การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย (ทดแทนชุดที่ 1-2) ราบรื่น

การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย (ทดแทนชุดที่ 1-2) ราบรื่น ชาววังน้อยร่วมรับฟังความคิดเห็นกว่า 600 คน

ชาววังน้อยให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย (ทดแทนชุดที่ 1-2) กว่า 600 คน ซึ่งข้อคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด บริษัท ซีคอท จำกัด จะนำไปกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครอบคลุมข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงต่อไป

วันที่ 19 สิงหาคม นายพศิษฐ์ อัครวุฒิบวรศิริ ปลัดอำเภอวังน้อย หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย (ทดแทนชุดที่ 1-2) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ซีคอท จำกัด โดยมี ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพงษ์ธร มิลินทบุณย์ พลังงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนเข้าร่วมรับฟัง จำนวน 619 คน ณ อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น.

Advertisment

นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อชี้แจงรายละเอียดและขอบเขตการดำเนินงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย (ทดแทนชุดที่ 1-2) กำลังผลิต 1,470 เมกะวัตต์ ที่สร้างทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะหมดอายุลง ในปี 2562 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนจากบริษัท ซีคอท จำกัด ร่วมให้ข้อมูลเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย คุณภาพอากาศ เสียง คุณภาพน้ำผิวดิน ทรัพยากรชีวภาพ กากของเสีย สภาพแวดล้อมและอุบัติเหตุจากการคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค เศรษฐกิจ-สังคม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี และทัศนียภาพและการท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับข้อห่วงกังวลของประชาชนที่ได้นำเสนอในเวที เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภคในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เช่น การพัฒนาถนน และพัฒนาแหล่งน้ำโดยรอบเพื่อการเกษตรกรรมของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น บริษัทฯ จะนำไปกำหนดขอบเขตเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ทั้ง 3 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา อ.หนองเสือ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.หนองแค จ.สระบุรี ต่อไป หลังจากนี้จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะเป็นขั้นตอนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 2 ต่อร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

ด้านว่าที่ พ.ต. อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ขอขอบคุณชาววังน้อยและพื้นที่ใกล้เคียงที่มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ สำหรับข้อกังวลต่าง ๆ ในวันนี้ กฟผ. พร้อมรับไปศึกษาเพื่อหาแนวทางในการจัดการต่อไป และขอยืนยันว่า กฟผ. จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข”

Advertisment

ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ ภายใน 7 วันนับจากวันจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2560 ไปที่ 1.แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าวังน้อย : นายสานิตย์ กุศลไพศาล ที่อยู่ 32 หมู่ 4 ตำบลวังจุฬา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ : 02-4368747 ต่อ 2040 โทรสาร : 02-4368747 ต่อ 2041 และอีเมล : [email protected] 2.นางสาวจันทิมา ยะนิล บริษัท ซีคอท จำกัด ที่อยู่ 239 ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทรศัพท์ 02-959-3600 ต่อ 412, 413 โทรสาร : 02-959-3535 และอีเมล : [email protected]