เปิดฉากประชุม AEM Retreat นัดแรกรัฐมนตรีศก.อาเซียนตบเท้าร่วม เดินหน้าหาข้อสรุปความร่วมมือการค้า ก่อนส่งไม้ต่อเวียดนาม

การประชุมเศรษฐกิจอาเซียนระดับรัฐมนตรีนัดแรกซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยหวังเร่งหาข้อสรุปในกรอบความร่วมมือต่างๆ ก่อนจะนัดประชุมอีกครั้งกันยายน 2562 นี้ ขณะที่อาเซป จับตาการเมืองภายในมีผลกระทบต่อการเจรจา

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ที่จังหวัดภูเก็ตในฐานะประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนในปีนี้ประเทศไทยหวังว่าจะได้ข้อสรุปการพูดคุยหารือกันในการประชุมครั้งนี้ ก่อนจะส่งต่อการประชุมให้กับเวียดนามในฐานะเจ้าภาพของอาเซียนในปีหน้า โดยสามารถเจรจาความตกลงการลงทุนของอาเซียนได้เป็นผลสำเร็จ คาดอีก 4-5 เรื่อง

ทั้งนี้ เป้าหมายการประชุมหารือต้องการให้เห็นข้อสรุปและข้อชัดเจนก่อนที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในเดือนกันยายนนี้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน หลัง 6 ประเทศพร้อมดำเนินการแล้ว และในที่ประชุม AEM ยังได้ติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะร่วมกับสมาชิกอาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น

ล่าสุดสามารถเจรจาได้เป็นผลสำเร็จแล้ว 1 เรื่อง ได้แก่ การแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ และนอกจากนี้ การผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อังกฤษ : Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ก็ต้องผลักดันแต่ต้องยอมรับประเด็นการเมืองของหลายประเทศที่จะต้องติดตามเนื่องจะมีผลถึงนโยบายในประเทศเพราะจะมีผลต่อการเจรจา

Advertisment

“ประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลียฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทย ซึ่งหากมีนโยบายภายในจากผู้นำของประเทศ ก็จะมีผลกระทบ ซึ่งก็ต้องมีการหารือ โดยก็ต้องหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิก โดยการหารือก็คืบหน้าไปมาก ซึ่งน่าจะเห็นชัดเจนในปีนี้ เพื่อสรุปข้อคกลงให้ได้ตามแผน”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้อาเซียนกำลังเจรจาความร่วมมือในหลายประเด็น ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้ข้อยุติก่อนการประชุม AEM ครั้งถัดไปในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ได้แก่ การจัดทำแผนบูรณาการ Digital ASEAN, ความร่วมมือด้านแรงงาน, อุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว 2 เรื่อง เพราะจะมีผลต่อการค้าของไทยเป็นอย่างมาก ได้แก่ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจา หรือ RCEP และการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window ซึ่งในส่วนของ RCEP ยังมีรายละเอียดที่ต้องเจรจาอีกหลายเรื่อง และยังต้องรอให้ประทศสมาชิกบางส่วนจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เรียบร้อยก่อน ส่วน ASEAN Single Window คาดว่าจะคุยได้จบภายในปีนี้ หลัง 6 ประเทศพร้อมดำเนินการแล้ว ยังเหลืออีกเพียง 4 ประเทศที่กำลังเร่งผลักดันให้ดำเนินการได้ครบทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

Advertisment

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทยเมื่อ RCEP เกิดขึ้นจะมีผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยจะเติบโตอีก 13.5% ในขณะที่การส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีก 14.5% และการนำเข้าจะขยายตัวอีก 13.3%