Elite จับมือ อโยเดีย เปิดตัว VIRF ซื้อ-ขายลิขสิทธิ์มรดกวัฒนธรรม

บริษัท อีลีท ครีเอทีฟ จำกัด (Elite Creative Company Limited) ในเครือประพันธ์สาส์น ร่วมกับพาร์ตเนอร์นักพัฒนาซอฟต์แวร์คนรุ่นใหม่ “อโยเดีย” (AYODIA R.O.P.) ปิ๊งไอเดียสร้างแพลตฟอร์ม “Virtual Intellectual Rights Fair” หรือ VIRF Platform ซึ่งเป็น creative market place online แห่งแรกของไทย ถือเป็น Startup ที่น่าจับตา สร้างตลาดออนไลน์รองรับการซื้อ-ขายมรดกทางวัฒนธรรม และสินทรัพย์ทางปัญญาจากทั่วโลก พร้อมเปิดโอกาสผลงานนักเขียนไทยสู่ตลาดสากล คาดว่า 3 ปีแรกมีเม็ดเงินสะพัดปีละ 100 ล้านบาท

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 มติชน อคาเดมี จัดงาน “ASEAN International Rights Fair” เปิดตัวแพลตฟอร์ม VIRF Platform ผ่านระบบ Cisco WebEx สำหรับงานครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวแบบ Soft opening เนื่องจากภายในงานมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรมเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก อาทิ นายสกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, อัญชัญ (อัญชลี วิวัธนชัย) นักเขียนรางวัลซีไรต์, นางวิทิดา ดีทีเชอร์ นักเขียนรางวัลชมนาดคนล่าสุด, นางอัสมา นาเดีย นักเขียนมืออาชีพแห่งอินโดนีเซีย, นางแอกเนส ชาน นักร้อง, นักแสดง และนักเขียนเบสต์เซลเลอร์จากฮ่องกง และนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดงานว่า กระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ สนับสนุนและส่งเสริมทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงหลักการพัฒนา Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรม โดยหน้าที่ถือเป็นเครื่องมือสำหรับมวลมนุษย์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

สำหรับกระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรม และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่สมดุล และยั่งยืนมาโดยตลอด ปัจจุบันนี้โลกต่างตระหนักดีแล้วว่างานศิลปะ และวัฒนธรรมต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคม และมวลมนุษยชาติ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมของสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะโลดแล่นอย่างไร้พรมแดนทั้งทางกายภาพ และจินตนาการ ด้วยการเกิดขึ้นของ Virtual Intellectual Rights Fair หรือ แพลตฟอร์ม VIRF

“ตอนนี้เรามีตลาดเสมือนจริงที่ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา และผู้ถือลิขสิทธิ์ จะสามารถมาร่วมพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด และดำเนินการตามข้อตกลงทางธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเสียเวลากับการติดต่อข้ามซีกโลก โดยงานนี้จะนำเสนอในรูปแบบดิจิทัลเป็นครั้งแรกที่จะประกอบไปด้วยผู้ร่วมงานหลากหลายในประเทศกลุ่มอาเซียน และผลงานที่เป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในอนาคต ที่สำคัญ ยังถือเป็นการสร้างสะพานทางธุรกิจขึ้นใหม่อีกครั้ง” นายปรเมศวร์กล่าว

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการบริหาร และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นสปอนเซอร์รายแรกของแพลตฟอร์ม VIRF โดยทางธนาคารมีการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมอยู่มากมาย เช่น การสนับสนุนรางวัล S.E.A Write Award, การสนับสนุนรางวัลชมนาด รวมทั้งการตีพิมพ์หนังสือลักษณะไทยอีกด้วย ทั้งนี้ทางธนาคารเห็นว่าโลกของเราในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งยังมีการนำดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย และหลายสิ่งหลายอย่างได้ปรับเปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

ดังนั้น ธนาคารจึงเห็นความสำคัญของการสนับสนุนองค์กรที่มีความคิดก้าวไกล บวกกับประสบการณ์ที่ล้นหลามของผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กรที่คิดค้น VIRF ขึ้นมา จนทำให้แพลตฟอร์ม VIRF มีความน่าเชื่อถือ และน่าสนใจเป็นอย่างมาก

นายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีลีท ครีเอทีฟ จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง VIRF กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงประสบการณ์ในวงการหนังสือ ตนเองยังสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศมายาวนานถึง 25 ปี ดังนั้น เมื่อเกิดการดิสรัปต์จากเทคโนโลยี อีกทั้งสถานการโควิด-19 ทำให้มีความคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ กระทั่งมาเจอกับ “อโยเดีย” บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่มากมาย และเมื่อพูดคุยกัน จึงตกลงเป็นพาร์ตเนอร์ในการร่วมก่อตั้งธุรกิจมาร์เก็ตเพลซขึ้นมาบนแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Virtual Intellectual Rights Fair” หรือ VIRF

“ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างลาซาด้า, ช้อปปี้ ซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลซสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ VIRF คือมาร์เก็ตเพลซของสินค้าทางวัฒนธรรม และไอพีทั้งหลายแหล่ ไอพีหรือลิขสิทธิ์เพียงแค่เรื่องนี้ก็แตกย่อยออกไปมาก ตั้งแต่หนังสือ, ฟิล์ม, ละคร, นาฏศิลป์, ดนตรี รวมไปถึงเกม โดยแพลตฟอร์มนี้เราจะจัดเอง หรือเปิดเป็นพื้นที่เช่าจัดงานก็ได้ ระยะแรกจะให้พื้นที่กลุ่มลูกค้าจากอาเซียนมาใช้งานในราคาไม่แพงก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับตลาดไปที่ยุโรป อเมริกา และทั่วโลก”

อาทร เตชะธาดา

นายอาทรกล่าวต่อว่า วันเปิดตัววันแรกนี้ (11 มิ.ย. 2564) เราเชิญตัวแทนที่มีประสบการณ์งานแฟร์จากอาเซียน 6 ประเทศเข้าร่วมด้วย ได้แก่ เวียดนาม, สิงคโปร์, อินโดนีเดีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และมาเลเซีย อีกทั้งยังมี 10 บูทที่จะมาออกบูทไพรอต เพื่อที่เราจะได้มีโปรแกรมที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่หลากหลาย มีวิดีโอ, พรีเซนเตชั่น ที่มาช่วยอธิบายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่มาค้าขายกันอย่างเดียว

“ตลาดนี้มีประโยชน์มาก ต่อไปต่อให้โควิดหายแล้ว ก็ยังเล่นลูกผสมได้คือทั้งจัดแฟร์ตามปกติ และแพลตฟอร์มเสมือนจริง เนื่องจากการเดินทางไปค้าขาย มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ค่าเดินทาง ที่พัก ค่าเข้างาน ต้องวางแผนเยอะ แต่ต่อไปนี้ใครมีกำลังก็ไป งานเสร็จก็ท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอี รายย่อยต่าง ๆ ที่กำลังไม่พอจ่ายค่าต้นทุนสูง ๆ จะมีโอกาสเข้าแข่งขันในตลาดได้เช่นกัน ที่สำคัญ ไม่ต้องรองานแฟร์ แต่แพลตฟอร์มนี้เปิดตลอด 365 วัน 24 ชั่วโมง สำหรับต่างชาติเขาเห็นโอกาสที่จะขายของ และเราก็มีโอกาสจะขายลิขสิทธิ์เขาเหมือนกัน แต่ทั้งนั้นต้องมาคุยในแวดวงนักเขียนว่าจะทำยังไงให้ตลาดยอมรับคอนเทนต์ เพราะเราเองมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้เหมือนกัน” นายอาทรกล่าว