“ทักษะแห่งอนาคต” ชูถิ่นโลกภิวัตน์สร้างคนดิจิทัล

โลกดิจิทัล

เพื่อพาองค์กรไทยอยู่รอดในยุคนิวนอร์มอล บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาระบบการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต พร้อมส่งเสริมให้ใช้เป็นมาตรฐานกับองค์กรธุรกิจในการประเมินระดับสมรรถนะของบุคลากรทุกระดับ

นอกจากนี้ ยังจัดงานสัมมนา “ทักษะแห่งอนาคต” เพื่อนำพาองค์กรอยู่รอด รับคนใหม่ ปรับคนเก่าให้ตรงกับมาตรฐานทักษะในอนาคต โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคล และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานระดับประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ได้แก่ “บุญเลิศ นราไท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) “รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล” รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “ถาวร ชลัษเฐียร” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ และ “ทัศไนย เหมือนเสน” ผู้ก่อตั้ง JOBBKK.COM และอุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย เป็นต้น

รีสกิล-พัฒนาหลักสูตรต่อเนื่อง

“บุญเลิศ” กล่าวในเบื้องต้นว่าการเกิดขึ้นของโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งยังเป็นตัวเร่งให้ทุกธุรกิจปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับทักษะของคนทำงานที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร ซึ่งหากมองผลการศึกษาของ World Economic Forum 2020 ที่ระบุว่าภายในปี 2025 อาชีพของคนทำงานทั่วโลก 50% จำเป็นต้องเร่งรีสกิล (reskill) และอีกกว่า 40% ของคนทำงานจะต้อง reskill ตนเองทุก ๆ 6 เดือน ถึงจะตอบโจทย์การทำงานยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

บุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน)
บุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน)

“จึงทำให้เออาร์ไอพีตระหนักถึงความสำคัญของการ reskill เพื่อการทำงานในอนาคต ขณะเดียวกัน ต้องการหาคำตอบว่าสกิลไหนที่ตรงต่อความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ในไทย ด้วยการริเริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับทักษะแห่งอนาคตและร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยพัฒนา และสาธิตการศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อวิจัย และพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตแบบครบวงจร”

Advertisment

“โดยเริ่มตั้งแต่การสังเคราะห์ สมรรถนะ และคุณลักษณะเชิงพฤติกรรม (expected behaviors) และพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต (future competency assessment system) จนทำให้ได้ 10 สมรรถนะหลักจำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตที่ทั่วโลกกำลังสนใจ”

“ด้วยการต่อยอดพัฒนาหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรจากผลการประเมินสมรรถนะในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ และเรียนรู้บนระบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม WISIMO ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กร”

“โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานต่อไปในอนาคต กล่าวกันว่า WISIMO เป็นระบบการฝึกอบรมออนไลน์ (online education) สำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนาทักษะ และศักยภาพของบุคลากร”

“ทั้งยังเป็นโซลูชั่นที่ประกอบด้วยแพลตฟอร์มการฝึกอบรมออนไลน์ ผ่านคลาวด์เทคโนโลยี โดยรวมเอาระบบการประเมินผล ความสามารถการสร้างเส้นทางการเรียนตามสมรรถนะของบุคลากรตามตำแหน่งที่องค์กรต้องการ ความสามารถในการเชื่อมต่อกับระบบบริหารงานบุคคลและสื่อการสอน และคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ โดยมีรูปแบบการนำเสนอแบบผสมผสานของสื่อประเภทต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ”

Advertisment

10 สมรรถนะเพื่องานในอนาคต

“รศ.ดร.สมชาย” กล่าวว่าในฐานะสถาบันทางวิชาการสามารถใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการทำความเข้าใจเชิงรุก และรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และส่งต่อให้ภาคเอกชนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เราจึงร่วมมือกับเออาร์ไอพีเพื่อศึกษาวิเคราะห์สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตที่ทั่วโลกกำลังสนใจกว่า 50 สมรรถนะ ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกัน

รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โดยกระบวนการศึกษาวิจัยมีการจำแนกสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานโลกอนาคต ในบริบทขององค์กรธุรกิจไทยออกมาเป็น 3 กลุ่มสมรรถนะสำคัญ จากนั้นจึงทำศึกษาจนได้ 10 สมรรถนะหลักที่เหมาะกับบริบทไทย ได้แก่

กลุ่มที่ 1 สมรรถนะเพื่อการทำงานแบบมืออาชีพ (working professionally) ประกอบด้วย ความสามารถในการจัดการปัญหาบนฐานการคิด (thinking-based solution), ความตั้งใจใฝ่รู้เพื่อการพัฒนางาน (willingness to learn), ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (digital literacy) และความฉลาดรู้ทางข้อมูล (information literacy)

กลุ่มที่ 2 สมรรถนะเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น (working with others), ความสามารถในการมีอิทธิพลทางความคิด (influencing and leading to goals) และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างชาญฉลาด (interpersonal savvy)

กลุ่มที่ 3 สมรรถนะเพื่อการทำงานสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายองค์กร (working to achieve goals), ความสามารถในการระบุโอกาสที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร (opportunity identification for valuing ideas), ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน (dealing with ambiguity and risk), ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (behavioral flexibility & adaptability) และความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility)

“เมื่อเราได้สมรรถนะหลักที่เป็นแนวทางเพื่อพัฒนาคน จึงออกแบบโปรแกรมต้นแบบ เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะตามสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต จนได้กรอบเนื้อหาเพื่อการพัฒนาสมรรถนะพื้นฐาน จำนวน 31 วิชา ที่ครอบคลุมทุกทักษะใน 10 สมรรถนะหลักที่จำเป็น เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำหรับองค์กรธุรกิจไทยต่อไป”

ชูถิ่นโลกภิวัตน์หลังโควิด

“ถาวร” กล่าวว่าโลกหลังโควิด-19 กระทบต่อซัพพลายเชนในภาคอุตสาหกรรมที่สั้นลง เพราะการขาดวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นจากต่างประเทศ เพราะมีการจำกัดการเดินทาง รวมถึงความท้าทายด้านโลจิสติกส์ที่มีการควบคุมที่เข้มงวดรัดกุม ดังนั้น สิ่งที่เราต้องปรับตัวคือต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้น จากที่เคยเป็น globalization (โลกาภิวัตน์) ต้องเปลี่ยนมาเป็น glocalization (ถิ่นโลกภิวัตน์) พัฒนาการใช้ทักษะและวัตถุดิบที่มีในประเทศ

ถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์
ถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์

สำหรับทักษะ หรือคุณสมบัติที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมควรต้องมีในยุค new normal มี 6 ข้อ คือ 1) เรียนรู้ตลอดชีวิต 2) บริหารการเปลี่ยนแปลง 3) ความคิดเชิงวิพากษ์ 4) ทักษะด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 5) ทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 6) ทักษะความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกัน ทั้งนี้ ทักษะที่คนไทยทุกคนต้องมีคือการเรียนรู้ในทุก ๆ เรื่อง ถึงแม้จะไม่รู้ทุกอย่างในเรื่องนั้น ๆ แต่ควรรอบรู้ในหลายเรื่อง

“ส่วนการพัฒนาในระดับประเทศ เราอาจไม่ต้องพยายามเป็นที่ 1 ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นที่ 3-4 ในทุก ๆ เรื่องถึงจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนา และอยู่รอด เพราะเรามีวัตถุดิบที่ใช้ได้พอเพียงในประเทศของเราในยามที่ไม่สามารถนำเข้ามาจากต่างประเทศไทย เพราะโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้ industrial internet of things (IIOT) เพื่อช่วยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 80% ถึงแม้พนักงานจะลดลง 57% ก็ตาม”

“แต่กระนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล เพราะปัจจุบัน Data is the new oil. หมายถึงข้อมูลที่เป็นทรัพยากรมูลค่ามหาศาล และราคาของข้อมูลกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับเมื่อ 40 ปีที่แล้วที่ราคาน้ำมันโลกเปลี่ยนแปลงพุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ประเทศที่ส่งออกน้ำมันร่ำรวยมหาศาล ถ้าประเทศไทยสามารถรวบรวมข้อมูลในหลากหลายมิติที่กำลังกระจัดกระจายตามกระทรวงต่าง ๆ ได้ แล้วนำมาใช้พัฒนาประเทศ คิดว่าประเทศจะไปไกลได้”

ทักษะอนาคตสู้ AI

“ทัศไนย” กล่าวว่า JOBBKK.COM มีส่วนร่วมในวิจัย และพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตแบบครบวงจร เพราะเรามีแพลตฟอร์มที่สามารถใช้เป็นช่องทางเข้าถึงกลุ่มบุคลากรในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้สามารถเข้ามาทำแบบทดสอบในระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต

ทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้ง JOBBKK.COM และอุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย
ทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้ง JOBBKK.COM และอุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย

“สิ่งที่เห็นชัดบนแพลตฟอร์มของเราคือช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่นักศึกษาจบใหม่หลายคนพยายามดิ้นรนหางาน จนเห็นได้ว่าผู้สมัครงานบน JOBBKK.COM มีการปรับฐานข้อมูลตนเอง แต่พวกเขาก็เผชิญความยากลำบากในการได้งาน เพราะหลายองค์กรพยายามลดต้นทุนในการจัดจ้างคน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายองค์กรที่มองหาคนมาเติมเต็ม แต่องค์กรเหล่านั้นจะต้องคัดเลือกคนแบบที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ได้คนที่เหมาะกับงานจริง ๆ”

“องค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้ความสนใจกับคนที่มีทักษะ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ทั้งยังต้องการคนที่มีความคิดด้าน hard skills (ทักษะวิชาการ หรือความรู้ที่เราใช้ในการทำงาน) และ soft skills (ทักษะวิชาชีวิต หรือทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม) เมื่อดูรายละเอียดจะพบว่า hard skill ประกอบด้วย digital literacy, data literacy และ data marketing”

“ขณะที่ soft skill จะประกอบด้วย communication ทักษะในการสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น, critical thinking ทักษะในการคิดวิเคราะห์ และทักษะในการแก้ปัญหา, collaboration ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และ creativity ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเอามาใช้ในการทำงาน และการคิดแก้ปัญหา โดยนายจ้างกว่า 92% ให้ความสำคัญกับ soft skills มาก และกว่า 80% บอกว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร”

จึงนับเป็นความร่วมมือในระดับประเทศในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งยังช่วยนำพาองค์กรอยู่รอดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว พร้อมสร้างเครื่องมือมาช่วยสนับสนุนในการเตรียมพร้อมรับบุคลากรรุ่นใหม่ และพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จพร้อม ๆ กับองค์กรในอนาคต