จีไอที มองส่งออกเครื่องประดับปี’66 จับตาเงินเฟ้อ-มาตรการ CBAM กระทบ

อัญมณี

จีไอที เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 11 เดือน ปี 2565 มูลค่า 7,466.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 34.02% เผยได้แรงหนุนจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัว คาดทั้งปี 2566 จับตาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ มาตรการปรับคาร์บอน ที่จะรุนแรงขึ้นในปี 2566

วันที่ 9 มกราคม 2566 นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน พ.ย. 2565 มีมูลค่า 687.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 868.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.98% และยอดรวม 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) หากไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,466.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.02% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 14,489.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.24%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จากการที่เงินเฟ้อและราคาสินค้าในหลายประเทศเริ่มลดลง ค่าขนส่งสินค้าในหลายเส้นทางทั่วโลกปรับลดลง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และช่วงปลายปี 2565 เป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอย จึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาท แม้จะแข็งค่าขึ้น แต่ก็ไม่ได้แข็งเร็วเกินไป ยังช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันได้ และหลายตลาด มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวได้ดีในช่วง 11 เดือน ได้แก่ สหรัฐ เพิ่ม 23.60% อินเดีย เพิ่ม 91.61% ฮ่องกง เพิ่ม 19.04% เยอรมนี เพิ่ม 4.34% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 36.67% สิงคโปร์ เพิ่ม 159.95% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 82.48% เบลเยี่ยม เพิ่ม 34.76% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 32.84% และญี่ปุ่น เพิ่ม 9.11%

ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 49.32% เพชรก้อน เพิ่ม 5.39% เพชรเจียระไน เพิ่ม 50.19% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 99.89% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 73.94% พลอยก้อน เพิ่ม 53.28% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 3.12% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 9.32% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 20.71% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 18.45% และทองคำ เพิ่ม 92.73%

นายสุเมธกล่าวอีกว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 11 เดือนของปี 2565 ยังสามารถเติบโตได้ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยรุมเร้าหลายประการ ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งถือว่าไทยทำได้ดี และคาดว่าตัวเลขที่เหลืออีก 1 เดือน คือ ธ.ค. 2565 จะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปียังเป็นบวกได้สูงอยู่

ส่วนปี 2566 GIT ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการเติบโตในปี 2566 อาจขาดปัจจัยหนุน ทำให้เติบโตลดลง จากปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น และการกลับมาระบาดของโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งต้องเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสหรัฐ และยุโรปให้ความสำคัญมาก อาจก่อให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีได้