“จีซี” นำชม 3 บิ๊กโปรเจ็กต์ EEC ต่อยอดปิโตรเคมีสร้างมูลค่าเพิ่ม 3 หมื่นล้าน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นำสื่อลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 3 โครงการ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนในแผนระยะยาว (Long Term Strategic Execution) โดยจีซีได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนประมาณ 102,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วเกินครึ่ง คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

โครงการแรกเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่บริษัทมีอยู่แล้ว และเป็นการต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและโพรพิลีน 250,000 ตัน ซึ่งทางจีซีได้ลงนามร่วมกับ “ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง ไทยแลนด์ และทีทีซีแอล ในการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้างไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ขณะนี้คืบหน้าไป 45% มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท

2.โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide : PO) ดำเนินการโดย บริษัท GC Oxirane จำกัด (GCO) โดยGC ถือหุ้น 100% เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลิออลส์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 56% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 32,000 ล้านบาท และ 3.โครงการโพลิออลส์ (Polyols) ดำเนินการโดย บริษัท GC Polyols จำกัด (GCP) ซึ่ง GC ถือหุ้น 82.1% ร่วมกับพาร์ตเนอร์ 2 ราย คือ Sanyo Chemical ถือหุ้น 14.9% และ Toyota Tsusho ถือหุ้น 3% เพื่อผลิตโพลิเอเทอร์ โพลิออลส์ (polyether polyols) 130,000 ตันต่อปี โพลิเมอร์โพลิออลส์ (polymer polyols) 30,000 ตันต่อปี และพรีมิกซ์ (premix) 20,000 ตันต่อปี เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลิยูรีเทน (polyurethane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 60% ทั้ง 2 โครงการ PO/Polyols มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากpolyols สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สมรรถนะสูง (performance chemicals) เช่น เบาะรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฉนวนกันความร้อน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน รองเท้า เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้เน้นส่งออกไปยังตลาดหลักอินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าทั้ง3 โครงการขนาดใหญ่นี้จะส่งผลให้ GC มีรายได้เพิ่มขึ้น 7% หรือกว่า 31,700 ล้านบาท โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2564

สำหรับโครงการโรงงานรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร มูลค่าลงทุน 2,000 ล้านบาท ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์ยุโรปอยู่เพียงรายเดียว เนื่องจากมีเทคโนโลยีผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีมาตรฐานสูง และเทคโนโลยีด้านการคัดแยกขยะ ซึ่งจะสรุปผลการเจรจาภายในเดือน มิ.ย. 2562 นี้ โดย GC จะถือหุ้นในสัดส่วนข้างมากที่ 70% พาร์ตเนอร์ผู้ร่วมทุนอีก 30% จากนั้นเตรียมนำเสนอรายละเอียดโครงการโรงงานรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด GC) ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2562 ซึ่งเมื่อผ่านบอร์ดเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2563 โดยแผนก่อสร้างกำหนดไว้จะใช้ระยะเวลา 2 ปี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง

โดยปริมาณขยะที่ต้องใช้อยู่ประมาณ 50,000 ตัน/ปี สามารถผลิตเม็ดพลาสติกได้ 40,000 ตัน และส่งขายให้กับผู้ผลิตขึ้นรูปขวดพลาสติกภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร หรือประเภท food grade ซึ่งจากการหารือกับผู้คัดแยกขยะ เบื้องต้นบริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการคัดแยกขยะป้อนให้กับ GC จะส่งผลให้ GC มีรายได้จากโครงการนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท

“โรงงานรีไซเคิลพลาสติกควรที่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม แต่ในแต่ละนิคมมองว่าไม่ควรเอาเรื่องของขยะไปตั้งในพื้นที่ เราจึงคาดว่าจะตั้งในพื้นที่ของเราคือ GC เอสเตท ก็อยู่ในนิคมนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องมีเทคโนโลยีที่ดี เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้วยแนวคิด Circular Economy จะมีการพูดถึงระบบบริการจัดการของผู้รวบรวมขยะ ที่ไทยมีอย่างซาเล้ง แต่เราเห็นโมเดลของชิลีที่จะใช้รูปแบบคล้ายอูเบอร์ เมื่อจะทิ้งให้เรียกผู้รวบรวมมาเก็บแทน”

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาจะต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง คาดว่าปลายปี 2562 จะได้ข้อสรุป