ข้าวหอมทุ่งกุลาฯ สินค้า GI รุกตลาดยุโรปรายแรกของไทย

สินสมุทร ศรีแสนปาง
สินสมุทร ศรีแสนปาง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็น สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 โดยมีข้อกำหนดว่า ต้องปลูกในทุ่งกุลาร้องไห้ หมายถึงพื้นที่ภาคอีสาน 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และสุรินทร์ สินค้าที่ได้รับการรับรอง “จีไอ” จะได้รับการยอมรับจากตลาดหลักโดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่มีการใช้กฎหมายนี้เช่นเดียวกัน

ข้าวตราศรีแสงดาว จากโรงสีศรีแสงดาว จ.ร้อยเอ็ด นับเป็นผู้ผลิตสินค้าจีไอรายแรกที่สามารถขยายการส่งออกข้าวหอมมะลิจีไอจากทุ่งกุลาร้องไห้ ไปสู่ตลาดยุโรปได้ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสินสมุทร ศรีแสนปาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีศรีแสงดาว จำกัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ข้าวศรีแสงดาว และโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด ถึงจุดเริ่มต้นและการทำตลาดส่งออกข้าวจีไอ

จุดเริ่มต้นทำนาข้าวจีไอ

ผมเป็นทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาดูกิจการโรงสีข้าว ศรีแสงดาว ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่อายุ 22 ปี ระหว่างการเข้าดูกิจการโรงสีข้าว

ผมมีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะ รายล้อมด้วยน้ำทะเล สามารถปลูกข้าวได้ปีละครั้ง และปัญหาการปลูกข้าวของไต้หวันยังเจอปัญหาภัยธรรมชาติ การมีประชากรที่เพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตไม่ได้เพียงพอต่อความต้องการ แต่รัฐบาลของไต้หวันก็ส่งเสริมสร้างมาตรการการเพาะปลูกข้าวให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผลผลิตต่อไร่ที่สูง

เมื่อผมมองกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งเรื่องของน้ำ อากาศ ที่ดินในการเพาะปลูก แต่ผลผลิตต่อไร่ยังน้อยมาก ขาดการส่งเสริมและพัฒนา ส่งผลให้ผมอยากกลับมาพัฒนา นาข้าวของไทย และตั้งแต่เข้ามาดูกิจการ ผ่านประสบการณ์ดำเนินกิจการโรงสีข้าวมา 10 ปี ทำให้ผมคิดที่จะเริ่มเข้ามาพัฒนาการปลูกข้าว ส่งเสริมชาวนา ผมเริ่มต้นจาก ข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้าจีไอที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

“แม่ผมต้องการให้ผมเข้ามาสานต่อในการช่วยชาวนา ส่งเสริมข้าวจีไอ ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ ขายได้ราคา เพราะเดิมชาวนา เห็นโรงสีที่คุ้นเคย ในพื้นที่จะเข้ามาต่อรองราคา เพราะคุยกันได้ แต่ตอนนั้นเราก็ช่วยได้มากแค่ 10-30 สตางค์ เท่านั้น เพราะการรับซื้อข้าวจะมีราคากลาง เวลาขายไปต่างประเทศก็ราคาเดียว การจะขึ้นราคาข้าวให้ชาวนาจึงเป็นเรื่องยาก”

Advertisment

แก้ปัญหา “ชาวนา”

เราก็มาดูว่าช่วยอะไรชาวนาได้บ้าง จากประสบการณ์ของผมด้านการจัดการ กิจการโรงสี ผมได้ไปคุยปัญหากับชาวนา จึงรู้ว่าปัญหา คือ ชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในการปลูกเยอะ ไม่รู้จะจัดการธาตุอาหาร นาข้าว โรคอย่างไร และยังทำนารูปแบบเดิม คือ นาหว่าน จากอดีตที่ทำนาดำ

เมื่อไม่มีคนทำนา แรงงานเริ่มเข้าสู่เมืองใหญ่มากขึ้น เพราะค่าแรงสูง ทำให้ชาวนาหันมาทำนาหว่านแทน นาดำ เพราะง่าย ทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง ซึ่งข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ อีสานที่ขึ้นชื่อ ปลูกได้ปีละครั้ง ดังนั้นทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพ พร้อมรักษาคุณภาพมาตรฐานให้ได้คงที่

Advertisment

ในขณะที่ การแข่งขันในตลาดเองก็สูงขึ้น ผมจึงเริ่มต้นเข้ามาช่วยให้ความรู้ และเริ่มทำ โครงการนาหยอด ในข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้าจีไอ โดยส่งเสริมภายในรัศมี 35 กิโลเมตร จากโรงสีข้าว ศรีแสงดาว ปัจจุบันทำให้ข้าวจีไอ สามารถส่งออกไปยุโรปได้ และเป็นรายแรกและรายเดียวที่ส่งออกสินค้าจีไอไปได้ในตลาดยุโรป

ขยาย โครงการนาหยอด

การทำโครงการข้าวนาหยอด เราได้นำนวัตกรรม เครื่องจักรเข้ามาใช้ 100% จากจุดเริ่มต้นเราเริ่มทดลองและวิจัย ทำนาหยอดจากเมล็ดพันธุ์ข้าว 6 กก.ต่อไร่ และได้ผลผลิตที่ได้ 500-600 กก.ต่อไร่ จากนั้น เราได้ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวลง มาเหลือ 3 กก.ต่อไร่ ได้ผลผลิต 500-600 กก.ต่อไร่ และปัจจุบันลงมา 1 กก.ต่อไร่ ผลผลิตที่ได้ 600-700 กก.ต่อไร่

ทำให้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มาใช้ในการปลูกข้าวลดลง จากเดิมที่ชาวนาใช้ประมาณ 35 กก.ต่อไร่ ในการปลูกข้าวแต่ละครั้ง และผลผลิตที่ได้ 300 กก.ต่อไร่ น้อยมาก ต้นทุนก็สูง ข้าวแย่งสารอาหาร เกิดโรคง่าย ดังนั้นการทำ นาหยอด ตอบโจทย์ได้มาก ไม่ว่าจะผลผลิตที่มากขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ไม่เกิดโรค นอกจากนี้ เรานำเครื่องจักร นวัตกรรมมาใช้ พร้อมให้ความรู้กับชาวนาด้วย ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก และต้องยอมรับว่า ทำครั้งแรก ก็มีท้อบ้าง

การดำเนินการมาทำ นาหยอด เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2561 มีเครือข่ายชาวนาเข้าโครงการ 20 คน นาข้าว 300 ไร่ ปัจจุบันมีชาวนาเข้าร่วมเพิ่มขึ้น 100 คน นาข้าวประมาณ 3,000-4,000 ไร่ เรายังมีเป้าหมายจะเพิ่มชาวนา และนาข้าวเข้าโครงการปีละ 2,000 ไร่

และในอนาคตเรามีเป้าหมายจะเพิ่มนาข้าวเข้าโครงการให้ได้ 10,000 ไร่ ซึ่งจะเป็น นาหยอด ข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ จีไอ โดยเฉพาะ อนาคตเราจะทำข้าวชนิดอื่นไหม เราต้องการทำให้ ข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ให้เข้มแข็ง ส่งออก ชาวนามีรายได้ ซึ่งเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งถ้ามีโอกาสเราก็อาจจะส่งเสริมตลาดข้าวอื่นต่อไป

จุดเริ่มต้นส่งออกยุโรปรายแรก

เมื่อเราส่งเสริมและมีปริมาณข้าว จีไอ ทุ่งกุลาร้องไห้ เริ่มแรก เราได้ทดลองขายในประเทศ แต่ระหว่างนั้น เราก็พยายามส่งเสริม และหาตลาดข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ขึ้นทะเบียนจีไอได้ที่ยุโรป ก็มีการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งการปลูก การผลิต การบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต่าง ๆ ต้องล้วนเกิดจากในพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น เมื่อขึ้นทะเบียนได้ เราก็พยายามทำการตลาด หาคู่ค้า ทดลอง ซึ่งพยายามมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 5 ปี

แต่เมื่อปี 2565 เราสามารถส่งออกข้าวจีไอ ทุ่งกุลาร้องไห้ ไปยุโรปได้ลอตแรก และเป็นรายแรกในสินค้าจีไอ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ปริมาณ 25 ตัน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ และเมื่อส่งไปได้ และได้รับการตอบรับจากลูกค้า ผู้บริโภค และตลาดยุโรปให้ความสำคัญสินค้าจีไอมาก ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่ม 2 ตู้คอนเทนเนอร์ได้ในทันที และอนาคตเราก็จะพยายามขยายตลาดเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการทำนาหยอดด้วย

นอกจากนี้เรายังส่งออกไปตลาดอิสราเอล ตะวันออกกลางด้วย และอยู่ระหว่างการเจรจาส่งออกสินค้าข้าว จีไอ ทุ่งกุลาร้องไห้ไปในตลาดดูไบด้วย สินค้าที่ส่งออกอยู่ภายใต้แบรนด์ ศรีแสงดาว และทำให้ตลาดส่งออก 100% ขนาดถุงที่ทำส่งออกมีตั้งแต่ 1 กก.ถึง 25 กก.

ปัญหาส่งออกข้าว

เราทำส่งออกข้าว ถือว่าเป็นรายใหม่ในตลาด ก็ทำให้เจอปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ตรา Thai Hom Mali ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งยกระดับมาตรฐานใหม่ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ตลาดจำได้ คือ Thai Jasmine Rice ซึ่งเป็นมาตรฐานข้าวไทยที่ใช้มาตลอด 30 ปี ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจำได้ แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ใช้เยอะ ตลาดคู่แข่งก็ใช้ ทำให้ข้าวไทยต้องยกระดับมาตรฐานขึ้น แต่ตลาดยังจำมาตรฐาน ไม่ได้ ปัญหาก็ คือ ผู้ซื้อเองต้องการให้เราใช้ ตรามาตรฐานเดิมที่มี แต่เราก็พยายามผลักดันใช้มาตรฐานใหม่ของไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ว่า นี่เป็นข้าวที่มาจากประเทศไทย และเป็นข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จีไอ

โดยปัญหานี้ เราจะเจอกับลูกค้าบ่อยมากที่ต้องการให้เราเปลี่ยน ซึ่งต้องการให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้มากขึ้น และสุดท้ายสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ศรีแสงดาว เราต้องการ กู้ศักดิ์ศรีชาวนา สู่การแข่งขันในระดับโลกให้ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมต้องการก้าวไปให้ได้ในตลาดข้าวโลก