ร้องกนอ.ถก16รง.ค้างจ่าย”ค่าเขื่อนนิคมบางปะอิน”

ผู้พัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ร้อง กนอ.ช่วยเคลียร์ผู้ประกอบการ16 รายหลังยื้อจ่ายค่าสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมใหญ่ปี”54 เผยครบดีลจ่ายคืนแบงก์ออมสิน 700 ล้าน “เทยิน และเม็กเท็ค” ไม่มั่นใจความแข็งแรง ขอเรียกดูเอกสารการยินยอม หากตกลงกันไม่ได้จ่อฟ้องศาลแพ่งคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยตามกฎหมาย

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการสายงานบริการและลูกค้าสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรอบนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ซึ่งเคยเป็น 1 ใน 6 นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมและได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อปี 2554 โดยบริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินได้ขอให้ทาง กนอ.เข้าไปประสานทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ 16 ราย ที่ตั้งโรงงานอยู่ภายในนิคม เนื่องจากได้ค้างชำระเงินกู้สำหรับสร้างเขื่อนคอนกรีตถาวรรอบนิคมเพื่อป้องกันน้ำรอบนิคม ที่ทางบริษัทผู้พัฒนาที่ดินเป็นผู้กู้มาดำเนินการ

ทั้งนี้ หลังจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 รัฐบาลมีนโยบายและสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของค่าสร้างเขื่อนป้องกันรอบนิคม โดยใช้แบบก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานกลางเดียวกันทั้งหมดทุกนิคมตามที่รัฐได้ออกแบบไว้ให้ ขณะเดียวกัน หากนิคมรายใดจะก่อสร้างเขื่อนเพิ่มเติมจากแบบกลางก็สามารถทำได้ โดยธนาคารออมสินจะให้สินเชื่อกู้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี

ปลอดเงินต้น 5 ปี โดยระยะผ่อนชำระคืน 15 ปี

ทางนิคมได้กู้เงินจากธนาคารออมสินตามโครงการดังกล่าว 700 ล้านบาท และเก็บจากโรงงานทั้งหมดที่อยู่ภายในนิคมเพื่อมาผ่อนชำระคืน โดยจะคำนวณจากพื้นที่ของโรงงานเพื่อเฉลี่ยเป็นรายจ่ายที่ทางบริษัทที่ดินฯจะเรียกเก็บ ซึ่งส่วนใหญ่ยินยอมเนื่องจากทราบถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างเขื่อนดีและเพื่อส่วนรวม ล่าสุดครบกำหนดระยะชำระเงินกู้คืนให้กับทางธนาคารออมสินเมื่อเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา แต่กลับพบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะรายเล็กที่ยังคงปฏิเสธที่จะร่วมจ่ายค่าสร้างเขื่อนดังกล่าว

นายจักรรัฐกล่าวว่า กนอ.ได้หารือกับบริษัทเทยิน และบริษัทเม็กเท็ค 2 บริษัทรายใหญ่ที่ตั้งอยู่ในนิคม โดยผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลและท้วงติงหลายประการ 1.ความแข็งแรงมั่นคงของเขื่อน ซึ่งทางบริษัทที่ดินจึงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทางเทคนิคของตัวเขื่อนเพื่อนชี้แจงต่อ

ผู้ประกอบการ 2.ผู้ประกอบการไม่ได้รับแจ้งจากทางบริษัทที่ดินฯว่าจะต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างเขื่อน หรือมีเอกสารยินยอมที่จะช่วยชำระหนี้ 3.ไม่มั่นใจว่าทางบริษัทที่ดินฯจะไม่คิดดอกเบี้ยหรือส่วนเกินที่ได้เฉลี่ยเก็บจากผู้ประกอบการทุกรายที่อยู่ในนิคมเพิ่ม

ทั้งนี้ ผู้บริหารบริษัทที่ดินฯได้ชี้แจงในรายละเอียดและจุดประสงค์ของการสร้างเขื่อนนี้ว่า เขื่อนดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบายรัฐด้วยการสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งให้ เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และป้องกันหากเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ทางบริษัทที่ดินฯกู้มาผู้ประกอบการจะช่วยกันจ่ายเพราะเขื่อนถือเป็นของส่วนรวม

“หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยผู้ประกอบการทั้ง 16 รายยังไม่ยินยอมก็จะเข้าสู่กระบวนการทางศาลแพ่ง เพื่อให้เป็นตัวกลางช่วยพิจารณาไกล่เกลี่ย ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในส่วนที่เรียกว่า การจัดการงานนอกสั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกิดขึ้นเป็นมูลหนี้”

อย่างไรก็ตาม ยังคงเกิดกรณีเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) เช่นกัน คาดว่าในลำดับถัดไป กนอ.จะต้องลงพื้นที่เจรจากับผู้ประกอบการในนิคมเพื่อช่วยไกล่เกลี่ยค่าสร้างเขื่อนอีกเช่นเดียวกัน

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะโอนอำนาจบริหารจัดการตัวนิคมให้ กนอ.ได้หรือไม่ จากนี้หากได้พื้นที่แล้วก็จะเดินหน้าสร้างเขื่อนถาวรตามแผนต่อไป จากเดิมขณะนี้ยังคงเป็นคันดินบดอัดซึ่งก็ยังคงแข็งแรงรองรับน้ำท่วมได้เช่นกัน