับความสามารถในการซ่อมแซม อันถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน จนกลายเป็นการก้าวไปอีกขั้นที่ดีของแบรนด์ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และให้บริการด้านไลฟ์สไตล์ที่มอบประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ดี และความสะดวกสบายที่มากขึ้นสำหรับผู้บริโภค”

ยูนิโคล่จะเดินหน้าทำภารกิจด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยดียิ่งขึ้น