IRPC ฝ่าความท้าทายปี’66 กอดรายได้เฉียด 3 แสนล้าน กัดฟันจ่ายปันผล 0.03 บาท

IRPC ฝ่าความท้าทายปี 2566 กอดรายได้เฉียด 3 แสนล้านบาท ไฟเขียวจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 0.03 บาทต่อหุ้น เร่งสร้างโอกาสทางธุรกิจจับมือพันธมิตรพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ปูทางต่อยอดธุรกิจ New s-curve ยกระดับสตาร์ตอัพและ SMEs ไทยแข็งแกร่งเข้าสู่สนามการค้าโลก พร้อมปรับตัวดำเนินงานด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง แม้ผลประกอบการไตรมาส 4/2566 ได้รับผลกระทบจากความผันผวนเศรษฐกิจและปัจจัยลบจากทั่วโลก

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่าปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 299,075 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 22 ตามราคาน้ำมันดิบที่ ปรับตัวลดลง

ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยมี Market GIM อยู่ที่ 19,344 ล้านบาท (7.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 19

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2566 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ เศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวตามตลาดคาดการณ์ ประกอบกับการล้มละลายของหลายธนาคารในสหรัฐ ยุโรป และจีน ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งผลให้บริษัทบันทึก Net Inventory Loss รวม 1,123 ล้านบาท หรือ 0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมี Accounting GIM จำนวน 18,221 ล้านบาท หรือ 7.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน ทำให้บริษัทมี EBITDA จำนวน 5,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,767 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 และผลประกอบการปี 2566 บริษัทขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2565 ที่ร้อยละ 33

“ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ตลอดสถานการณ์ตลาดปิโตรเคมีที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้ IRPC ต้องเผชิญความท้าทายและปรับตัวให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพแข็งแกร่งยั่งยืน”

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 4/2566 บริษัท มีรายได้จากการขายสุทธิ 75,296 ล้านบาท ลดลง 1,968 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 4 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1

โดยบริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 2,719 ล้านบาท (4.31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 49 และบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Loss) รวม 1,986 ล้านบาท หรือ 3.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 733 ล้านบาท (1.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 92 ส่งผลให้บริษัทมี EBITDA ติดลบ จำนวน 2,256 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 3,417 ล้านบาท

นายกฤษณ์กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ IRPC ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามยุทธศาสตร์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางวัสดุ และพลังงาน โดยเล็งเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ และร่วมพัฒนาส่งเสริมธุรกิจกลุ่มสตาร์ตอัพ

ล่าสุด IRPC ได้เพิ่มทุนในบริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP) เพื่อนำงานวิจัยพัฒนาไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ ซึ่งการเข้าเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้ IRPC ได้เข้าสู่ระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ (Startup Ecosystem) เพื่อเชื่อมต่อไปสู่ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ที่มีศักยภาพ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ New s-curve ของ IRPC สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท

นอกจากนั้น IRPC ยังร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” ในการยกระดับการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันให้แก่สตาร์ตอัพ และ SMEs ไทยที่ต้องการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้สามารถเติบโตได้ในประเทศและมีศักยภาพออกไปแข่งขันในสนามการค้ากับนานาชาติอื่น ๆ ได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง

ส่วนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) มีความพร้อมผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หรือน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ ตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่ม และบริษัทยังได้ดำเนินโครงการ SOS ติดตามความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขรับมือได้อย่างทันท่วงที โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้บริษัท มีผลประกอบการเป็นไปตามแผนธุรกิจ

โดยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ อาทิ การเปลี่ยนวิธีการบันทึกสำรองการด้อยค่าพัสดุคงคลัง (Spare Part) การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory) และการบริหารความเสี่ยงด้านราคาน้ำมัน (Hedging)

ขณะเดียวกัน IRPC ก็ยังคงเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และขยายกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ลอยน้ำหรือ Floating Solar เพิ่มขึ้นอีก 8.5 เมกะวัตต์ พร้อมบูรณาการความยั่งยืนของธุรกิจ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2566 ในอัตรา 0.03 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 613 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 5 เมษายน 2567 ต่อไป