ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ เอกชนกังวลตั้งรัฐบาลช้า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเสียโอกาสการเติบโต

dav

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางค่าเงินและเศรษฐกิจโลกไตรมาส 2 ว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ยังคงมีความกังวลในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (เทรดวอร์) ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและยังไม่มีข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีการส่งผลในเรื่องของธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะภาคการส่งออกทั่วโลกมีการชะลอตัวลดลงเล็กน้อย อาทิ ค่าเงินหยวน ที่ได้รับความนิยมใช้ในการค้าขายในต่างประทศ ซึ่งปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ลดลงจาก 2.15% เหลือเพียง 1.85% เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายในปี 2562 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 4% แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯ จะมีข้อสรุปในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงมากกว่า จากปัจจัยภายนอก อาทิ เทรดวอร์ เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อจีดีพี คือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องหลักที่นักลงทุนเฝ้าติดตามความชัดเจน และอยากรู้ผลรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะหน้าตาเป็นอย่างไร รวมถึงกังวลในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจจะมีความต่อเนื่องหรือไม่

“นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเคยประกาศสนับสนุนนักลงทุนไว้ รวมถึงงบการเบิกจ่ายต่าง ๆ ยังจะเดินหน้าตามเดิมอยู่หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่เอกชนยังมีความกังวลอยู่มาก หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อ จะส่งผลให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ อาทิ เรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปอย่างน่าเสียดาย” นายกอบสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงเรื่องการลงทุน ซึ่งมองจากปัจจัยภายนอกแล้ว เรื่องของการลงทุนยังเป็นปัจจัยลบ ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขจีดีพีในประเทศ ควรอยู่ที่ประมาณ 4.5% แต่เบื้องต้นคาดว่าจะโตเพียง 4% ผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมีการเติบโตน้อยเกินไป ซึ่งในตอนนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 0.8% แต่ควรมีการปรับให้อยู่ที่ประมาณ 2% ถึงจะมีความสมดุล ส่วนภาพรวมการส่งออกในปีนี้คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 4.5% และภาคการลงทุนคาดว่าจะมีการเติบโต 5% แต่เบื้องต้นยังไม่มีการปรับเป้าการเติบโตในช่วงนี้

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรกเอกชนจะได้ทราบว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศหน้าตาจะเป็นอย่างไร ซึ่งเอกชนหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสานต่อนโยบายเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง และสนับสนุนโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น แต่รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาไม่มีการสานต่อในเรื่องดังกล่าว นักลงทุนคงจะต้องกลับไปปรับสมมุติฐาน และปรับในเรื่องของงบการลงทุนให้ลดลง

Advertisment

“ส่วนในการทำงานของรัฐบาลใหม่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ยังมีหน้าที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจะดูในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งในแง่ของนโยบายด้านการเงิน ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ทรงตัว และยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ส่วนค่าเงินบาทยังคงอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ผลที่ยังกดดันค่าเงินบาทอยู่ในขณะนี้ จะเป็นในเรื่องของภาคการส่งออก หากวัดจากดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ (พีเอ็มไอ) จะส่งผลกระทบในเรื่องของการนำเข้าวัตถุดิบ และการส่งออสินค้าสำเร็จรูปก็จะมีการชะลอตัวลงตามไปด้วย” นายกอบสิทธิ์กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

Advertisment