โคบาลชายแดนใต้ 1.5 พันล้านบาทฝุ่นตลบ จัดหาแม่โคผิดสเป็ก

วัว

กรมปศุสัตว์ชี้แจง กรณีจัดหาแม่โคใน “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะของโครงการ เร่งตั้งกรรมการตรวจสอบ ชี้หากเกิดจากความบกพร่องเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

วันที่ 25 มกราคม 2567 กรมปศุสัตว์ชี้แจงรายละเอียด “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ตามที่ปรากฏข่าวการจัดหาแม่โคของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดปัตตานีไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะของโครงการ ย้ำขณะนี้เป็นการดำเนินงานระยะนำร่อง โดยกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาแม่โคเอง เนื่องจากเป็นเงินกู้ที่เกษตรกรกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้พันธุ์สัตว์ไม่เป็นตามคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนด หากเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏข่าว ว่าการจัดหาแม่โคในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อในโครงการ

ประภาส ภิญโญชีพ

โดยมีลักษณะซูบผอม เพื่อให้ทราบว่าการจัดหาพันธุ์สัตว์ในโครงการมีปัญหาอุปสรรคใด หรือมีข้อบกพร่องตรงไหน ตามข้อสั่งการของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจ ติดตาม และประเมินผลทุกโครงการที่ดำเนินงาน เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างทันท่วงที อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

สำหรับโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” กรมปศุสัตว์ดำเนินการร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กรอบวงเงิน 1,566.20 ล้านบาท การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในโครงการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในหมู่บ้านจะได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในระดับต้นน้ำ กลุ่มละ 1.55 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรม 4 กิจกรรม ดังนี้

    1. จัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละไม่น้อยกว่า 20 ไร่ เงินกู้ยืม 100,000 บาท
    2. ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อ (คอกกลาง) จำนวน 1 โรงเรือน เงินกู้ยืม 350,000 บาท
    3. จัดหาแม่โคพื้นเมือง จำนวน 50 ตัว ตัวละไม่เกิน 17,000 บาท เงินกู้ยืม 850,000 บาท
    4. การจ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม จำนวนไม่เกิน 3 คน เงินกู้ยืม 250,000 บาท

สำหรับกรณีกลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานีบางกลุ่มร้องเรียนว่า “แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มมีลักษณะซูบผอม น้ำหนักไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อในโครงการ” กรมปศุสัตว์ขอชี้แจงว่า การจัดหาพันธุ์สัตว์ในโครงการที่ใช้เงินนอกงบประมาณกล่าวคือ เป็นเงินกู้ของเกษตรกรจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

ได้ดำเนินการตามหลักการที่สำคัญคือ การให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เองตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยกำหนดสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกันหากไม่ถูกต้องตามที่กำหนดผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร

ส่วนข้อร้องเรียนของเกษตรกรตามที่ปรากฏข่าว กรมปศุสัตว์ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้น พบว่าช่วงระยะเวลาที่ได้ทยอยส่งมอบและตรวจรับแม่โคตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นช่วงเวลาที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบสภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์บางส่วนของโครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแม่โคมีความเครียด ได้รับอาหารไม่เพียงพอ และบางตัวป่วย

กรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเร่งฟื้นฟูสุขภาพแม่โคเนื้อที่ได้รับผลกระทบตามหลักวิชาการ ให้วิตามินและอาหารเสริมแก่แม่โคพื้นเมือง เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยเร็ว กรณีที่กลุ่มเกษตรกรมีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวสัตว์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการ

กรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ขายดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเรียบร้อยแล้ว สำหรับกลุ่มเกษตรกรระยะนำร่องในจังหวัดอื่นจะได้ตรวจสอบ หากพบปัญหาลักษณะเดียวกันจะช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพสัตว์โดยเร่งด่วนต่อไป

“กรมปศุสัตว์จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยร่วมกับ ศอ.บต. และกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่ามีปัญหาอุปสรรคอื่นใดอีกหรือไม่ หากกรณีที่เกิดขึ้นมาจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด อีกทั้งจะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามและประเมินผลโครงการเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”