ลุ้น”ทีโออาร์”เปิดนำเข้าก๊าซ LNG กฟผ.เปิดทางเฉพาะบ.ไทยเข้าประมูล

เอกชนลุ้น กฟผ.ปรับ TOR ประมูลนำเข้า”ก๊าซ LNG” หลังติงไม่ควรกำหนดคุณสมบัติว่าต้องมีประสบการณ์นำเข้าก๊าซ หวั่นเข้าทาง ปตท.รายเดียว ลอตแรกให้จำกัดเฉพาะบริษัทคนไทยก่อน จับตาเชลล์ บริษัทพลังงานจากจีนและญี่ปุ่นโดดร่วมประมูล คาด กฟผ.เปิดประมูล เม.ย.นี้

 

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เตรียมเปิดประมูลเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำร่องที่ 1.5 ล้านตัน ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานในการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กฟผ.ได้เชิญผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมารับทราบรายละเอียดเบื้องต้น และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการ เนื่องจากธุรกิจก๊าซ กฟผ.ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยในเบื้องต้นภาคเอกชนได้ให้ความเห็นใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1) กฟผ.ไม่ควรกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นว่า

ผู้สนใจจะต้องมีประสบการณ์ในการนำเข้าก๊าซมาก่อน ซึ่งก็เท่ากับว่าจะมีเพียง ปตท.เท่านั้นที่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ และจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กพช.ที่ต้องการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ และ 2) ในการนำเข้าก๊าซ LNG ลอตแรกนั้นควรกำหนดให้มีเพียงบริษัทสัญชาติไทยเข้าร่วมประมูลเท่านั้น หลังจากนั้นจึงเปิดกว้างให้บริษัทต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมประมูลได้

ทั้งนี้ คาดว่า กฟผ.กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขการประมูล (TOR) และจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยขณะนี้ไม่ได้มีเพียง 5 กลุ่มที่สนใจเข้าร่วมประมูลตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เช่น ปตท., บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ที่จับมือกับบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เท่านั้น ล่าสุดได้มีบริษัทพลังงานต่างชาติที่แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูล และจะใช้วิธีร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทคนไทย หรือใช้บริษัทสาขาในไทย เช่น บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจด้วย แต่ที่วงการธุรกิจก๊าซต้องน่าจับตาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงธุรกิจก๊าซ คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับบริษัทโตเกียวแก๊ส เพื่อเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย

“ถือเป็นครั้งแรกที่นโยบายของรัฐเปิดทางให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำเข้าก๊าซ LNG ได้ มันจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย และการแข่งขันจะสูงมาก เพราะตอนนี้ทั้งไทยทั้งต่างชาติสนใจในตลาดก๊าซ LNG ในไทยที่จะมีการขยายตัวในอนาคต รวมถึงตอนนี้การจัดหาก๊าซ LNG ก็ง่ายมากขึ้นเมื่อเทียบจากก่อนหน้านี้ ตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อ ยิ่งทำให้ตลาดก๊าซ LNG น่าเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในไทยที่ความต้องการใช้ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเพื่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ.เองก็เป็นผู้ใช้หลักก็ควรมีทางเลือกในการนำเข้าก๊าซเพื่อให้กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด”

Advertisment

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก๊าซ LNG ลอตแรกของ กฟผ.จะต้องนำเข้ามาภายในช่วงปลายปี 2560 นี้เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ.ควรเร่งดำเนินการขั้นตอนการเปิดประมูล เพื่อให้ผู้ชนะประมูลได้มีเวลาในการดำเนินการการเจรจาซื้อขายก๊าซ LNG กับผู้ผลิตต่อไป

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ขณะนี้ กกพ.อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่อง โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 1 ซึ่งในสาระสำคัญคือ ข้อเสนอโครงสร้างราคาก๊าซเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซ โดยเฉพาะโครงสร้างราคาที่จำแนกตามกลุ่มผู้ใช้ก๊าซไว้ 3 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าของ shipper ของ กฟผ.นั้นระบุว่า ราคาก๊าซ LNG ที่จัดหาโดย กฟผ.ในปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี สำหรับจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าตามที่กำหนด ให้คิดจากราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซ LNG ของ กฟผ.ที่ส่งเข้าระบบก๊าซ โดยที่ราคา LNG คำนวณจากราคานำเข้า LNG แบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาเนื้อก๊าซ LNG ของ กฟผ.ในถังเก็บและนำเข้าในแต่ละเดือน และคำนวณจากปริมาณ LNG ที่มีการส่งเข้าระบบท่อส่งก๊าซ