วิชัย โภชนกิจ เร่งแก้สต๊อกปาล์มล้น 3.7 แสนตัน

สัมภาษณ์พิเศษ

นโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตร ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องดูแลควบคู่กับการดูแลค่าครองชีพ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “วิชัย โภชนกิจ” อธิบดีกรมการค้าภายใน ถึงแนวทางการทำงานตามนโยบายดังกล่าว

เม.ย.ดัน 500 ปั๊ม ขาย B20

ปีนี้เป็นปีที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีปริมาณเกือบ 17 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชาวสวนเพิ่มพื้นที่ปลูก ซึ่งอีกส่วนมาจากสถานการณ์ราคามะพร้าวและราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงทุบราคาปาล์มลดลง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาราคาปาล์มทางกระทรวงพาณิชย์ทำโดยลำพังไม่ได้ ภาครัฐจึงให้กระทรวงพลังงานมาช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง 1.6 แสนตัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ได้ 30,000 ตัน เป็น 45,000 ตันต่อเดือน แต่คงไม่มีการขยายกำลังการผลิตอีก เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มดิบสูงกว่าจากก๊าซธรรมชาติ หากจะขึ้นค่าไฟฟ้าก็จะกระทบต่อประชาชน ดังนั้น ทางกระทรวงพลังงานจึงได้สนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 โดยออกมาตรฐานน้ำมันเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้ใช้รถ และอยู่ระหว่างการขอความร่วมมือให้สถานีบริการน้ำมันติดตั้งหัวจ่าย B20 เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มี 100 กว่าแห่ง คาดว่าจะพร้อมเป็น 400-500 แห่งได้ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งสถานีแต่ละแห่งจะมีการใช้น้ำมันเฉลี่ยแห่งหนึ่งประมาณ 4,000 ลิตรต่อวัน คิดเป็นปริมาณการใช้ถึง 2 ล้านลิตร เป็นการกระตุ้นการใช้น้ำมันมากขึ้นตามเป้าหมาย

Advertisment

ปตท.ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ

ส่วนการแก้ไขปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มที่โอเวอร์สต๊อก 3.7 แสนตันนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีมติให้เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มจาก 1,000 ตัน เป็น 1,500 ตัน เพื่อเร่งให้ใช้สต๊อกน้ำมันปาล์มเร็วขึ้น ภายใน 2 เดือนเดิมจะหมดในเดือนก.ค.

อีกด้านหนึ่ง กนป.มีมติให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อส่งออก ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนที่จะกำหนดรายละเอียดว่าจะส่งน้ำมันปาล์มดิบชนิดใด ส่วนราคารับซื้อเบื้องต้นให้ซื้อในราคาตลาด และทาง ปตท.ต้องเป็นผู้หาตลาดส่งออกเอง หากใช้มาตรการทั้งหมดนี้ มั่นใจว่าช่วยทำให้ราคาผลปาล์มสูงถึงเป้าหมาย กก.ละ 3 บาท

ต้นทุนค่าแรงต่อราคาสินค้า

Advertisment

ขณะที่สถานการณ์ราคาสินค้าช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ระดับที่เหมาะสม ไม่มีสินค้าใดขอปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงานประจำปี 2562 นั้น เชื่อว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาโดยชั่งน้ำหนักทุกปัจจัย ทั้งความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อซึ่งในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับเพียง 0.5-1% ซึ่งอีกด้านผู้ประกอบการปรับลดราคาสินค้าลงด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับค่าแรงขึ้นจริงก็จะกระทบต่อสินค้าบางกลุ่มที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ประเมินแล้วค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนไม่มาก เทียบเป็นไม่ถึง 1% ของต้นทุนทั้งหมด อีกด้านหนึ่งหากปรับขึ้นราคาสูงจนเกินความเหมาะสม ก็อาจจะทำให้เอกชนหันไปนำเอาเทคโนโลยี AI หรือหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงาน

“หากผู้ผลิตรายใดแจ้งว่ามีต้นทุนปรับขึ้นจะขอปรับขึ้นราคาก็ต้องยื่นขอมาที่กรมเพื่อให้พิจารณาโครงสร้างต้นทุนก่อน ไม่สามารถดำเนินการปรับได้ทันที หรือหากสินค้าใดมีต้นทุนการผลิตลดลงก็ต้องปรับราคาลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนด้วย เช่น ในกรณีน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่ได้ทบทวนราคาแนะนำให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิตปาล์ม เหลือขวดละ 31-32 บาท และขณะนี้ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองบรรจุขวดก็ต้องทบทวนเช่นกัน เพราะต้นทุนราคาถั่วเหลืองลดลงจาก กก.ละ 19 เหลือ กก.ละ 13 บาท”

ปั้นตลาดต้องชม 300 แห่ง

ส่วนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กรมจะพัฒนาตลาดประชารัฐต้องชมเพิ่มขึ้นอีก 70 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 230 แห่ง รวมเป็น 300 แห่ง ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่าการซื้อขายกระจายรายได้สู่ชุมชน 1,276 ล้านบาท มีหลาย ๆ ตลาดที่ประสบความสำเร็จ เช่น ตลาดคลองแห ตลาดหลวงปู่ทวด

สเต็ปต่อไปกรมจะจัดการประกวดตลาดประชารัฐต้องชม โดยจะคัดเลือกตลาดที่ดีในระดับจังหวัด และระดับประเทศ พร้อมทั้งจะให้มีการจัดทำเนียบผู้ค้าที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบการสร้างอาชีพ และส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักระดับสากล เพื่อดึงดูดและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว