ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศวอนนายกรัฐมนตรีและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เร่งปราบปราม “หมูเถื่อน” และกวาดล้างที่หมูผิดกฎหมายยังคงซุกซ่อนในห้องเย็นจำนวนมาก ทั้งคดี 161 ตู้ และ 2,385 ใบขนสินค้า น้ำหนักมากกว่า 64,500 ตัน หวั่นคดีล่าช้าหมูเถื่อนถูกระบายสู่ตลาดบิดเบือนกลไกตลาด กดราคาในประเทศให้ตกต่ำ อุตสาหกรรมไม่ฟื้นตัว
วันที่ 23 มกราคม 2567 การปราบปรามหมูเถื่อนนานกว่า 2 ปี สามารถดำเนินคดีใหญ่กว่า 64,500 ตัน คือคดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ น้ำหนัก 4,500 ตัน และคดีหมูเถื่อนสำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์และอาหารปลาแช่แข็ง เล็ดลอดจากท่าเรือแหลมฉบังอีก 2,385 ใบขนสินค้า น้ำหนักมากกว่า 60,000 ตัน (60 ล้านกิโลกรัม) ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศรอจังหวะขายปะปนกับหมูไทยบนเขียงหรือช่องทางออนไลน์
แต่ทว่าการดำเนินคดีหมูเถื่อนหยุดชะงักมานานกว่า 1 เดือน หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปลี่ยนไปทำคดีสวมสิทธิตีนไก่ 10,000 ตู้ ทั้งที่การสอบสวนคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ก่อนหน้านี้มีความคืบหน้าไปมาก พบผู้กระทำผิด 18 บริษัท จับกุมแล้ว 10 บริษัท และมีการยึดทรัพย์จากการกระทำผิดแล้ว 92 ล้านบาท
ส่วนการขยายผลหมูเถื่อน 2,385 ใบขนสินค้า อยู่ระหว่างรอเอกสารจากกรมศุลกากร และใบรับรองการส่งมอบสินค้าของบริษัทเดินเรือ (Bill of Lading : BL) เพื่อนำไปตรวจสอบปลายทางส่งมอบสินค้าและจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ขณะนี้คดีกลับไม่คืบหน้า
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีเร่งรัดการทำงานซ้ำอีกครั้ง ให้ DSI นำคดีกลับเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อขุดรากถอนโคนผู้กระทำผิดโดยเร็ว เพราะหมูเถื่อนกว่า 60 ล้านกิโลกรัมเล็ดลอดออกมาขายในตลาด ทำให้ปริมาณหมูเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าความต้องการ กดราคาในประเทศให้ตกต่ำ
ขณะที่เกษตรกรพยายามฟื้นฟูฟาร์มและนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ หลังเจอปัญหาโรคระบาด ASF ตั้งแต่ปี 2565 แต่เมื่อผลผลิตพร้อมกลับต้องขายขาดทุน ที่สำคัญหมูเถื่อนยังอยู่ในประเทศอีกจำนวนมาก
โดยขณะนี้ผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยต้องแบกภาระขาดทุนมานานกว่า 10 เดือน แม้ราคาหน้าฟาร์มจะทยอยปรับขึ้นตามอุปสงค์-อุปทาน ก็ตาม แต่ราคาเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 70-76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนผลิตเฉลี่ยยังสูงกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม
“หากหมูเถื่อนที่ยังซุกซ่อนอยู่ในห้องเย็นกระจายออกสู่ตลาด จะเป็นการเพิ่มซัพพลายให้สูงผิดปกติ ราคาจึงถูกกดให้ต่ำ ทำให้เกษตรกรยังคงเผชิญปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง และอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมสุกรที่เพิ่งฟื้นตัว”
นายสิทธิพันธ์กล่าวย้ำว่า หมูเถื่อนยังถูกซุกซ่อนในห้องเย็นอีกมาก ทำให้การปรับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มต้องทำแบบระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และต้องดูแลเกษตรกรให้ได้รับราคาที่เป็นธรรมควบคู่ไปด้วย
จึงขอเรียกร้องให้ DSI เดินหน้าปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้นำเข้าหมูเถื่อนให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายโดยเร็ว เพื่อนำตัวคนผิดทุกรายไปรับโทษตามความผิด และตรวจค้นห้องเย็นทั่วประเทศต่อเนื่อง กวาดล้างหมูเถื่อนให้หมด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้หมูไทยเข้าสู่ตลาดได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งราคาจะปรับตามกลไกตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรเดินหน้าผลิตหมูคุณภาพสูง ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีสารเร่งเนื้อแดง เพื่อสุขภาพที่ดีและความมั่นคงทางอาหารของคนไทยในระยะยาว