จีไอที เตรียมคัด 4 ผลงานนำผลิตเครื่องประดับโชว์งานแฟร์ทำตลาด

จีไอที เตรียมคัด 4 ผลงานนำผลิตเครื่องประดับโชว์งานแฟร์

จีไอที สรุปโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 17 มีนักออกแบบทั้งไทยและเทศส่งผลงานรวม 770 ชิ้น เพิ่ม 30% สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ เตรียมคัด 4 ผลงานนำผลิตเครื่องประดับจริงในรอบชิงชนะเลิศ ก่อนนำโชว์งานแฟร์และในพิพิธภัณฑ์ช่วยเปิดโอกาสทำตลาด

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยถึงผลการจัดทำโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 17

ภายใต้แนวคิด “Glitter & Gold-The Brilliant Way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดที่ผสมผสานเข้ากันจนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัว ว่าการจัดประกวดในปีนี้ มีนักออกแบบจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก ทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป รัสเซีย อเมริกา และประเทศแถบอเมริกาใต้

โดยส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 497 ชิ้นงาน และผลงานของนักออกแบบไทย 273 ชิ้นงาน รวม 770 ชิ้นงาน เพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับการจัดประกวดเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา และยังถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ด้วย

“ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ มากที่สุดมาจากผลงานของนักออกแบบไทย ตามด้วยจีน อิหร่าน ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งผลดีที่ได้ คือ จะได้เห็นถึงมุมมองอันหลากหลายของนักออกแบบ รวมถึงทิศทางเทรนด์ของเครื่องประดับในประเทศที่ส่งเข้ามาประกวด โดยเทรนด์ต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยให้ไทยและนักออกแบบของไทยนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและผลิตเครื่องประดับ เพื่อส่งออกได้ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในประเทศที่นักออกแบบทำการออกแบบมา เพราะเราได้รู้แนวโน้มและทิศทางความต้องการแล้ว” นายสุเมธกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลงานออกแบบมาทั้งหมดแล้ว จะมีการตัดสินแบบวาด โดยจีไอทีได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก เช่น น.ส.สิริน ศรีอรทัยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการขาย บริษัท บิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด, ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อโยธยาเทรด (93) จำกัด, นายธนิษฐ์ ดุรงคพิทยา กรรมการบริหาร บริษัท พรีเมียร์เจมส์เทรดดิ้ง จำกัด, ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ L.S Jewelry Group (ห้างเพชรหลีเสง),

น.ส.เกศณี ศิริวัฒนสกุล Head of New Product Development, Swarovski Manufacturing (Thailand), Mr.Yutaka Fukasawa, Japan Precious Magazine Director & Chief Editor ประเทศญี่ปุ่น น.ส.วรรณพร โปษยานนท์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ประเทศไทย

และ Ms.Fie Ling Tjia, Senior Lecturer at Raffles College of Higher Education ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลการศึกษาสถาบันแฟชั่น Marangoni ประเทศสิงคโปร์ ที่จะมาคัดเลือกผลงานทั้งหมดจาก 770 ผลงาน เหลือเพียง 31 ผลงาน และเลือกเฟ้นหาแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 ผลงาน เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับขึ้นโชว์ผลงานพร้อมเหล่านางแบบในรอบชิงชนะเลิศ

โดยจะประกาศผลการตัดสินรอบคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิ.ย. 2566 พร้อมเปิดให้ผู้สนใจร่วมลงคะแนนโหวตให้กับผลงานที่ชื่นชอบ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผลงานที่ชื่นชอบ และลุ้นรับรางวัล GIT Popular Design Award ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.-31 ก.ค. 2566 และการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ และการประกาศรางวัล มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นจีไอทีจะนำผลงานการออกครั้งนี้ ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ รวมถึงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ GIT Gem and Jewelry Museum เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ผลงาน และเพิ่มโอกาสในการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ