จัดระเบียบแรงงานไทย แก้นายหน้าอัพค่าหัวเหยียบแสน

ประเด็นการส่งออกแรงงานไทยในขณะนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงการเตรียมรวบหน้าที่ในการจัดส่งแรงงานที่ได้รับความนิยมใน 3 ประเทศ คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ไว้เพียงที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทั้งที่ควรจะเพิ่มสัดส่วนการจัดหาแรงงานให้กับบริษัทจัดหางานที่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน

อีกทั้งปัจจุบันแม้ว่าในแต่ละปีจะมีการตั้งเป้าหมายว่า กระทรวงแรงงานต้องการส่งแรงงานไทยไปทำงานให้ได้ถึง 100,000 คนต่อปี แต่ยังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้

ในประเด็นนี้ “ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้างผู้ใช้แรงงานว่า การใช้นายหน้า หรือบริษัทจัดหางานนั้น มีค่าใช้จ่ายที่ “สูงมาก” ยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการขออนุญาตไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยบริษัทนายหน้าอยู่ที่ 80,000-90,000 บาทต่อหัว ในขณะที่หากดำเนินการโดยกรมการจัดหางาน จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 40,000 บาทต่อหัวเท่านั้น

ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นอกเหนือจากนี้ คือ ประเทศที่ต้องการใช้แรงงานติดต่อเข้ามาว่าต้องการให้ “รัฐ” เป็นผู้จัดหาเท่านั้น เพื่่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายอย่างกรณีผีน้อยในประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังจัดเตรียมแผนเพื่อแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 คลี่คลายแล้ว โดยจะใช้ข้อมูลจำนวนแรงงานผิดกฎหมายที่มี ให้เข้ามาในระบบและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มเติมในระบบมากขึ้น

“แรงงานไทยในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่เมื่อไปใช้บริการผ่านเอเยนซี่ที่ไม่รับผิดชอบแล้วยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเกิดปัญหา ทำให้แรงงานเหล่านั้นไม่มีทางเลือกจึงต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายไปโดยปริยายจนเป็นเหตุผลที่ว่า ก.แรงงาน ต้องเข้ามาดูแลจัดระเบียบการส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศใหม่ไม่ได้ต้องการรวบการจัดหาแรงงานมาไว้ทั้งหมด อยากให้มองว่าภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับแรงงานไทยที่สนใจไปทำงานในต่างประเทศ” ดร.ดวงฤทธิ์กล่าว

ในขณะที่แวดวงบริษัทจัดหาแรงงานในต่างประเทศต่างสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในช่วงที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการที่จัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศได้ร่วมหารือกับกระทรวงแรงงานว่า ต้องการให้กระทรวงแรงงานพิจารณา “เพิ่มโควตา” ส่งออกแรงงานให้กับบริษัทที่ได้รับการอนุญาตจากกรมการจัดหางานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีศักยภาพในการดูแลแรงงาน

อีกทั้งบางรายมีการจัดตั้งสาขาในประเทศที่ส่งแรงงานเข้าไปทำงานทำให้เมื่อเกิดปัญหาสามารถเข้าไปช่วยเหลือแรงงานได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย อีกทั้้งคาดว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แรงงานจะเป็นที่ต้องการของตลาด ฉะนั้นต้องเตรียมแรงงานไทยให้มีความพร้อม โดยเฉพาะทักษะต่าง ๆตามที่นายจ้างต้องการ

เพราะศักยภาพแรงงานไทยมีมาก หากมีการบริหารจัดการที่ดีแรงงานไทยจะมีโอกาสไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับความนิยมจากแรงงานไทย คือ ประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น เพราะได้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานในประเทศตั้งแต่ระดับ 80,000 บาท/เดือนขึ้นไป

นอกจากการจัดสรรโควตาแล้ว ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้แรงงานไทยไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้ เนื่องจาก 1) ประกาศปิดประเทศ 2) ไม่มีที่พักสำหรับการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วัน 3) ไม่มีเงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงกักตัว และ 4) เป็นแรงงานผิดกฎหมาย

หลายบริษัทจึงมีการมอนิเตอร์แรงงานไทยที่เตรียมไปทำงานในต่างประเทศ ภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยกตัวอย่าง แรงงานไทยต้องการเดินทางไปประเทศโปรตุเกส เมื่อเร็ว ๆ นี้ประมาณ 23 คน ต้องเดินทางกลับไทยทันที เพราะการประกาศปิดประเทศ

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยมีการเข้าไปช่วยเหลือค่อนข้างช้า แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่จัดส่งไปโดยกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานก็ตาม และจนถึงขณะนี้ภาครัฐยังไม่ได้มีแผนรับมือเพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านั้น บริษัทจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศได้สะท้อนถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก หากภาครัฐไม่มีนโยบาย ปรับสัดส่วนโควตาของบริษัทเอกชนมากขึ้นนั้น การดำเนินการในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2562 ในแง่ของการมี “อำนาจเหนือตลาด” และยังถือเป็นการ “กีดกันทางการค้า” อีกด้วย

ที่สำคัญ รายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวยังระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด หมายความว่า ผู้ประกอบการธุรกิจรายหนึ่ง หรือหลายรายในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดและยอดเงินขาย เกินเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยให้นำปัจจัยสภาพการแข่งขันของตลาดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างแล้วแต่กรณี มาประกอบการพิจารณา

ปัจจุบันภาพรวมการส่งออกแรงงานไทยในต่างประเทศ แม้สัดส่วนจะเป็นภาคเอกชนมากกว่าการจัดส่งโดยรัฐก็ตาม ยกเว้นใน 3 ประเทศที่สำคัญ คือ ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่นโดยเฉพาะประเทศไต้หวันที่มีแรงงานไทยไปทำงานเป็นจำนวนมาก และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น กระทรวงแรงงานควรเพิ่มโควตาให้กับภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมจัดส่งแรงงานไทยด้วย ซึ่งจะช่วยดึงเม็ดเงินกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะในแต่ละปีตามฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย มีเม็ดเงินราว 1-2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ตามการรายงานของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน รายงานจำนวนแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่จำแนกตามหมวดสาขาวิชาชีพ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีจำนวนรวม 3,530 คน จาก 9 สาขาวิชาชีพ คือ ข้าราชการระดับอาวุโส ผู้บัญญัติกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เสมียนเจ้าหน้าที่ พนักงานในร้านค้าและตลาด ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประมง ประมาณการรายได้ที่คนทำงานในต่างประเทศส่งกลับโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมกราคมอยู่ที่ 12,270 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 11,995 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนที่ดำเนินการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศนั้นได้เข้าร่วมหารือกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า ต้องการให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันส่งออกแรงงาน ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 100,000 คนต่อปี รวมถึงประเด็นทางกฎหมายที่ต้องการให้ “ปลดล็อก” การเฉพาะเจาะจงในการส่งแรงงานไปในบางประเทศที่ต้องใช้รูปแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ยังต้องการความคล่องตัวในการยื่นรายละเอียดการขออนุญาตส่งออกแรงงานให้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อลงโฆษณาจัดหางานให้ทันต่อความต้องการแรงงานที่จะเกิดขึ้นอย่างมาก