รางวัลคุณภาพแห่งชาติ 8 องค์กรไทยนำ “TQA” ฝ่าไวรัส

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกาศผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 เมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยมี 8 องค์กรที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ ธนาคารออมสิน

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus : Innovation-TQC Plus) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation-TQC Plus) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) จำนวน 5 องค์กร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี
จำกัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยแต่ละองค์กรที่ได้รับรางวัลร่วมขึ้นเวทีบอกเล่าแนวทางที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ดังนี้

องค์กรไทยเดินตามรอย TQA

“ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ” ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติกล่าวรายงานถึงบทบาทและการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติในปี 2563-2564 ว่า ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมาเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ, การศึกษา, สาธารณสุข และภาคราชการ ทั้งยังถูกนำไปใช้เป็นรากฐานและต้นแบบในการพัฒนาเกณฑ์รางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ, รางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ (SME National Awards)

อธิศานต์ วายุภาพ
ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

“จากการศึกษาผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา พบว่าองค์กรที่นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปปรับใช้จนได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ มีอัตราการเติบโตของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีจำนวนการยื่นขอรับสิทธิบัตรขององค์กรเพิ่มขึ้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันขององค์กร และหากมีองค์กรที่บริหารจัดการเพื่อให้เกิดนวัตกรรมมากยิ่งขึ้นเท่าใด ย่อมส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้นเช่นกัน”

ธนาคารออมสินมุ่งสู่ TQA

“วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินเข้ารับการตรวจประเมินเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มรับรางวัลครั้งแรกปี 2560 จากนั้นพัฒนาตนเองขึ้นมาเรื่อย ๆ จากรางวัล TQC ในปี 2560, TQC Plus : Customer ในปี 2561 และ TQC Plus : Operation ในปี 2562 จนมาปีล่าสุดเราคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ TQA เป็นปีแรก ซึ่งนับเป็นองค์กรที่ 7 ในประวัติศาสตร์ตลอด 19 ปีของรางวัลนี้

วิทัย รัตนากร
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

“เราทำงานตามนโยบายเชิงสังคมด้วยการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาทางการเงิน ที่ผ่านมาเราพยายามปรับองค์กรของเราให้มีการบูรณาการ ใช้แนวความคิดเชิงระบบเพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านการตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการปรับนวัตกรรมตามแนวทางของ TQA จนทำให้เรามีประสิทธิภาพองค์กรดีขึ้นในการทำหน้าที่ดูแลลูกค้าจำนวนมาก ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น ออมสินจึงตั้งเป้าหมายชัดเจนในการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน และต้องการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม”

“ปีที่แล้วเราดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และจัดทำโครงการทั้งหมด 17 โครงการ สามารถช่วยคนไปประมาณ 5 ล้านคน ทั้งยังเพิ่มเงินเข้าไปในระบบเพื่อช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ อีก 150,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการปรับลดกำไรบางส่วนเพื่ออุดหนุน (subsidize) ธุรกิจทางสังคม และสิ้นปี 2563 เราเปลี่ยนการบริหารมาสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบด้วยการทำสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) สำเร็จเป็นธนาคารแรกในไทย และหวังว่าปลายปีนี้จะทำเฟส 2 สำเร็จ”

บางจากคว้า 2 รางวัล

“บัณฑิต หรรษาไพบูลย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวางแผนจัดหาและธุรกิจการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบางจากเข้ารับการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติมากว่า 10 ปี แต่ในปี 2563 เป็นปีแรกที่เราเข้ามารับการตรวจประเมิน โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจการตลาด จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันได้รับรางวัล TQC Plus : Innovation และกลุ่มธุรกิจการตลาดได้รับรางวัล TQC

บัณฑิต หรรษาไพบูลย์
บัณฑิต หรรษาไพบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวางแผนจัดหาและธุรกิจการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“ปีที่ผ่านมาโควิด-19 กระทบธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรามีระบบ TQA ที่ช่วยทำให้ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะการเข้ารับการตรวจประเมินโดยทีมผู้เชี่ยวชาญของสถาบันเพิ่มฯช่วยให้บางจากวิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสเพื่อปรับปรุงธุรกิจ”

โดยการทำงานของ “บางจาก” เชื่อมโยงกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

หนึ่ง การสร้างนวัตกรรมสีเขียว เนื่องจากบางจากตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงพัฒนานวัตกรรมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐานที่มีปริมาณกำมะถันอยู่ในระดับยูโร 5 (มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของรถยนต์) ก่อนที่จะเกิดวิกฤต PM 2.5 ในไทย ทำให้ตอนนี้สินค้าของเราตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม และเอื้อต่อการทำการตลาดให้ธุรกิจมากขึ้น

สอง การพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงานจนเกิดความพร้อม

สาม ดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชนรอบโรงกลั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับเรา โดยผ่านกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา, กีฬา, คุณภาพชีวิต, ความสัมพันธ์ และอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณี เป็นต้น

ศิริราชพัฒนาสู่ รพ.อัจฉริยะ

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นองค์กรที่ให้การดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศคือ 3.4 ล้านชีวิตต่อปี ทั้งยังผลิตนักศึกษาแพทย์มากที่สุดในประเทศคือ 300 คนต่อปี ที่สำคัญเรายังมีการสร้างผลผลิตงานวิจัยมากที่สุดอีกด้วย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“ดังนั้น การได้รางวัล TQC Plus : Operation จึงสอนให้เรารู้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาผสมผสานให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ คือ เราจะนำ 5G มาใช้ทั้งคณะภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย, นักศึกษาแพทย์ และงานวิจัย ซึ่งยังไม่มีคณะแพทย์และโรงพยาบาลใดในโลกทำ”

“นอกจากนั้น เรามีโรงพยาบาลร่วม (partner hospital) ในประเทศจีนมาร่วมกันสร้างโรงพยาบาลอัจฉริยะ (smart hospital) พร้อมกับร่วมมือกับคณะแพทย์ในจีนสร้างโรงเรียนแพทย์อัจฉริยะ (smart hospital school) อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนั้น เพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขันของวงการแพทย์ในประเทศไทย”

ความสำเร็จ 4 ด้าน มช.

“ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ม.เชียงใหม่เปิดสอนปี 2507 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่รัฐจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่นและประเทศชาติ ถึงปัจจุบันจะมีการเรียนการสอนครบทุกสาขาวิชา มีนักศึกษา 37,000 คน และบุคลากร 15,000 คน ซึ่งการเป็นองค์กรขนาดใหญ่เช่นนี้มีความท้าทายอย่างมากในการบริหารให้ประสบความสำเร็จ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดังนั้น รางวัลคุณภาพแห่งชาติจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการบริหารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะนำองค์กรเข้ารับการตรวจประเมินจนที่สุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถคว้ารางวัล TQC ในปี 2563 โดยมาจากรากความสำเร็จ 4 เรื่องด้วยกัน คือ

หนึ่ง leadership องค์กรมีความมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านการศึกษา จึงนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือในแวดวงการศึกษาเราเรียกว่า (EdPEx) มาเป็นเครื่องมือในการยกระดับการดำเนินการ และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับส่วนงาน

ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการกระตุ้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีระหว่างส่วนงาน จนส่งผลให้องค์กรเกิดการบูรณาการกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งเกิดผลลัพธ์การดำเนินการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งมอบคุณค่าที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชน และสังคม

สอง engagement สร้างความผูกพันของทุกคนในองค์กรด้วยวัฒนธรรมร่วมด้วยช่วยกัน

สาม attitude การสร้างทัศนคติที่ดีแก่บุคลากรทุกระดับ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

สี่ employment การถ่ายทอดนโยบาย เป้าหมายของมหาวิทยาลัยไปสู่การปฏิบัติครอบคลุมทุกส่วนงาน

“ฉะนั้น เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติจึงเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นเลิศ ทั้งยังทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก จนเรานำมาใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับการดำเนินการ และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับส่วนงาน ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีระหว่างส่วนงานต่าง ๆ กระทั่งส่งผลให้องค์กรเกิดการบูรณาการกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจนมีผลลัพธ์การดำเนินการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”