ความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ CONNEXT ED ตัวช่วยการศึกษาชุมชน

การริเริ่มโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ในปี 2559 จากการผนึกกำลังของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อวางแผนเดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้พัฒนาอย่างก้าวไกล มั่นคงและยั่งยืน

พร้อมกับก่อตั้งโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner หรือ SP) ของแต่ละองค์กรร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง พร้อมจัดทำแผนพัฒนาร่วมกับโรงเรียนและชุมชน นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่ช่วยทำให้การศึกษามีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เพราะปัจจุบันโครงการได้ยกระดับเป็นมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี มีการขยายความร่วมมือสู่องค์กรเอกชนอีกมากมาย ดำเนินงานผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

หนึ่ง การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส

สอง กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การดำเนินงานสู่โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ

Advertisment

สาม การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน

สี่ เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ

ห้า การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา

Advertisment

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรหลักและเป็นพันธมิตรก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ร่วมขับเคลื่อนแผนงาน 5 เฟส ประมาณ 5 ปีการศึกษา มีเป้าหมายในการดูแลและยกระดับโรงเรียน 5,567 แห่งทั่วประเทศ

โดยล่าสุด 3 เฟสแรกมีโรงเรียนภายใต้ความดูแลกว่า 458 แห่ง อนุมัติงบประมาณในการพัฒนา 379 แห่ง ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้กับเยาวชนไทย 83,436 คน ผ่านการดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ กว่า 500 โครงการ พร้อมกับคัดเลือกบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะในบริษัทกว่า 200 คนมาพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำผ่านการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อเป็น SP ดูแลโครงการเพื่อการศึกษาในแต่ละโรงเรียนด้วยการลงพื้นที่คลุกคลีกับโรงเรียนต่าง ๆ โดยตรง

สำหรับล่าสุดคณะผู้บริหาร ซีพี ออลล์ นำโดย “ตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่ดำเนินโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ ต.ชะเมา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนใหม่ที่เข้าร่วมโครงการสานอนาคตการศึกษาเมื่อปี 2563

ด้วยการจัดทำ “โครงการท่องโลกกล้วย ด้วยศาสตร์ของพ่อ” กับการนำวัตถุดิบจากต้นกล้วยที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียน best practice

เบื้องต้น “ตรีเทพ” กล่าวว่า ปัจจุบันซีพี ออลล์สนับสนุนโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED จำนวนกว่า 379 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ กว่า 500 โครงการ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ, โครงการพัฒนาคุณภาพคน, โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน, โครงการส่งเสริมอาชีพ และโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีแนวคิดและวิธีการจัดการโครงการในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมี SP คอยให้คำปรึกษา แนะแนวความรู้ด้านต่าง ๆ และที่สำคัญจะต้องยึดหลักความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่

หนึ่ง โรงเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความคิดในเชิงผู้ประกอบการ สร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปจำหน่ายได้ มีเงินทุนหมุนเวียนกลับมาเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือนำกลับมาใช้ในโรงเรียน หรือพูดง่าย ๆ คือ ค้าขายให้เห็นคำว่าต้นทุนและกำไร ให้เด็ก ๆ ของตนเองรู้ว่าชีวิตนี้มีทั้งกำไรและขาดทุน หรือเท่าทุน ขาดทุน ในส่วนนี้ SP จะช่วยเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดด้วย

สอง โรงเรียนสร้างหลักสูตรเพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนองค์ความรู้ เพื่อไม่ให้ตกหล่นหรือสูญหายไปกับครูที่โอนย้าย หรือเกษียณอายุไป องค์ความรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทุกกระบวนการของโครงการต้องถูกบรรจุไว้เป็นหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อนำไปสอนเด็กนักเรียนควบคู่กับหลักสูตรแกนกลาง และจะต้องให้เด็ก ๆ ลงมือปฏิบัติที่เรียกว่า active learning เพราะการศึกษาภาคบังคับอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องลงมือทำ และมีการวัดผลการเรียนด้วย ซึ่งการวัดผลต้องวัดที่ใครเป็นเลิศด้านไหน เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน

สาม ยกระดับโครงการขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบคอร์สระยะสั้น สามารถเป็นต้นแบบขยายผลให้แก่โรงเรียนจำนวนมากได้อีกด้วย

“สำหรับโครงการท่องโลกกล้วย ด้วยศาสตร์ของพ่อ โรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ จ.นครศรีธรรมราช คณะทำงานจากส่วนกลางของซีพี ออลล์ ร่วมกับ SP ให้คำแนะนำ และให้โรงเรียนเสนอโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียนตามบริบทความโดดเด่นของท้องถิ่น”

“ซึ่งโรงเรียนได้นำวัตถุดิบจากต้นกล้วยมาแปรรูปเป็นของใช้ บรรจุภัณฑ์ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงพิจารณาอนุมัติโครงการและให้งบประมาณเพื่อไปเป็นทุนตั้งต้นจนที่สุดได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 24 โรงเรียนที่ดำเนินโครงการได้อย่างยอดเยี่ยม หรือ best practice ที่จะได้ไปต่อสู่การเป็น 1 ใน 10 โรงเรียนต้นแบบในปีการศึกษา 2565 ต่อไป”

“ตรีเทพ” กล่าวต่อว่า การประเมินโรงเรียน best practice องค์ประกอบที่เราดู คือ อย่างแรกโรงเรียนดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ 5 ข้อ และความยั่งยืน 3 มิติต้องครบ 100% ความเป็นทีมเวิร์กของครู บุคลากร การมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ มีมากน้อยแค่ไหน ชุมชนโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมอย่างไร โรงเรียนประยุกต์โครงการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี สมัยใหม่อย่างไรบ้าง

“ทั้งนี้ สิ่งที่โดดเด่นของโรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ คือ ความเป็นทีมของครูในโรงเรียนที่มีเป้าหมายเดียวกัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน เล็งเห็นประโยชน์ของต้นกล้วย นำทุกองค์ประกอบมาแปรรูป ตั้งแต่ผลของกล้วย นำมาแปรรูปเป็นอาหาร ขณะที่ส่วนของกาบกล้วย สามารถนำมาทำเป็นภาชนะ กระถางใส่ต้นไม้ได้อย่างสวยงาม”

“อย่างไรก็ตาม โรงเรียนมีโอกาสต่อยอดโครงการไปสู่โรงเรียนต้นแบบได้ในอนาคต ฉะนั้น สิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนต่าง ๆ จะต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม เราจะให้คำแนะนำโรงเรียน ซึ่งการแนะนำนั้นคณะทำงานจะให้คำปรึกษาเบื้องต้นในยุทธศาสตร์ 5 ด้าน จุดไหนที่ยังอ่อนอยู่ต้องเพิ่มเข้าไปให้ครบ และยังขาดงบประมาณอีกเท่าไหร่ ซีพี ออลล์จะสนับสนุนงบประมาณเป็นรอบที่ 2 เพื่อให้พัฒนาโรงเรียนต่อไป”

“เฉลิมพล เทียนทอง” ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียน กล่าวเสริมว่า โรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีชุมชนในเขตบริการ มีอาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่มีการปลูกกล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า โดยบริบทของโรงเรียน และชุมชนจะมีน้ำท่วมขังทุกปี พืชที่สามารถปลูกได้และทนต่อสภาพพื้นที่ คือ ปาล์ม และกล้วย แต่ในบางฤดูกาลผลผลิตมีเป็นจำนวนมากจนเกิดการเน่าเสีย

“ส่วนต้นกล้วยก็ตัดทิ้งโดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์สูงสุด ทางโรงเรียนจึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาโดยได้นำกล้วยมาแปรรูปเป็นจาน, ชามจากกาบกล้วย, หูหิ้วแก้วเชือกกล้วย, ที่รองแก้ว, ที่รองหม้อจากเชือกกล้วย, น้ำส้มสายชูจากกล้วย, แป้งจากกล้วย, ขนมทองม้วนจากแป้งกล้วย ฯลฯ ทั้งยังมีการทำโครงการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในการแปรรูปจากส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วย เพื่อให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนรู้เรื่องกล้วยและการแปรรูปจากส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วยอย่างหลากหลาย”

“ทั้งนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยต้องโดดเด่น สะดุดตา น่าสนใจ เน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากกล้วย ซึ่งผนวกอยู่ในวิชาการงานอาชีพ กิจกรรมชุมนุม เป็นการเสริมทักษะการคำนวณต้นทุนผลผลิต การคิดราคาจำหน่าย การใช้สื่อออนไลน์ในการขายสินค้า นอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ระหว่างเรียนของนักเรียนแล้ว ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการแปรรูปจากส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วยให้ชุมชนด้วย”

“นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่เยี่ยมโครงการโรงเรียนต้นแบบศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาดุกและกระจูด ที่โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง เป็นโรงเรียน best practice ในปีการศึกษา 2563 และเป็น 1 ใน 6 ที่ได้รับเลือกเป็น School Model ประจำปีการศึกษา 2564″

“เพราะโรงเรียนโดดเด่นที่นำวัชพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างต้นกก และพืชเศรษฐกิจอย่างกระจูดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหลายรูปแบบ เช่น กระเป๋ากระจูดสานมือ, กระเช้ากระจูด, ของชำร่วยจากกระจูด รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด คือ หูหิ้วถ้วยกาแฟ และเส้นกกสายใยรักษ์โลก”

หูหิ้วถ้วยกาแฟ เส้นกกสายใยรักษ์โลก

“ตรงนี้เป็นการบูรณาการร่วมกับหลักสูตรท้องถิ่น มีการนำเทคนิคฝีมือด้านหัตถกรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสายหูหิ้วถ้วยกาแฟได้อย่างสวยงามไม่ซ้ำใคร มีความเหนียวแข็งแรงทนทาน ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทั้งยังเพิ่มมูลค่าของต้นกกเป็นอย่างดี”

“ตอนนี้ได้รับการสนับสนุนให้วางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีบริการกาแฟและเครื่องดื่มจากออลล์ คาเฟ่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาทะเลน้อย, สาขาควนขนุน และสาขาโพธิ์ทองควนขนุน”

โดยกำหนดจัดวางในระยะทดลอง 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 64) ซึ่งหากมีผลตอบรับที่ดีจะมีการพิจารณาขยายการจำหน่ายกว้างขึ้นจาก 3 สาขา เป็นสาขาในภาคใต้อีกด้วย