ส.อ.ท.รับได้ขึ้นค่าแรง 2.3% นายจ้าง-แรงงานอยู่ได้ ลุ้นรัฐตรึงค่าไฟ 3.99 บาท

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

ส.อ.ท.รับได้ขึ้นค่าแรง 2.3% นายจ้าง-แรงงานอยู่ได้ ลุ้นค่าไฟต่อสัปดาห์หน้า หวังรัฐตรึง 3.99 บาท รักษาความสามารถในการแข่งขันไทยเทียบคู่แข่ง ค่าแรง-ค่าไฟ ต้นทุนเอกชนปี 2567

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ที่กระทรวงแรงงานในวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มในอัตราวันละ 2-16 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.37 ต่อวัน หรือเฉลี่ยทั่วประเทศ 345 บาทต่อวัน) ถือว่าสูงขึ้นเล็กน้อยที่ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต่างยอมรับได้ เพราะยึดตามกลไกของไตรภาคีแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างใหม่แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยอัตราสูงสุดคือจังหวัดภูเก็ต วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดคือ จังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี, และยะลา วันละ 330 บาท ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. 12 ธันวาคม 2566 นี้ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าไฟและค่าแรงเป็นต้นทุนสำคัญของภาคเอกชนในปี 2567 ซึ่งการปรับส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผลิตและส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน

อภิชิต ประสพรัตน์
อภิชิต ประสพรัตน์

“การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงาน 2.3% นั้นเป็นระดับเอกชนรับได้ เพราะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมไตรภาคี ซึ่งพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ แล้วคงเห็นเป็นตัวเลขที่เหมาะสมให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ ขณะที่ค่าไฟซึ่งเอกชนหวังว่าจะพิจารณาให้คงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ที่ระดับ 3.99 บาทต่อไป เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ไทย

เพราะหากเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งที่ผลิตสินค้าคล้ายกันส่งไปยังตลาดเดียวกัน ตอนนี้ต้นทุนค่าไฟเวียดนาม 2 บาท/หน่วย ค่าแรงงานก็ต่ำกว่าไทย และยังมีจำนวนประชากรวัยทำงานมากกว่าไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับเอสเอ็มอี”