ปตท.ส่อวืด “คลังก๊าซลอยน้ำ” ให้บุคคลที่3กฟผ.-กัลฟ์ฯทำตลาดLNG

ปตท.ส่อวืดโปรเจ็กต์คลังก๊าซลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่จะนะ-กันบ่อก เมียนมา หลังรัฐเตรียมเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติเฟสแรก ก.ย.นี้ อาจเปิดทางผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาด ล่าสุดมีเพียง “กฟผ.-กัลฟ์ฯ” ด้าน กฟผ.ต้องตั้งบริษัทใหม่พร้อมแยกบัญชีออกจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า คาดนำเข้าก๊าซลอตแรกปี “61 รองรับการผลิตไฟเป็นหลัก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน ด้วยการเปิดให้เอกชนรายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่สนใจเป็นผู้นำเข้า รวมถึงค้าส่ง ค้าปลีก รวมถึงเข้ามาขอ “จองใช้” คลัง และระบบท่อก๊าซธรรมชาติเหลว โดยเฉพาะในส่วนขยายเพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง นั้น ล่าสุดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีแนวคิดที่อาจจะเปิดให้เอกชนรายอื่น ๆ ที่มีความพร้อมเป็นผู้พัฒนาใน 2 โครงการที่ได้ให้ ปตท.ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นไปก่อนหน้านี้ คือ 1) โครงการคลังก๊าซลอยน้ำหรือ FSRU (Floating Storage Regasification Unit) ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 2 ล้านตัน ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 26,000 ล้านบาท และ 2) โครงการคลังก๊าซลอยน้ำในพื้นที่กันบ่อก ประเทศเมียนมา กำลังผลิต 3 ล้านตัน คาดใช้เงินลงทุน 28,000 ล้านบาท อีกด้วย

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (31 ก.ค.2560) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เพียงแต่ “รับทราบ” รายงานการศึกษาทั้ง 2 โครงการเท่านั้น แต่ไม่ได้อนุมัติให้ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ปตท.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG ในสัญญาระยาว (Long Term) แล้วในหลายสัญญา รวมกำลังผลิต 5 ล้านตันไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลภาพรวมทั้งหมดของกิจการก๊าซธรรมชาติ จะต้องพิจารณาความเหมาะสมว่าจะให้ใครเป็นผู้ลงทุนใน 2 โครงการดังกล่าว ทั้งนี้ กพช.ได้อนุมัติโครงการคลังก๊าซลอยน้ำบนพื้นที่อ่าวไทย กำลังผลิต 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปแล้ว ซึ่งปริมาณก๊าซทั้งหมดจะนำมาเพื่อรองรับการใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ พระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง รวมถึงอาจจะมีการส่งให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต

“การให้ ปตท.ศึกษาความเหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าจะให้ ปตท.เป็นผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดเสรีจึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกัน แต่หากไม่มีเอกชนรายอื่นที่มีความพร้อมก็อาจจะต้องใช้กลไกอย่าง ปตท.เป็นผู้ดำเนินการ เพราะในอนาคตความต้องการใช้ก๊าซ LNG ในประเทศจะเพิ่มขึ้นแน่นอน”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เร็ว ๆ นี้กรมเชื้อเพลิงฯ ยังเตรียมที่จะนำเสนอรายละเอียดของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (LNG National Plan : portfolio) ที่กำหนดสัดส่วนของการนำเข้าก๊าซ ทั้งจากสัญญาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไว้อย่างชัดเจน รวมถึงการกำหนดเพดานราคาก๊าซขั้นต่ำของผู้นำเข้าให้อยู่ในระดับที่เหมะสมต่อ กพช.เพื่อให้การนำเข้ามีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ส่วนของการให้ใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการก๊าซนั้น ขณะนี้มีเพียง 2 รายที่ได้รับใบอนุญาตในการทำธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ คือ กฟผ. และกลุ่มกัลฟ์ฯ (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ หรือ IPP) ซึ่งในส่วนขยายอีก 1.5 ล้านตันดังกล่าว ปตท.ก็ยังสามารถเข้ามาจองใช้เหมือนกับรายอื่น ๆ เช่นกัน ในส่วนของ กฟผ.ที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือ จะต้องไปดำเนินการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับธุรกิจการนำเข้าก๊าซ และต้องแยกบัญชีออกจากธุรกิจไฟฟ้าเพื่อความโปร่งใส

“ตอนนี้อาจจะยังมองไม่ออกว่ามันแข่งขันหรือไม่อย่างไร เพราะตลาดไฟฟ้าของไทยไม่มีการแข่งขัน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี วันนี้ก็ถือว่าเราได้เริ่มนับหนึ่งสำหรับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแล้ว ส่วนการเข้าสู่การเปิดเสรีในระยะที่ 2-3 จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น จะต้องดูว่าระบบที่เริ่มเดินไปแล้ววันนี้มันจะเวิร์กหรือไม่”