“ธนสรร” ส่งข้าวเฉียดล้านตัน ตลาดอิหร่านยอดหดหนีทำขนมกรุบกรอบ

ธนสรรไรซ์ พลิกกลยุทธ์ทำตลาดข้าวสารในประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ แตกไลน์ผลิตข้าวหอมมะลิต้นฤดู “จัสมินไรซ์ ด้ายสีส้ม” พร้อมลอนช์ผลิตภัณฑ์ใหม่ “จัสไบท์” หลังแซงก์ชั่นอิหร่านกระทบส่งออกข้าวปี”61 

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 10 เดือนแรก ส่งออกข้าวได้ปริมาณ 800,000 แสนตัน คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2561 จะส่งออกได้ 900,000 ตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1 ล้านตัน เนื่องจากอิหร่านซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญของไทย ถูกสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น)

ทำให้ยอดส่งออกในส่วนนี้หายไปเป็นหลัก 100,000 ตัน ประกอบกับการส่งออกข้าวขณะนี้ต้องแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างผู้ส่งออกรายใหม่ที่พัฒนาจากโรงสีมาทำส่งออกข้าวซึ่งเพิ่มมากขึ้นหลายราย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีนี้ยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มทั้งในส่วนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ได้เปิดประมูลข้าวขาว 25% ไปในปริมาณ 500,000 ตัน ทั้งในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) และรูปแบบ

รัฐบาลและเอกชน (จีทูพี) ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการประมูลโดยกลุ่มบริษัทโบรกเกอร์ข้าวที่ติดต่อซื้อข้าวจากธนสรรไรซ์ด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับจัดสรรให้ส่งมอบข้าวให้กับรัฐวิสาหกิจจีนที่ซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ลอตที่ 4 กับรัฐบาลไทย ปริมาณ 100,000 ตัน

Advertisment

สำหรับยอดส่งออกภาพรวมของธนสรรไรซ์ในปี 2561 ที่คาดว่าจะทำได้ 900,000 ตันนั้น แบ่งเป็นการส่งออกปกติ ปริมาณ 860,000 ตันไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกา เอเชีย มีทั้งจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และที่เหลือเป็นการส่งออกโดยผ่านระบบจีทูจีอีก 40,000 ตัน ทั้งจีนและฟิลิปปินส์

นายศุภชัยกล่าวว่า ในส่วนการทำตลาดข้าวถุงในประเทศตราจัสมินในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะมียอดเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท

ล่าสุดทางบริษัทผลักดันการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ โดยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ขายผ่าน Facebook WeChat อาลีบาบา และ JD.com ซึ่งเพิ่งจะเริ่มดำเนินการ และส่งมอบสินค้าผ่านระบบของเคอรี่ เป็นต้น จากปัจจุบันที่จำหน่ายผ่านผู้ค้ายี่ปั๊วในกรุงเทพฯประมาณ 40-50 ร้าน

และร้านซูเปอร์ชีป จ.ภูเก็ต รวมทั้งหมด 70 สาขา และมีการส่งขายให้กับโรงแรมและร้านอาหารในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญต่าง ๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น โดยบริษัทจะไม่เน้นการจำหน่ายผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) เพราะมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง

Advertisment

“การตลาดออนไลน์ยังไม่ได้มีสัดส่วนมากนัก เพียงแต่มองว่าการทำการตลาดช่วยให้ผู้บริโภครับรู้ถึงแบรนด์สินค้าของเรามากขึ้น”

นายศุภชัยกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นจากตันละ 13,000-14,000 บาท เป็น 16,000-17,000 บาท ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตข้าวสารบรรจุถุง ทางบริษัทจึงได้ปรับขึ้นราคาข้าวสารบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัมอีกเฉลี่ยถุงละ 5-10 บาท เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนข้าวสารที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามไม่สามารถปรับขึ้นได้มากกว่านี้ เพราะตลาดนี้มีการแข่งขันสูง

มีแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดเดิม ต้องระมัดระวังว่าจะเสียโอกาสในการแข่งขัน ดังนั้น ทางบริษัทจึงได้พยายามผลิตข้าวถุงที่มีระดับราคาที่หลากหลาย ตั้งแต่ กก.ละ 20 ไปจนถึง 35 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย

“ขณะนี้บริษัทได้จัดทำข้าวถุงเกรดพิเศษเป็นข้าวจัสมินไรซ์ ด้ายสีส้ม ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100% ที่ผลิตจากข้าวหอมมะลิต้นฤดูซึ่งมีความหอม นุ่ม และที่สำคัญใน 1 ปีจะมีเพียงครั้งเดียว จำหน่ายให้กับผู้บริโภคกลุ่มตลาดบน เพราะมีปริมาณไม่มาก ขนาดถุงละ 5 กก. ราคาถุงละ 190 บาท”

พร้อมกันนี้ บริษัทได้เปิดตัวทดลองผลิตภัณฑ์ขนมป๊อปที่ทำจากข้าวหอมมะลิอบกรอบ แบรนด์จัสไบท์ (Jasbite) โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยแยกออกมาเพื่อผลิตและจำหน่ายขนมนี้โดยเฉพาะในชื่อบริษัท ศศิฟู้ดส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งจะเริ่มทำการตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2562 เบื้องต้นได้จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าปลีกในต่างจังหวัด หากตลาดในประเทศประสบความสำเร็จ ทางบริษัทมีแผนที่จะผลักดันการส่งออกขนมชนิดนี้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยคาดว่าจะนำเข้าไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าอาหารโลก หรือ THAIFEX 2019

ทั้งนี้ โรงงานจัสไบท์มีกำลังการผลิตสูงสุดวันละ 50,000 ถุง จำหน่ายในราคาถุงละ 15 บาท

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!