“สมคิด” โรดโชว์ ตปท.ดึงลงทุน ชงกฎหมาย PPP ใหม่รับเมกะโปรเจ็กต์

สมคิดดันเมกะโปรเจ็กต์ดูดเงินประมูลนักลงทุนไทย-เทศ เตรียมแผนโรดโชว์อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เกาหลี ญี่ปุ่น “คลัง” ดัน พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฉบับใหม่ จ่อเข้า ครม. เพิ่มประเภทโครงการนอกเหนืออินฟราสตรักเจอร์ เปิดท่อลงทุนโล่ง โดนหน่วยงานรัฐรุมแย้ง ชี้เร่ง-เร็ว รัฐอาจเสียประโยชน์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนให้เกิดการเปิดประมูลทั้งจากนักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติ นำเม็ดเงินเข้ามาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เป้าหมายมี 44 โครงการ มูลค่าลงทุน 2.02 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว 21 โครงการ อีก 23 โครงการประกวดราคาแล้วเสร็จ มีการเริ่มก่อสร้างแล้ว เตรียมเปิดให้บริการ

โดยโครงการที่พร้อมลงทุน ที่ผ่าน PPP และ ครม.อนุมัติแล้ว รวมถึงรถไฟความเร็วสูง 2 สาย คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างประกวดราคา

“การลงทุนจริงปีนี้จะพลิกโฉมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รถไฟฟ้า 10 สาย ตอนนี้มี 9 สาย กำลังอยู่ในขั้นตอนการประมูล จะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจทันที และจะมีโครงการรถไฟรางคู่ ที่เป็นหัวใจในการเชื่อมเมืองรอง เอื้อต่อการท่องเที่ยว ปีนี้จะทุ่มงบประมาณลงไปเพื่อต่อยอดสร้างรายได้ให้ประเทศ”

จัดโรดโชว์ ตปท.ขยายผลลงทุน

Advertisment

นายสมคิดกล่าวว่า เพื่อขยายผลเมกะโปรเจ็กต์ให้เกิดการตื่นตัวในการลงทุน ทั้งจากนักธุรกิจไทยและต่างประเทศ จะเน้นการทำตลาด เจาะนักลงทุนจากต่างชาติด้วยการโรดโชว์ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แผนปีนี้จะมุ่งนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมทั้งฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ

“ขณะนี้กำลังเตรียมการเรื่องจีน หลังจากเขาจัดโครงสร้างอำนาจลงตัว สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง คู่เจรจากับไทยจะยังเป็นนายหวังหย่ง มนตรีแห่งรัฐจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับไทย และนายหางเจิ้ง รองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 เข้ามาแทนนายจางเกาลี่ ส่วนอังกฤษก็เชิญชวนต้องการให้ไทยไปโรดโชว์ด้วยเช่นกัน อีกประเทศที่ฝ่ายข้อมูลรัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการคือ ฝรั่งเศส” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า บางประเทศต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการ

นายสมคิดยังได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งแก้ไขจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ฉบับปี 2556 ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของฝ่ายบริหาร ก่อนเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. “กฎหมายใหม่จะลดความซับซ้อนของหน่วยงานและครอบคลุมการลงทุนมากขึ้น มีความชัดเจนขึ้นว่า โครงการประเภทไหน เข้าข่าย-ไม่เข้าข่ายที่จะ “ร่วมทุน” มีบางกิจการไม่ใช่โครงการพื้นฐาน บางกรณีก็อาจนำเข้า PPP ได้ เช่น โครงการด้านการศึกษา โครงการบ้าน ซึ่งต้องเป็นโครงการที่ใหญ่พอ”

Advertisment

ดัน กม.ร่วมทุนฉบับใหม่ฯ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ฯ ล่าสุดยังไม่ลงตัว ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานก่อนเสนอ ครม.พิจารณา เพราะร่างกฎหมายใหม่แม้จะลดขั้นตอน ทำให้รวดเร็วขึ้น แต่มีประเด็นที่เกี่ยวพันกับองค์กรอื่น และมีความเห็นแย้งในประเด็นหลักการหลายประเด็น เช่น จะแยกกลุ่มโครงการที่เป็น “แผนลงทุนกับแผนร่วมลงทุน” ซึ่งในทางปฏิบัติยากจะแยกพิจารณา

นอกจากนี้มีประเด็นการถ่วงดุลอำนาจของหน่วยงาน กระทรวง กรรมการนโยบาย รมต. และ ครม. อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ เช่น ระบุว่า “การแก้ไขสัญญาถ้าไม่ผิดหลักการที่ ครม.ได้อนุมัติไว้ รมต.มีอำนาจดำเนินการได้ อาทิ หากเป็นกรณีที่ ครม.อนุมัติหลักการไว้ว่า การแบ่งปันรายได้ให้เป็นระบบ revenue sharing อัตรา 15% หากรายได้โครงการลดลง คู่สัญญาเอกชนจะตกลงกับ รมต.ลดรายได้ให้รัฐก็สามารถทำได้ เพราะถือว่าไม่ผิดหลักการ แต่รัฐจะเสียผลประโยชน์ทันที”

ตัดเช่าทรัพย์สิน-ที่ดินรัฐ

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …โดยปรับปรุง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 รอบรรจุเข้าที่ประชุม ครม.หลายสัปดาห์แล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างทำหนังสือเวียนสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเสร็จเรียบร้อยแล้วจะบรรจุเข้าวาระ ครม.ได้

“ที่ผ่านมา สคร.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายนี้หลายครั้ง ร่างที่เสนอจะแก้โดยเน้นส่งเสริมการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP มากขึ้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันกำหนดขั้นตอนเยอะมาก ต้องเสนอโครงการกลับไปกลับมาหลายขั้นตอน จึงปรับกระบวนการพิจารณาให้เร็วขึ้น นำกระบวนการที่เป็นฟาสต์แทร็กเหมือนกับที่ใช้กับ PPP ในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาใส่ในร่างกฎหมายนี้ พร้อมปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานสากล โปร่งใสมากขึ้น”

ร่างกฎหมายใหม่ได้ตัดโครงการที่มีลักษณะการเช่าทรัพย์สิน หรือที่ดินออกไป โดยเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุควบคู่กันด้วย รวมถึงกรณีเป็นที่ดินตามกฎหมายอื่น ที่หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมายตัวเองในการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น กรณีการเปิดประมูลบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หากยึดตามหลักสากลไม่เข้ากฎหมาย PPP

“กฎหมาย PPP ปัจจุบันกวาดทุกโครงการเข้ามาหมด แต่มาตรฐานสากลไม่มีเรื่องการเช่าทรัพย์สิน”

เลิก พ.ร.บ. PPP ปี”56 ไม่จูงใจ

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กฎหมาย PPP ควรมีลักษณะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน บนพื้นฐานหลักความเป็นหุ้นส่วนกัน มุ่งเน้นใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และเงินทุนของเอกชนในการให้บริการสาธารณะ และมีความโปร่งใส แต่ พ.ร.บ. PPP ปี 2556 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่ได้สะท้อนเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดทำโครงการหลายขั้นตอนเกินจำเป็น ส่งผลให้การจัดทำโครงการลงทุนล่าช้า รวมทั้งขาดมาตรการส่งเสริม โครงการร่วมลงทุนจึงไม่ประสบความสำเร็จ และไม่เป็นที่สนใจของเอกชน สคร.จึงได้ยกร่างกฎหมาย PPP ขึ้น หากมีผลบังคับใช้จะยกเลิก พ.ร.บ. PPP ฉบับปัจจุบัน

โดยร่างกฎหมายนี้จะเขียนให้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน PPP รวมถึงระบุโครงการที่จะดำเนินการ มีการทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (market sounding) ก่อนจะดำเนินโครงการ ให้ทราบว่าแต่ละโครงการเอกชนสนใจเข้าร่วมลงทุนแค่ไหน และนำระเบียบ PPP EEC Track ที่ใช้ใน EEC มาเป็นต้นแบบ

ส่งเสริมร่วมทุน PPP 13 กิจการ

ขณะที่กฎหมายกำหนดนิยาม “กิจการส่งเสริม” เป็นกิจการบริการสาธารณะที่รัฐจัดทำขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 13 กิจการ แต่สามารถเพิ่มเติมได้ ได้แก่ 1.กิจการถนน ทางหลวง ทางพิเศษ ขนส่งทางถนน 2.รถไฟ รถไฟฟ้า ขนส่งทางราง 3.ท่าอากาศยาน ขนส่งทางอากาศ 4.ท่าเรือ ขนส่งทางน้ำ 5.การจัดการน้ำ การชลประทาน ประปา บำบัดน้ำเสีย

6.กิจการพลังงาน 7.กิจการโทรคมนาคม กิจการการสื่อสาร 8.กิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 9.กิจการโรงพยาบาล กิจการสาธารณสุข 10.กิจการโรงเรียน กิจการการศึกษา 11.กิจการที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ 12.ศูนย์นิทรรศการและศูนย์ประชุม 13.กิจการอื่นตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด

กำหนดให้โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการร่วมลงทุนตามกฎหมายนี้ จากเดิมที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดว่า โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. PPP นอกจากนี้ร่างกฎหมายจะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ใน 180 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อออกประกาศและแนวทางปฏิบัติที่จำเป็น ให้ใช้กฎ ระเบียบเดิมไปก่อน

“ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายเดิม ทั้งที่เป็นโครงการ PPP ตามกฎหมายใหม่ จะมีขั้นตอนให้ปฏิบัติให้เดินหน้าต่อ และดำเนินการตามกฎหมายใหม่ โครงการที่ไม่เป็น PPP ตามกฎหมายใหม่จะให้ยุติโครงการ”

ย้อนรอยโครงการร่วมทุน PPP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบโครงการที่เป็นลักษณะการเช่าทรัพย์สินของรัฐ ที่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. PPP ไปแล้ว อาทิ 1.สัญญาเช่าพื้นที่โครงการอู่เรือบริเวณแหลมฉบัง ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร่วมเอกชนคู่สัญญาคือ บจ.ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง ระยะเวลา 30 ปี (18 ธ.ค. 2533 ถึง 17 ธ.ค. 2563) 2.การจัดให้เช่าที่ราชพัสดุแก่ บมจ.ไทยออยล์ ระยะเวลาโครงการ 30 ปี (11 ก.ย. 2535 ถึง 10 ก.ย. 2565)

3.สัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างกรมธนารักษ์กับ บจ.เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ 30 ปี (1 ธ.ค. 2534 ถึง 30 พ.ย. 2564) 4.โครงการสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสี่แยกปทุมวัน ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ บมจ.เอ็ม บี เค 20 ปี (22 เม.ย. 2556 ถึง 21 เม.ย. 2576) 5.โครงการสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรม ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ บจ.สยามสแควร์ทาวเวอร์ 20 ปี (9 พ.ย. 2557 ถึง 8 พ.ย. 2577) และ 6.โครงการสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับ บจ.เซ็นทรัล อินเตอร์พัฒนา จำกัด 20 ปี (19 ธ.ค. 2551 ถึง 18 ธ.ค. 2571) เป็นต้น

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้