ครม.ไฟเขียวปฏิรูประบบบริหารจัดการนม ร.ร. 1.4 หมื่นล้านอุดช่องทุจริต หลังป.ป.ช.ติง

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายลักษณ์ วจนานวัช ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี

โดยผู้แทนกรมปศุสัตว์ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย น.สพ.ณรงค์ เลี้ยงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ และรักษาการผู้ทรงคุณวุฒิสาโรจน์ งามขำ เข้าร่วมประชุม เพื่อตอบข้อซักถาม เรื่อง แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน

ต่อมานายกฤษฎากล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาท เหตุผลและความจำเป็นตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาให้มีการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการนมโรงเรียนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการ แยกโครงสร้างการบริหารออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลบอร์ด ตามพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์อันเนื่องมาจากผู้มีส่วนได้เสียในโครงการร่วมเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้ง “คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน” จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการหน่วยงานที่กำกับดูแล จำนวน 4 คน เป็นกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้ง จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยไม่มีองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมเป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรณรงค์การบริโภคนมไปยังสถาบันการศึกษาทุกระดับ เพื่อขยายเป้าหมายการบริโภคนม จากปัจจุบัน 18 ลิตรต่อคนต่อปี เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2564

ภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับผิดชอบ 4 คณะ รับผิดชอบภารกิจต่าง ๆ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริม (นม), 2.คณะอนุกรรมการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ, 3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับพื้นที่ และ 4.คณะอนุกรรมการอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยมีองค์ประกอบคณะอนุกรรมการชุดละไม่เกิน 15 คนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ อ.ส.ค. ทำหน้าที่เป็นเพียงองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายและส่งมอบให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ อ.ส.ค. กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำระบบฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” สำหรับโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้ดื่มนมทุกวัน และนมที่ดื่มสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังที่แหล่งผลิตได้ เพื่อเป็นหลักประกันในคุณภาพนมโคตลอดห่วงโซ่อุปทาน

Advertisment

แนวทางการบริหารจัดการนมโรงเรียนให้ยึดหลักดังนี้ 1.ปริมาณน้ำนมดิบตามพันธสัญญา ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย 2.คุณภาพน้ำนมดิบและนมโรงเรียน 3.ศักยภาพการผลิต/การตลาด 4.ระบบโลจิสติกส์/การขนส่ง 5.ประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมา และ 6.ความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยให้ความสำคัญกับผู้มีศูนย์รวบรวมน้ำนมโคเป็นของตนเองหรือมีแผนการตลาดรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และรับผิดชอบตลอด 365 วัน

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

Advertisment