“อินทัช” ปลูกฝังรักการอ่าน ชวนเด็กไทยสร้างงานศิลป์ ปีที่ 13

จากข้อมูลผลสำรวจการอ่านของประชากรไทยปี 2561 ที่ผ่านมาของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสืออยู่ที่เฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2558 ที่อยู่เพียงแค่ 66 นาทีต่อวัน

สำหรับหนังสือเล่มยังคงเป็นสื่อที่คนไทยนิยมอ่านมากที่สุด ตามมาด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับการอ่าน เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาความรู้ ความคิค ช่วยเปิดโลกทัศน์ ทั้งยังกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้

“บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “อินทัช” เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนไทยเห็นคุณค่าการอ่านผ่าน “โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา

“เอนก พนาอภิชน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ได้กระตุ้นให้เยาวชนไทยรักการอ่านหนังสือ ร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย ด้วยการใช้จินตนาการถ่ายทอดความคิดจากเรื่องที่อ่านแล้วสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะตามจินตนาการของตนเอง

“ที่ผ่านมามีเยาวชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการกับเรากว่า 16,000 คน ได้อ่านวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งพระราชนิพนธ์, วรรณกรรมพื้นบ้าน, วรรณกรรมในชั้นเรียน, วรรณกรรมร่วมสมัย รวมถึงวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากกว่า 2,000 เรื่อง และถูกสร้างสรรค์ ร้อยเรียง ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีสีสัน สะท้อนถึงจินตนาการของผู้รังสรรค์ผลงานในมิติที่หลากหลาย และในแต่ละปีจะมีหัวข้อที่เป็นโจทย์ในการวาดภาพแตกต่างกันไป”

อย่างโครงการในปีที่ 12 ที่ผ่านมา โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช จัดการประกวดในหัวข้อ “ความสุข ความงดงามในความเป็นไทย”

เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นไทยในมิติที่หลากหลาย และส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยผลงานของผู้ชนะเลิศจากการประกวดที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจาก “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ได้แก่ รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผลงาน “อีสาน” ของ “ธนาธิป นาฉลอง” จากวรรณกรรมเรื่อง “อีสานบ้านเฮา” ซึ่งถ่ายทอดกลิ่นอายของความเป็นชนบทบนผืนแผ่นดินอีสานในแง่มุมที่หลากหลาย

 

และรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา ผลงาน “สุขสุดของปวงไทย” ของ “พิสชา พ่วงลาภ” จากวรรณกรรมเรื่อง “ความสุข ความทรงจำในรัชกาลที่ ๙” ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทย

“ธนาธิป” กล่าวว่า การเลือกเอาวรรณกรรมอีสานบ้านเฮา เพราะต้องการให้ทุกคนเห็นความเป็นอีสานที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่ภาพจากภายนอกที่พูดกัน ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำสงคราม, ป่าคา และนาเกลือ ตลอดจนโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับราษฎร

“ผมเลือกใช้เทคนิคสีผสมมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาฝีมือด้วยการสร้างสรรค์งานผ่านเทคนิควิธีการใหม่ ๆ เพื่อถ่ายทอดผลงานให้ครอบคลุมเนื้อหาของวรรณกรรมให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญ ผมอยากให้คนที่ดูภาพของผมแล้วอยากอ่านวรรณกรรมเรื่องอีสานบ้านเฮา”
ขณะที่ “พิสชา” กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานสุขสุดของปวงไทย เกิดจากการที่ได้เห็นความงดงามของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นต้นแบบของความสุขของปวงชนชาวไทยด้วยการนำเอาพระฉายาลักษณ์ของทั้ง 2 พระองค์ที่ถ่ายโดยชาวอเมริกันมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะในเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้และถมสี ซึ่งใช้ระยะเวลาทำกว่า 1 เดือน จนออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้

“สิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานคือ การเป็นตัวตนของตัวเอง ใช้เทคนิคที่ตนเองถนัด ทำแล้วมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงรางวัล แต่ทำผลงานให้สุดความสามารถ แล้วจะได้ผลงานที่ทรงคุณค่า น่าสนใจ เพราะผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขจากการชมผลงานของเรา”

ถึงตรงนี้ “เอนก” บอกว่า ในปี 2562 นี้โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช จัดขึ้นในหัวข้อ “บวร” ความสุข ความผูกพันของสังคมไทย เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ถึงความเชื่อมโยง ความผูกพันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของสังคมไทย โดยในปีนี้ได้แนะนำตัวอย่างวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อประกวดไว้ในเว็บไซต์อินทัช เพื่อเป็นไอเดียให้น้อง ๆ ได้เลือกอ่าน และน้อง ๆ ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ไม่จำกัดจำนวนชิ้นอีกด้วย

“ผมอยากเชิญชวนน้อง ๆ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงอุดมศึกษาที่มีความสนใจ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในปีนี้ เพราะเราเชื่อว่าการอ่าน นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลแล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิเพื่อนำไปสู่จินตนาการที่หลากหลายในอีกทางหนึ่งด้วย”