วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล “STA” จ่อขึ้นท็อป 3 ถุงมือยางโลก

สัมภาษณ์พิเศษ

ผู้ส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ถุงมือยางไทยต้องเผชิญความท้าทายปัจจัยสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐ ทำให้ดีมานด์ชะลอตัว ซ้ำอัตราแลกเปลี่ยนยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของไทยลดลง “นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA 1 ใน 5 เสือวงการยาง ให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวทางฝ่าความท้าทายเพื่อดันยอดขายปี 2562 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

โดยในส่วนถุงมือยางโต 20-25% จากปีก่อน และยางธรรมชาติ 1.3 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีก่อน และการวางอนาคตสู่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับท็อป 3 ของโลก โดยเปิดแผนว่าเตรียมแยกบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ซึ่งบริษัทลูกที่ผลิตถุงมือยางเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯในไตรมาส 3/2563 

ภาพรวมศรีตรังฯครึ่งปีแรก 

ตอนนี้เรื่องหลักเลยคือค่าเงินกระทบถุงมือ เทรดวอร์กระทบยางธรรมชาติ ในส่วนของยางแท่งครึ่งปีแรกมีเทรดวอร์ ทำให้ดีมานด์สโลว์ดาวน์ไม่บูมเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่โอเวอร์ซัพพลาย แต่ดีมานด์ก็ยังพอไปได้ ส่วนครั้งนี้ตั้งแต่ปลายปีก่อนซัพพลายขาด แต่ขณะเดียวกันดีมานด์ก็ชะลอลงด้วย

Advertisment

หากการเจรจาเรื่องเทรดวอร์คลี่คลายหรือแนวโน้มที่ดีขึ้นจะช่วยเรื่องดีมานด์ดีขึ้น แต่หากเป็นอย่างนี้ต่อ ภาพก็จะซึม ๆ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ยอดขายรถลดลง 7-14% เทียบกับปีก่อนกระทบความต้องการการใช้ยางล้อ รวมถึงการใช้ยางธรรมชาติ ปัจจุบันปี 2561 ศรีตรังฯ มีรายได้รวม 75,188 ล้านบาท มาจากยางแท่ง 80% และถุงมือยาง 20% โดยส่งออก 83% ซึ่งตลาดหลักของศรีตรังฯ เบอร์ 1 จีน 45% รองลงมา คือ สิงคโปร์ 20% ซึ่งเป็นฮับสั่งซื้อของบริษัทยางล้อโลก และอินเดีย 5-7%

อานิสงส์ รง.ล้อยางจีนไหลมาไทย

หลังจีนโดนขึ้นภาษีก็ย้ายมาไทย อินเดีย เพื่อส่งออกไปสหรัฐ แต่การทำแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาตอนแรกตามทฤษฎีก็ถูก แต่การย้ายฐานอาจจะทำให้โดนกีดกันน้อย แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาดีมานด์ ภาพใหญ่คือ เศรษฐกิจโลกชะลอ จริงอยู่ที่ศรีตรังฯจะได้การใช้ในประเทศมากขึ้น แต่การที่จะปรับสัดส่วน 40% ลดลงมาที่ไทยมากไหม ก็ไม่มากขนาดนั้น เพราะที่จีนมีผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ 5-6 ราย

ส่วนรายกลาง-รายเล็กที่เราไม่เคยได้ยินชื่อเป็น 100 บริษัท ซึ่งยักษ์ใหญ่พวกนี้มีโรงงาน 10-20 โรงงานทั่วโลก ในไทยก็เป็นโรงงานหนึ่งในนั้นของเขา ตัวเลขอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

Advertisment

ทิศทางราคายางครึ่งปีหลัง 

ต้นปีราคากก.ละ 60 บาท ดีขึ้นนิดหน่อยเป็นผลจากซัพพลายขาดหยุดกรีด เดือน 2-5 และอินโดนีเซียมีปัญหาใบร่วง ทำให้ซัพพลายอินโดฯตึงตัวแย่งซื้อ จึงทำให้ราคาปรับขึ้นมาระยะสั้น แต่ตอนนี้กลับมา 50 ปลาย ๆ แนวโน้มราคาครึ่งปีหลังคงบวก-ลบจากนี้ไม่มาก ถ้าดีมานด์ยังเป็นเช่นนี้ เราคงไม่ได้เห็นราคาตกหรือราคาขยับขึ้นตูมเดียว 20 บาท คงอยู่แถวนี้ สะวิงตัวอยู่ในกรอบแคบ ๆ นอกจากจะมีเหตุการณ์อะไรที่สนับสนุน การขึ้นหรือการลงหนัก ๆ ถ้าหากเทรดวอร์ยกเลิก อันนี้จะเป็นการสะวิงราคาขาขึ้น ที่มีผลเยอะชัดเจน

ส่วนปัจจัยแล้งทำให้ซัพพลายขาด แต่ที่ผมมองเรื่องดีมานด์ซึ่งชะลอตัวลงมากว่า อย่างปีอื่นดีมานด์ยางก็จะโต 2-3% ปีนี้ 1-2% ชะลอลง โอกาสเป็นไปตามเป้าหมายรัฐ กก.ละ 65 บาท ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าจะใช้ประกันรายได้หรืออะไรก็ได้ที่กระทบต่อกลไกตลาดน้อยที่สุด คือ ดีที่สุด เราในฐานะผู้ส่งออกก็มีหน้าที่ผลิตและส่งออกให้ได้มากที่สุด เพื่อเติมเต็มดีมานด์

จับตาปัจจัยเสี่ยง

ครึ่งปีแรกต้นทุนการผลิตถุงมือยางปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาวัตถุดิบน้ำยางขึ้น เราทยอยปรับราคาทุกเดือนจนคัฟเวอร์ ขึ้นไปประมาณ 20-30% แต่ปัจจัยค่าเงินบาท และเทรดวอร์เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด

“ค่าเงินแข็งจาก 34 เป็น 30 กว่าต่อเหรียญสหรัฐเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเราขาย 90% เป็นดอลลาร์ ถุงมือเราขายในไทยแค่ 10% ยางก็เช่นกัน จึงกระทบเยอะมาก ถ้าเทียบกับผู้ผลิตถุงมือยางโลกเบอร์ 1-10 เป็นมาเลเซียหมดเลย ยกเว้นเรา เขาได้รับอานิสงส์จากค่าเงินริงกิตอ่อน แต่ค่าบาทแข็งโจมตีเราจนลูกค้าอเมริกา ยุโรปติว่าแพง เราต้องเจรจากับลูกค้าให้มากที่สุดซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องวางแผนการจัดซื้อ ผลิตและการขาย ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยนราคา จะทำตามคอนแทร็กต์ซึ่งปกติทำสัญญาประมาณ 2-3 เดือน”

ปัญหานี้จะทำให้ทุกอย่างที่เป็นการส่งออกจากไทยกระทบหมด ทุกรายการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ตอนนี้ผมเห็นบางเปเปอร์เริ่มแข็งค่าถึง 28 บาท ถ้าแก้ไขไม่ได้ช่วงครึ่งปีหลัง ถุงมือเราจะแข่งขันยากขึ้น หนักขึ้น ลูกค้าคงไม่ยอมใจดีซื้อของแพง คงหาคนที่ออฟเฟอร์ราคาที่ถูกที่สุด หากริงกิตอ่อนเราจะเสียเปรียบมาก แม้ว่าเขาจะปรับขึ้นค่าแก๊สอีก 5% ต้องดูว่าหักล้างกันหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นค่าบาท 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนการจะโยกไปผลิตฐานที่โรงงานในประเทศอื่นที่ไม่ปัญหาค่าเงินคงทำไม่ได้ เพราะเรามีน้ำยางที่ไทย และส่งออกให้มาเลเซียด้วย

เทรนด์ตลาดสุขภาพดันถุงมือยาง

อย่างไรก็ตาม ถุงมือจัดอยู่ในกลุ่มเมดิคอล ถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกอีก 20 ปีข้างหน้า เพราะประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะประชากรชั้นกลางในประเทศเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เกิดดีมานด์การรักษา และบริการสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับประเทศต่าง ๆ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาส ขณะนี้ดีมานด์ถุงมือโตปีละ 15% ส่วนยางโตแค่ 3% คาดการณ์ว่าการใช้ถุงมือปีนี้จะอยู่ที่ 280,000 ล้านชิ้น จากปีก่อน 250,000 ล้านชิ้น ในอนาคตก็โตแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

มุ่งธุรกิจถุงมือยาง อีก 10 ปี

ศรีตรังฯจะเน้นการลงทุนในธุรกิจถุงมือเป็นหลักในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ 1) ขยายกำลังการผลิต 2) ขยายตลาดไปทั่วโลก โดยหลักเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แต่ในอนาคตเราจะเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนา emerg-ing market เพราะว่าประเทศพวกนี้จะมีคนฐานะปานกลางเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่จะเติบโต เขาต้องการเข้าสู่เฮลท์แคร์มากขึ้น

เปิดแผนลงทุน 4,000 ล้าน

ในส่วนของการขยายกำลังผลิตหลังซื้อไทยกอง (TK) ไปแล้ว ทำให้มีกำลังผลิต 21,000 ล้านชิ้นต่อปี ครองมาร์เก็ตแชร์ 8-10% ของทั่วโลก หรือเป็นท็อป 5 แผนครึ่งปีหลังกำลังขยายการผลิต 2 โรงงาน งบฯลงทุน 3,300 ล้านบาท ซึ่งจะเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2563 รวมฐานผลิต 3 แห่ง คือ หาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี และตรัง ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านชิ้นในไตรมาส 3 ปีหน้า

แต่ถ้าเราจะเป็นท็อป 3 ของโลก ต้องมี 40,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มอีก 10,000 ล้านชิ้นให้ได้ ซึ่งตอนนี้ที่ 2 ของโลก คือ มาเลเซีย ผลิตได้ 40,000 ล้านชิ้น

หลังจากนี้ก็จะขึ้นโปรเจ็กต์ใหม่ เริ่มมองตั้งแต่ตอนนี้ ศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากที่สุด คาดว่าจะมีความชัดเจนแผนลงทุนใหม่ภายในปี 2563 ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะขยายการลงทุนในหรือต่างประเทศ เช่น เมียนมาก็เป็นไปได้ ทางใต้เมียนมาปลูกยางเยอะ เรามีโรงงานยางแท่งขนาดเล็กที่นั่น และขายดีมาก ใช้กำลังการผลิต 95% ขายให้เกาหลี และญี่ปุ่นหมดแทบไม่พอ

ส่วนยางธรรมชาติ เราไม่ได้ขยายกำลังการผลิต แค่รีโนเวต ครึ่งปีหลังจะปรับปรุงโรงงานยางธรรมชาติ ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย อีก 700 ล้านบาท