BIG ทำห้องเย็นแช่แข็งผลไม้ ร่วม “ปตท.-เอสซีจี” ที่นิคมสมาร์ทพาร์ค

“บีไอจี” เปิด business model จับมือพาร์ตเนอร์ ปตท.-SCG ทุ่ม 100 ล้านบาทเฟสแรก ป้อนก๊าซไฮโดรเจนทำห้องเย็น ด้าน ปตท.หนุนส่งก๊าซ LNG-SCG ซัพพอร์ตโลจิสติกส์ให้ ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก พร้อมเดินหน้าต้นปี 2562 หลังสรุปที่ตั้งชัดเจนที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง จ่อเข้าโครงการวางระบบดิจิทัลเพื่อการขนส่งในนิคมสมาร์ทพาร์คอีกแห่ง ทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท 4 ปี

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจร เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาครัฐเปิดโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) เมื่อต้นปี 2561 โดยกำหนดให้เป็นตลาดกลางประมูล และพื้นที่สำหรับห้องเย็นจัดเก็บผลไม้คุณภาพสูง บริษัทจึงร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เข้าร่วมลงทุนในโครงการ EFC ดังกล่าว

โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท บนพื้นที่ 10 ไร่ เพื่อป้อนก๊าซไนโตรเจน และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สำหรับห้องเย็นแช่ผลไม้ทั้งหมดอย่างทุเรียน มังคุด มะม่วง เป็นต้น ขณะเดียวกัน บริษัทจะเป็นผู้นำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยมี ปตท. เป็นผู้ป้อนส่งเข้ามาจากคลังก๊าซที่มาบตาพุดป้อนเข้ามาเสริม ส่วน SCG คาดว่าจะเข้ามาสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ หรือธุรกิจในกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้อง ส่วนการบริหารจัดการโครงการ EFC ยังคงอยู่ระหว่างหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าจะเป็นใครและรูปแบบใด

“โครงการ EFC ใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องรอภาครัฐเป็นผู้ขับเคลื่อน จากที่เริ่มคิดทำโครงการนี้รัฐก็เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ 6 เดือนแรกที่มีแผนออกมาทันที ระหว่างนั้นก็มีการถกเถียงกันถึงที่ตั้งที่เหมาะสมทั้งจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ก็อยากให้ตั้ง EFC ใกล้กับจังหวัดตัวเองมากที่สุด แต่สุดท้ายผลการศึกษาก็เลือกตั้งที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าต้นปี 2562 รัฐจะเริ่มโครงการลงทุนได้แล้ว”

นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าร่วมโครงการรัฐอีก 1 แห่ง คือ ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค พื้นที่ของ กนอ. โดยจะทำการลงทุนด้านระบบดิจิทัล อย่างการวางระบบดิจิทัลสำหรับใช้ในรถขนส่งก๊าซ ใช้ในระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปลงทุนเพื่อลดต้นทุนในการใช้พลังงาน รวมถึงลงทุนใช้โซลาร์รูฟท็อปเข้าไปบริหารจัดการหลังคาโรงงานให้ลูกค้า

Advertisment

“อย่างที่เราใช้ออกซิเจนเข้ามาช่วยในโรงงานหลอมมาก ๆ เพราะเขาใช้น้ำมันเตาจำนวนมาก ถ้าเราช่วยเอาเทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนน้ำมันเตามาเป็น LNG บวกกับออกซิเจน มันก็ทำให้เขาลดการใช้พลังงานด้านอื่นลง”

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการร่วมกับ ปตท.ในการวิจัยด้านนวัตกรรม นำก๊าซอุตสาหกรรมไปใช้ในโรงกลั่นปิโตรเคมี เพื่อลดต้นทุน รวมถึงความร่วมมือล่าสุดได้เป็นตัวแทนจำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรมให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกแนวท่อของ ปตท. โดยมีบริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซให้หลายราย เช่น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก กระจก การแพทย์

นายปิยบุตรเปิดเผยเพิ่มเติมถึงแผนลงทุนของบริษัทปี 2561-2564 ว่า บริษัทเตรียมงบฯลงทุน 4,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในประเทศ 3,500 ล้านบาท และในต่างประเทศอีก 500 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนโรงแยกก๊าซ 4 โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล จะส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 จากปัจจุบันที่มี 1.5 ล้านตัน/ปี มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท

โดย 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โรงผลิตก๊าซไฮโดรเจน ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เงินลงทุน 600 ล้านบาท กำลังการผลิต 12,000 ตันต่อปี คาดว่าปี 2562 จะแล้วเสร็จ 2.โรงผลิตก๊าซอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ร่วมกับบริษัท อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 400 ล้านบาท กำลังการผลิต 50,000 ตัน/ปี คาดแล้วเสร็จปี 2562 3.โรงผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนแห่งใหม่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 450,000 ตันต่อปี คาดปี 2563 จะแล้วเสร็จ 4.โรงผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี หรือ BIG 3 เงินลงทุน 500 ล้านบาท กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี คาดแล้วเสร็จปี 2564 และส่วนที่ลงทุนโรงผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เงินลงทุน 500 ล้านบาท กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี คาดแล้วเสร็จปี 2563

Advertisment