SPCG ชี้ลดค่าไฟ 3.99 บาทไม่กระทบธุรกิจ มองโอกาสดึงดูดนักลงทุนหนุนเปิดเสรีไฟฟ้า

ค่าไฟ

SPCG ชี้การปรับลดค่าไฟ 3.99 บาทไม่กระทบธุรกิจ มองโอกาสดึงดูดนักลงทุนเข้าไทย หนุนเปิดเสรีไฟฟ้า ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 พร้อมจับมือ INNOPOWER “ซื้อขาย” ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน REC ประเดิมปีแรก 36 โครงการ รวม 360 เมกะวัตต์ 4 แสน REC

วันที่ 20 กันยายน 2023 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” ผู้บุกเบิกและผู้นำธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและอาเซียน เปิดเผยว่า นโยบายปรับลดค่าไฟฟ้า เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับภาพครัวเรือนผู้ใช้ไฟฟ้า และภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่จะมีต้นทุนในการผลิตสินค้าถูกลง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการดึงดูดการลงทุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตสินค้า

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าระยะยาวจะต้องไปปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม เพื่อจะรักษาเสถียรภาพราคา

“การลดค่าไฟจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งทางบริษัทมองว่าหากรัฐบาลจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์เพราะไทยเป็นประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้ดีมากกว่าหลาย ๆ ประเทศในโลก ฉะนั้นรัฐบาลควรวางมาตรการในการส่งเสริมการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟใช้เองหรือสำหรับการขายระหว่างกลุ่มผู้ผลิตและโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายเข้าสู่ grid เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องก้าวเข้าสู่การเป็น net zero ในปี 2065”

Advertisment

พร้อมกันนี้ SPCG ประกาศเจตนารมณ์เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2573 พร้อมลงนามข้อตกลงสัญญาให้บริการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ร่วมกับนายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด “INNOPOWER” บริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงาน

ดร.วันดีกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วม “ความตกลงปารีส” หรือ “Paris Agreement” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดยประเทศไทยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ซึ่งกำหนดเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 รวมทั้งได้ยกระดับเป้าหมาย National Determined Contribution หรือ NDC โดยเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2573

SPCG ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อีกทั้งยังตั้งปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ ธุรกิจของเราจึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และไม่มีการปลดปล่อยของเสีย ทำให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 200,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน

Advertisment

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงสัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ร่วมกับนายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด “INNOPOWER” บริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงาน โดย INNOPOWER จะเป็นผู้แทนในการบริหารจัดการและซื้อขายเเลกเปลี่ยน REC ในระยะเวลา 5 ปีโดย SPCG คาดว่าโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Farm ทั้ง 36 โครงการในประเทศไทย รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ของบริษัทนั้น จะสามารถออก REC ได้ประมาณ 370,000 RECs ต่อปี คาดว่าจะเริ่มการซื้อขายได้ไตรมาส 4 ปีนี้

“SPCG มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ INNOPOWER โดยการร่วมมือดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการใช้และการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) และขอเชิญชวนทุกท่านให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาโลกของเรา เพื่อส่งผ่านไปยังลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป” ดร.วันดีกล่าว

ด้านนายอธิประบุว่า ภาคพลังงานขนส่งคงจะเป็นอันดับแรก ๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ที่ทุกคนอาจนึกถึงไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม บ้านเรือน หรือแม้กระทั่งการเดินทาง ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่เป็นภารกิจของ INNOPOWER คือการค้นหาเทคโนโลยีที่จะทำให้การใช้ชีวิตของเราทุกคนเป็นไปได้อย่างปกติ แต่ในขณะเดียวกันต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลง

รวมทั้งทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องมีการกล่าวถึงเรื่องของพลังงานทดแทนอย่างแน่นอน เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก INNOPOWER จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดผ่านธุรกิจการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (I-RECs) นอกจากนั้น INNOPOWER ยังเสาะแสวงหาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รวมถึงในอนาคตจะมีการเฟ้นหานวัตกรรมต่าง ๆ ในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ INNOPOWER ในการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมความยั่งยืนในธุรกิจและเดินหน้าต่อยอดธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ด้วยเช่นกัน