ลุยสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในงานธุรกิจนวัตกรรม ดันพัฒนาโมเดลธุรกิจหวังดึงนักลงทุนต่างแดน

วันที่ 22 ม.ค.2560 เวลา 14.00 น. ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center by UTCC เเถลงข่าวเตรียมเปิดงาน IDE 2018 เดินหน้าสร้างระบบนิเวศธุรกิจนวัตกรรมเสริมความเเข็งเเกร่งผู้ประกอบการ เสริมสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อหาที่สุดของธุรกิจนวัตกรรมแห่งปีของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมจัดกิจกรรม Think Big, Act Small Symposium รวบรวมผู้นำทางความคิดจากทั่วโลก เข้าแบ่งปันประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่อาคาร 10 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐถกาพิเศษ ถึงทิศทางเเละเเนวโน้มของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมกับเศรษฐกิจไทย ว่า การพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องกลับมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ อีกทั้งตัวผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เสริมศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับตนเอง

นายกลินท์ กล่าวต่อว่า แนวทางในการเพิ่มศักยภาพนั้นจำเป็นที่จะต้องมีผู้ประกอบการที่สามารถนำนวัตกรรม ข้อมูล และมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมภาคธุรกิจ ซึ่งการสร้างผูู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมถือเป็นความท้าทายใหม่ของประเทศ และเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในระยะยาว

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัจจุบันมีหลายเรื่อง ซึ่งเศรษฐกิจฐานล่างยังไม่ได้รับผลกระทบอะไร เรากำลังผลักดันหลายๆ อย่าง หลายคนอาจพูดถึงการขับเคลื่อนเเบบสปีดเป็นหลัก เเต่เราต้องคิดใหม่ มองหาอะไรเเปลกใหม่” นายกลินท์ กล่าวเเละว่า จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าเเละการบริการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยในปี 2561 นี้ ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นถึงร้อยละ 4.2 เเต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ซึ่งภาคธุรกิจในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวข้ามไปสู่ยุคการสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังเน้นในเรื่องการค้า การบริการ ต้องไปตามทิศทางของไทยเเลนด์ 4.0 คือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ศึกษาถึงความต้องการของลูกค้า เน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การค้า การลงทุน 2. เกษตรกร อาหาร 3. ท่องเที่ยว เเละบริการ ซึ่ง 3 อย่างนี้เทียบเท่ากับค่าจีดีพี ครึ่งหนึ่งของประเทศก็ว่าได้

“เราเน้นเรื่องการช่วยผู้ประกอบการ ทั้งในต่างจังหวัดเเละในกรุงเทพฯ ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เพิ่มนวัตกรรม มูลค่าจะเพิ่มขึ้น นี่คือเรื่องสำคัญที่จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่น รวมถึงสังคมได้ด้วย”นายกลินท์กล่าว

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายการทำธุรกิจไม่ได้มุ่งเฉพาะภายในประเทศ หรือภายในภูมิภาคเท่านั้น หากมุ่งไกลไปถึงตลาดโลก ตลอดจนโมเดลธุรกิจที่มีความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากแหล่งเงินทุนภายนอกประเทศ ก่อให้เกิดศักยภาพทางการแข่งขัน และเพื่อร่วมส่งเสริมนวัตกรรมหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงได้นำระบบการค้าอัจฉริยะ หรือ Smart Trade Platform ซึ่งประกอบด้วย Trade 4.0 และ Service 4.0 มาส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของการค้าขายสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสร้างระบบนิเวศของการประกอบการที่เคลื่อนโดยนวัตกรรม ว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ IDE ที่ได้พัฒนาร่วมกับสถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงในเรื่องงานวิจัยและการศึกษาในสาขาเคมี ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ รวมถึงในสาขาชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และการจัดการ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด จากการเป็นผู้ประกอบการแบบเดิม ผ่านการการฝึกอบรม พัฒนา ไปจนถึงการจัดสรรหาเเหล่งลงทุนสนับสนุน โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีเเนวคิด เทคโนโลยี ไปจนถึงเเผนธุรกิจใหม่ ให้ขยายธุรกิจสู่ตลาดภูมิภาคและตลาดระดับโลกได้

“เราพบว่าในเเต่ละปี มีนักศึกษาขึ้นเป็นผู้ประกอบการใหม่กว่า 250 บริษัท ซึ่งได้สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจ เเละเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย เราได้สร้างเครือข่ายภาคีพันธมิตรและพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจนวัตกรรม หรือ IDE Ecosystem ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย” รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวเเละว่า สำหรับการร่วมมือนั้นจะผ่านทาง 5 ภาคส่วน คือ ผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ภาครัฐบาล (Government) ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ภาคเงินทุน (Risk Capital) และภาคการศึกษา (University) ซึ่งหากขาดภาคส่วนใด การดำเนินงานก็เป็นไปไม่ได้ ทั้ง 5 ภาคส่วนจะต้องช่วยกันผลักดัน

ทั้งนี้กิจกรรม IDE 2018 รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า จะเป็นการรวมตัวกันของการประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากทั่วทุกมุมโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจนวัตกรรมในประเทศ และแสวงหาโอกาสที่ให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

ขณะที่ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเเละนวัตกรรมเเห่งชาติ (สวทน.) กล่าวในเสวนาพิเศษ “เเนวทางความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมยุคใหม่ เเละองค์กรภาครัฐเเละเอกชนที่สำคัญในการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเเข่งขันเเละขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ว่า จุดเริ่มต้นมาจากการร่วมทำข้อมูลกับ ดร. เอ็ดเวิร์ด รูเบซ ผู้อำนวยการหลักสูตร ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เเล้วนำมาวิจัยพัฒนาต่ออีกกว่า 2 ปี เเละเมื่อได้ข้อมูลมาเเล้ว ก็ต้องมามองว่าส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างไร ทำเช่นไรให้ไทยมี “อีโคซิสเต็ม”

“เราเริ่มทำมาเรื่อยๆ ภาครัฐได้เข้าร่วมทำให้เห็นว่า สตาร์ตอัพเต็มไปหมด มีผู้ประกอบการเกิดขึ้นมากมาย เเต่คำถามคือ พวกเขาไปไหนต่อ ทำไมเราไม่เห็นออกมาในรูปของธุรกิจ มันมีเรื่องเศรษฐกิจในส่วนของอาหาร มีประชากรอยู่ในกลุ่มนี้กว่า 40 ล้านคน เป็นอีกหนึ่งช่องทางธุรกิจ เเละต้องยอมรับว่าคนไทยเก่ง เเต่ยังขาดคนคอยเชื่อมต่อ ต้องย้ำให้ทั้ง 5 ภาคส่วนที่กล่าวกันมาเชื่อมเข้าหากันเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทย”

นายธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเเละกรรมการผู้จัดการ บริษัท 2 3 Perspective จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของตนมาจากโอกาสในเรื่องของดิจิทัล ที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ เเละได้มองเห็นโอกาสทำเเอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มากว่า 10 ปีเเล้ว เเต่ต้องมาย้อนดูว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปใช้กับลูกค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เราเป็นสตาร์ตอัพตั้งเเต่เเรก ซึ่งเวลาผ่านไปยังต้องดิ้นรนกันอยู่ การทำงานของเราต้องมี Passion เเต่ไม่ได้เน้นไปในเรื่องของเงิน งาน หลายคนอยากมาทำงานเพื่อเงิน มันไม่ใช่ เเต่ต้องคิดว่าคุณมาเเล้วจะทำงานอะไรเพื่อสังคม ช่วยเหลือคนได้อย่างไรมากกว่า ผู้ประกอบการอย่ากลัวการล้มเหลว ให้เดินหน้าต่อไป”

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การทำวิจัยถือเป็นเรื่องสนุก เป็นความภูมิใจเมื่อเห็นว่างานวิจัยสามารถนำไปช่วยผู้คนได้ ทั้งนี้ยังต้องเข้าไปเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อทำให้งานวิจัยที่มีอยู่สร้างคุณค่าให้มากที่สุด

“การจะทำวิจัยมันเลี่ยงในเรื่องการสอนคน การเรียนรู้ไม่ได้ เเต่สามารถทำให้เกิดในระบบนิเวศได้ เพื่อการผลิตเทคโนโลยี งานวิจัย เเละผลักดันออกมาให้มีความหมาย”

นอกจากนี้ยังได้เชิญพันธมิตรเข้าร่วม อาทิ มหาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน นิวซีเเลนด์ รวมถึงบริษัทใหญ่ๆ อย่าง มิตรผล เบทาโกร ปตท. เพื่อขอความเเนะนำ ให้ความรู้เเก่ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงส่งลูกศิษย์ไปศึกษางานในบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้อีกด้วย ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีคนเข้าร่วม ช่วยเหลืิอ เเละสร้างสิ่งดีๆ ต่อไป