โครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ” ลดสูญเสียแพทย์ ช่วงวิกฤตโควิด

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) โดยการรวบรวมข้อมูลของแพทยสภา ระบุถึงการเสียชีวิตของแพทย์ด้วยโรคต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 297 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคที่ไม่ระบุสาเหตุโรคชัดเจน ถึง 60% (เฉพาะที่ระบุว่าเกิดจากโรคหัวใจ 10%)

ทั้งนี้ มีแพทย์ที่เสียชีวิตโดยมีอายุน้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยถึง 118 คน คิดเป็น 40% ของแพทย์ผู้เสียชีวิตทั้งหมด (อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเพศชาย 73 ปี และเพศหญิง 77 ปี) โดยแพทย์ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจอายุน้อยที่สุดในรายงานมีอายุเพียง 31 ปี ขณะที่อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยอยู่ในระดับที่น้อยมาก โดยแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยนอกจำนวน 1 หมื่นราย/ปี และผู้ป่วยใน 250 ราย/ปี

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าหากแพทย์หายไปหนึ่งท่าน ปริมาณงานในการรักษาก็จะแบ่งไปอยู่กับคนที่เหลือ ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตหรือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้แพทย์มีภาระงานมาก มีเวลาใส่ใจตัวเองน้อย ไม่ได้ดูแลและตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจ ทำให้เมื่อมีอาการหัวใจล้มเหลวขึ้นมาแล้วไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน แม้ว่าจะเกิดเหตุภายในโรงพยาบาลก็ตาม ทำให้เราพบแพทย์ที่อายุไม่มากเสียชีวิต การสูญเสียเช่นนี้ถือเป็นการสูญเสียที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

ล่าสุดโรงพยาบาลเมดพาร์คจึงได้จัดทำโครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์ทั่วประเทศไทยที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้รับการตรวจวินิจฉัยค้นหาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบและเข้ารับการรักษาเพื่อให้แพทย์สามารถดูแลประชาชนต่อไปได้อีกระยะยาว โดยแพทย์ที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้จะต้องเป็นแพทย์สัญชาติไทย อายุมากกว่า 35-70 ปีในทุกสาขาทั่วประเทศ

สำหรับรายละเอียดของโครงการดังกล่าวของแพทย์ ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีโปรแกรมการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง เพื่อค้นหาปัญหาของหัวใจ อาทิ หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ และให้การรักษาหากตรวจพบโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์-12 สิงหาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 6 เดือน

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์คได้เริ่มโครงการ Save Doctors, Save People, Save Thailand ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ในการฉีดวัคซีนโควิดเพื่อรักษาชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้ได้เร็ว และมากที่สุดจึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกชีวิตของแพทย์ที่เราช่วยเหลือจะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้

นอกจากนี้ ได้มีการจัดเสวนา ภายใต้หัวข้อ Heart Attack รู้ทัน ป้องกันได้ : “หัวใจวายเฉียบพลัน” ภัยเงียบร้ายแรงไร้สัญญาณเตือน โดยมี นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจและทรวงอก, นายแพทย์ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด และ แพทย์หญิงจิรภา แจ่มไพบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาให้ข้อมูลความรู้เรื่องโรคหัวใจ

นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดหัวใจและทรวงอก กล่าวว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวายเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตัน ซึ่งมีสาเหตุอยู่ที่การเสื่อมของเส้นเลือดที่ปกติจะมีการเสื่อมถอยตามวัย และมีปัจจัยเสี่ยงที่มีทั้งควบคุมได้ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมถึงความเครียด และความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง คนอายุเยอะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า และกรรมพันธุ์ที่อาจถ่ายทอดทางครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดภาวะนี้ได้

นายแพทย์ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มียีนส์ที่ผิดปกติที่ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลสูงมาก มีโอกาสทำให้เส้นเลือดตีบเร็วกว่าวัย ควรเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อลดความเสี่ยง ดังต่อไปนี้ ควบคุมน้ำหนัก (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 30) งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์และมีกากใยเยอะ หากทำได้ตามนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายก็จะลดลง

แพทย์หญิงจิรภา แจ่มไพบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า การฟื้นฟูหัวใจด้วยการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจทุกท่านมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการออกกำลังกายสามารถที่จะลดโอกาสในการกลับมานอนโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยทุกท่านได้ ทั้งยังมีความปลอดภัยหากผู้ป่วยได้รับการประเมินและคำแนะนำที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์