ถกยาว “เหมืองทองคำอัครา” ลากเข้า TAFTA จ้างบริษัทกฎหมายฝรั่ง

กพร.เร่งจ้างที่ปรึกษากฎหมายต่างชาติถก “เหมืองทองอัครา” รอบ 2 เดือนสิงหาคมนี้ หลังถกนัดแรกไร้ข้อสรุป เผยรัฐหนุนทำเหมืองทองในไทย แต่คุมเข้มภายใต้ พ.ร.บ.แร่ใหม่ เตรียมประกาศใช้ 29 ส.ค.นี้

นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน ส.ค. 2560 นี้ เตรียมเจรจากับทาง บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ขึ้นครั้งแรก ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางแร่เศรษฐกิจ และตั้งคณะผู้แทนเจรจากับทางบริษัทคิงส์เกตฯ รวมถึงจ้างที่ปรึกษากฎหมายต่างชาติซึ่งในการประชุมครั้งถัดไปยังคงจะหารือในภาพรวมของการจัดทำยุทธศาสตร์แร่ทองคำในประเทศไทย ที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. …. ฉบับใหม่ ที่จะนำหลักการของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มาบัญญัติรวมไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่และการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 29 ส.ค. 2560

“รัฐบาลยังคงสนับสนุนการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจนและเข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากในขณะนี้บริษัทกำลังเข้าสู่กระบวนการหารือ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (TAFTA) กับรัฐบาลอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ๆ ในการศึกษาเงื่อนไขแต่ละข้อ การจะปฏิบัติตามยุทธศาสตร์แร่ทองคำที่กำหนดนั้น จึงอาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่จะให้ข้อคิดเห็นในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความจริงใจ ตั้งใจดีเสมอมา และตลอดระยะเวลา 15 ปีที่เปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำ และคำนึงถึงชุมชนที่อาศัยอยู่เสมอ ด้วยการทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ดำเนินการด้วยมาตรฐานสากลตลอดมา

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยจะใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการแร่ทองคำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ประกอบด้วย 7 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการบริหารจัดการแหล่งแร่ทองคำ กำหนดให้มีการประมูลสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ที่ภาครัฐสำรวจและมีข้อมูลเพียงพอ ห้ามมิให้ส่งออกโลหะผสมทองคำไปต่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขการจ้างงานชาวไทย ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน ยกระดับการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต

2.ปรับปรุงผลตอบแทนแก่รัฐให้เหมาะสม และกระจายให้ท้องถิ่น จัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่

3.ด้านความปลอดภัย การป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ กำหนดให้มีการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดผลกระทบ จัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง และทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

4.ด้านการกำกับดูแลคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ มีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมเป็นกรรมการ

5.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในขั้นตอนการขออนุญาต ขั้นตอนการขอประทานบัตรและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในขั้นตอนการประกอบกิจการ โดยให้มีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุม

6.ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมชุมชน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามและผ่านการทวนสอบมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) ยกระดับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำให้มีความรับผิดชอบตามมาตรฐานสากล และ 7.ด้านอื่น ๆ กำหนดให้การขอต่ออายุประทานบัตรแร่ทองคำและการเพิ่มชนิดแร่ทองคำ ใช้นโยบายนี้โดยอนุโลม แต่ไม่ครอบคลุมถึงการร่อนแร่ทองคำ