มผบ. ยืนข้างพาณิชย์ สู้ศึกคุมค่ายาโรงพยาบาล

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ประกาศคำสั่ง “ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์” เป็นสินค้าและบริการควบคุมรายการใหม่ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562

ทำให้ “สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน 41 ราย” เป็นโจทก์ร้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งร้องให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ กกร. แต่ะล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำขอทุเลา หมายถึง ระหว่างการดำเนินคดีขอเพิกถอนประกาศ กกร.นั้นโรงพยาบาลเอกชนต้องดำเนินการตามประกาศ กกร. ต่อไป

ในจังหวะเดียวกันนี้ “นางสาวสารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มผบ.) นำทีมยื่นร้องสอดต่อศาลปกครอง เพื่อขอร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ต่างคดีขอเพิกถอนคำสั่ง กกร. เนื่องจากหากมีการเพิกถอนประกาศคำสั่ง กกร. จะมีผลให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเสียหาย

โดยหลังจากนี้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้มูลนิธิเป็นผู้ร้องสอด ทางฝ่ายโรงพยาบาลเอกชนต้องทำคำฟ้องขึ้นมาใหม่อีก 1 ชุดให้เราแก้ต่าง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญขณะนี้ต้องการให้รัฐบาลเร่งกำหนดมาตรฐาน ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน เพราะในช่วง 2 ปี 2 เดือนที่รัฐบาลกำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจะไปรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้นั้น ในทางปฏิบัติพบว่ามี กรณีฉุกเฉิน 80% หรือ 256,000 กรณี จากทั้งหมด 300,000 กรณีที่เข้ารับการรักษากลับถูกวินิจฉัยว่า “ไม่ฉุกเฉิน” ต้องเสียค่ารักษาอัตราสูง 

“แม้ว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายค่ารักษาพยาบาลธงฟ้าแต่เป็นลักษณะสมัครใจ และยังไม่รู้ว่าธงฟ้าจะราคาเท่าไร ดังนั้น หากประกาศฉบับนี้ถูกยกเลิกจะขาดกลไกตรวจสอบ”

ที่สำคัญขณะนี้ธุรกิจโรงพยาบาลกลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไร มีผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มเข้าไปซื้อหุ้นโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาด การกำหนดค่ารักษา ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในอนาคตได้

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ได้เชิญสถานพยาบาลมารับฟังการชี้แจงแนวทางความโปร่งใสและเป็นธรรมด้านราคายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ โดยขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 ซึ่งกรมอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ล่าสุดพบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่ง คิดค่ารักษาเกินจริง จึงเชิญโรงพยาบาลดังกล่าวมาชี้แจงข้อเท็จจริง หากไม่สามารถชี้แจงได้จะเข้าข่ายความผิดมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากก่อนหน้านี้ที่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง กรณีคิดค่ารักษาอาการท้องเสียสูงเกินจริง

และเดินหน้าตามที่ประกาศ กกร.กำหนดให้โรงพยาบาลแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์มาให้กรมภายในวันที่ 12 ก.ค.นี้ เพื่อนำขึ้นแสดงในเว็บไซต์กรมและจัดทำ QR code เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังเตรียมตรวจสอบค่ายาและค่ารักษาคลินิกเอกชน และโรงพยาบาลสัตว์ตามที่ประชาชนร้องมา