3 แสนล. ปลุกเศรษฐกิจไม่ขึ้น แพ็กเกจรัฐเหวี่ยงแห-กระตุ้นระยะสั้น

รัฐงัดแพ็กเกจอัดฉีดเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้าน รับมือเศรษฐกิจชะลอตัว ใส่เงินเพิ่มบัตรคนจน-คนชรา-เลี้ยงดูบุตร ผุด “ชิม ช้อป ใช้” แจกเงินเที่ยวเมืองไทยคนละ 1,000 บาท 10 ล้านคน เผยล้วงเงินสะสม อปท. ได้แค่ 8 หมื่นล้าน หวังให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบประคองจีดีพี 3% เอกชนชี้แค่ปลุกกำลังซื้อระยะสั้น ไม่สามารถกระตุกเครื่องยนต์ ศก.ได้ ทีดีอาร์ไอ ระบุมาตรการเหวี่ยงแหเป้าหมายไม่ชัด ชี้เข็นจีดีพีโต 3% ไม่ง่าย

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2562 เพื่อพิจารณาเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 แสน/ราย

นายอุตตม แถลงผลการประชุมว่า ครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบมาตรการชุดกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจและเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้ มาตรการที่ 1 ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยประสบภัยแล้ง 13 จังหวัด 909,040 ราย ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกอบด้วย

1.ปรับลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1สำหรับหนี้เงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรกระยะเวลา 1 ปี

2.สินเชื่อใหม่ ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ปลดดอกเบี้ยปีแรก ปีต่อปี MRR ร้อยละ 7

Advertisment

3.สินเชื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหาย รายละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR-2 (เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี)

4.ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. และ 5.สนับสนุนต้นทุนการผลิตเพื่อปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 สนับสนุนเงิน 500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่

สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ปี”62/63 ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 2562 จำนวน 3 ล้านราย

1.9 หมื่นล้าน ตั้งรับ ศก.โลก

Advertisment

มาตรการที่ 2 บรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ระยะเวลา 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) งบฯ 19,093 ล้านบาท 1.ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ชิม ช็อป ใช้” ผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (g-Wallet) 1,000 บาท/คน กระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ตามบัตรประชาชน เป้าหมาย 10 ล้านคน

เม็ดเงินจะลงสู่ระบบไม่เกินเดือน ก.ย.นี้ และสนับสนุนเงินชดเชย (cash rebate) 10% จากยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซื้อสินค้าท้องถิ่น และค่าที่พัก รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท เข้าระบบ g-Wallet (ได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 3,000 บาท/คน)

2.ยกเว้นการตรวจลงตรา (visa) เพื่อนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ระยะ 1 ปี (ต.ค. 62-ก.ย. 63) คาดว่าจะสูญเสียรายได้ทั้งปี 12,133 ล้านบาท 3.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ หักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนซื้อเครื่องจักร 1.5 เท่า 5 ปี

รัฐสูญเสียรายได้ 5,000 ล้านบาท ถึง 31 มี.ค. 63 4.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่

1.สินเชื่อผ่อนปรน กู้ยาว 7 ปี โดยเติมเงินเข้ากองทุนเอสเอ็มอี

2.สินเชื่อพิเศษของสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสินและกรุงไทย 100,000 ล้านบาท

3.มาตรการค้ำกันสินเชื่อ บสย. เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก ชดเชยวงเงิน NPL เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้มากขึ้น

4.สินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยพิเศษเพื่อที่อยู่อาศัย โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 27,000 ล้านบาท และออมสิน 25,000 ล้านบาท

เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

มาตรการที่ 3 ลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (on-top) 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) ประกอบด้วย 1.เติมเงินเพิ่มผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) 500 บาท/เดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ได้รับเงิน 300 บาท/เดือน รายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับเงิน 200 บาท/เดือน

2.ช่วยเหลือผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือน

3.ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ได้รับเงิน 300 บาท/เดือน

4.พักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ที่จ่ายคืนผ่าน ธ.ก.ส.และออมสิน 1 ปี (ต.ค. 62-ก.ย. 63) ให้ กทบ.มีงบประมาณปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่ง กทบ. 50,732 แห่ง มียอดหนี้คงค้างที่กู้จาก ธ.ก.ส.และออมสิน 67,000 ล้านบาท

แพ็กเกจ 3 แสน ล.เพิ่มจีดีพี 3% 

“งบฯของมาตรการทั้งหมดมาจากการขออนุมัติงบฯของรัฐเพิ่มเติม กองทุนประชารัฐที่มีอยู่แล้ว งบฯจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลจะตั้งวงเงินงบฯภายหลัง โดยกระทรวงการคลังได้พิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณอย่างใกล้ชิด ไม่ให้กระทบวินัยการเงินการคลัง”

ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดจากงบฯของรัฐจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 100,000 ล้านบาท เป็นงบฯของรัฐที่ขอเพิ่มเติมไม่ถึงร้อยละ 50 ขณะที่เม็ดเงินจากมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐ 207,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 316,000 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบ จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2562 ร้อยละ 3

ล้วงเงินสะสม อปท.อีก 8 หมื่น

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงแผนการใช้เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระตุ้นเศรษฐกิจว่า เงินสะสมของ อปท.มี 2 ก้อน 1.ทุนสำรอง 2.เงินสะสม ซึ่งมีอยู่ 80,000 ล้านบาท เพราะบางพื้นที่ไม่มีงบประมาณ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนาดเล็ก เว้นแต่เทศบาลนคร เทศบาลเมืองใหญ่ ๆ ที่มีเงิน 5 ล้านบาทขึ้นไป

ดังนั้นต้องดูว่าโครงการที่ ครม.อนุมัติไปแล้วในช่วงที่ให้ อปท.ใช้เงินสะสมพัฒนาโครงสร้างพื้นที่เมื่อปี 2559 หมดอายุไปหรือยัง เช่น มาตรการสนับสนุนการลงทุนระหว่างรัฐบาลและ อปท. หรือ (matching fund) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสังคมภายในท้องถิ่น ถนนที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ การสร้างฝายกั้นน้ำ โอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว เพราะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายงบฯได้

ท่องเที่ยวของบฯ 1.5 หมื่นล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศได้เสนอของบประมาณเร่งด่วนพิเศษ 1.5 หมื่นล้านบาท ดำเนินมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยว 4 เดือนสุดท้าย (ก.ย.-ธ.ค. 2562) 3 มาตรการหลัก 1.ซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวทั่วไทย อาทิ ตั๋วเครื่องบิน, โรงแรม, ที่พัก, ร้านอาหาร ฯลฯ ในราคา 100 บาท มีแผนเปิดให้คนไทยเข้าไปจองรับสิทธิผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคารกรุงไทย เดือนละ 1 วัน วันละ 1 หมื่นคน ได้แก่ วันที่ 9 เดือน 9, วันที่ 10 เดือน 10, วันที่ 11 เดือน 11 และวันที่ 12 เดือน 12 เป็นต้น

อีก 2 มาตรการกำลังรอสรุปรายละเอียด คอนเซ็ปต์จะเป็นรูปแบบลด แลก แจก แถม เช่น ให้ส่วนลดเพิ่มเติมจากเดิมที่ผู้ประกอบการให้อยู่แล้วอีก 10-15% กระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ มีมาตรการแจกเงินเที่ยวมูลค่า 1,000 บาท สำหรับคนไทย 10 ล้านคน ของกระทรวงการคลัง กระตุ้นควบคู่กันด้วย จะให้ความสำคัญกับการทำประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้มากที่สุด ให้เกิดการหมุนเวียนของเงินเร็วที่สุด

“หมวดสินค้าที่สามารถนำเงิน 1,000 บาทนี้ไปใช้ได้ ส่วนใหญ่เป็นหมวดเดิม ๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าทำ ที่ให้นำไปลดภาษีได้ แต่รอบนี้จะเพิ่มหมวดสินค้าชุมชน หรือโอท็อปด้วย”

“ฟรีวีซ่าจีน-อินเดีย” ดันรายได้

นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สนับสนุนการใช้มาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ระยะเวลา 1 ปี และต่ออายุฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ฟรี VOA) ให้กับอีก 19 ประเทศที่เหลืออีก 1 ปีเช่นกัน จะเริ่ม 1 พ.ย. 2562-31 ต.ค. 2563 (หลังมาตรการฟรี VOA 21 ประเทศสิ้นสุดลง 31 ต.ค. 2562)คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมในปีนี้อยู่ที่ 11-12 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 10.5 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวอินเดียที่ 2 ล้านคน และเพิ่มเป็น 3 ล้านคนได้ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 1.6 ล้านคน ทำให้รายได้ของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นไปตามเป้าที่ 3.3-3.4 ล้านล้านบาท

ใจแข็งยืนเป้าจีดีพี 3-3.5% 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า ได้มีการพิจารณาสถานการณ์การคลังและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี”62-63 และตั้งประเด็นในการประชุมครั้งหน้า ระหว่าง 30 ส.ค. หรือ 2 ก.ย. เน้นเรื่องดึงนักลงทุนจากต่างประเทศและแก้ปัญหาการส่งออก

“ครม.เศรษฐกิจเห็นตรงกันว่า สัญญาณเศรษฐกิจโลกมีปัญหามากกว่าที่คาดการณ์ เข้าสู่ขาลงตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จีดีพีไตรมาสที่ 1 และ 2 เศรษฐกิจไทยจากขยายตัวได้ร้อยละ 4 ลดลงเหลือร้อยละ 2.8” 

เป้าหมายคือการขยายตัวของจีดีพีในปี”62 ไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 3 และในปี”63 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5

“บินไทย” เชื่อธุรกิจคึกคัก

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวทั้งแพ็กเกจเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม โดยเฉพาะฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ท่องเที่ยวไปสู่ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร เช่นเดียวกันกับการเปิดเสรีวีซ่าของญี่ปุ่น ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพียงแต่ระยะเวลาของการประกาศใช้มาตรการไม่ควรกระชั้นเกินไป ให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเตรียมตัว

ส่วนธุรกิจการบินน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการต่าง ๆ ไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน ตามแต่เส้นทางและความถี่ของเที่ยวบิน โดยสายการบินที่ทำการบินในเส้นทางที่มีระยะเวลาบินต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง และให้บริการในเส้นทางที่เปิดการยกเว้นค่าธรรมเนียมจะได้รับอานิสงส์มากกว่าสายการบินอื่น ๆ

“ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้ประคอง ศก.

สำหรับมุมมองต่อมาตรการดังกล่าวของนักวิเคราะห์ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นส่วนใหญ่เน้นประคองเศรษฐกิจมากกว่าจะกระตุ้น ส่วนมาตรการที่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ คงเป็นมาตรการด้านท่องเที่ยวที่มีการแจกเงินให้ไปใช้จ่ายท่องเที่ยว ซื้อสินค้า และมีแคชแบ็ก

“ตอนนี้อาจเร็วไปที่จะประเมิน แต่เบื้องต้นเป็นเพียงมาตรการประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ช่วยภาคเกษตร ส่วนมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้น่าจะเป็นแคชแบ็ก น่าจะมีผลคล้าย ๆ กับช็อปช่วยชาติ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยกระตุ้นได้แค่ไหน น่าจะช่วยด้านการกระจายรายได้ ส่วนจะหวังให้จีดีพีทะลุ 3% ขึ้นไป ยังต้องลุ้นกันต่อ”

TDRI ชี้มาตรการเหวี่ยงแห 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ที่รัฐบาลเสนอมาตรการ 3 แสนล้านบาท เพื่อพยุงให้จีดีพีขยายตัว 3% ตั้งข้อสังเกตได้ว่า

1) การออกแบบมาตรการไม่ได้ระบุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ว่าแต่ละมาตรการให้ประโยชน์กับกลุ่มใด และกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเท่าไร คุ้มค่ากับการใช้เงินภาษีหรือเงินกู้ที่รัฐบาลจ่ายไปหรือไม่ต้องแยกเป็นรายมาตรการให้ชัดเจน และวางแนวทางประเมินผลโดยเทียบกับเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ บวกกับดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นด้วย และเป้าหมายการกระตุ้น

ยกตัวอย่าง เช่น หากรัฐบาลวางเป้าหมายนำไปช่วยคนที่มีรายได้น้อยอาจจะเห็นผลเร็ว แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีหนี้สินมากก็จะไม่จับจ่าย หรือช่วยคนที่มีรายได้สูงที่มีแผนจะท่องเที่ยวอยู่แล้วก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

“นักเศรษฐศาสตร์ถกเถียงกันเรื่องนี้ว่า การใช้เม็ดเงินได้ผลแค่ไหน มีเรื่องตัวทวีคูณมาด้วย เช่น ใช้เงิน 1 บาท เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้ 1.5 หรือ 2 บาท รัฐบาลควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัด เพื่อนำไปสู่การประเมินผลการใช้งบประมาณว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด และควรจะเลือกเฉพาะมาตรการที่จะให้ผลชัดเจนเท่านั้น เพราะการคิดใช้เงินนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ใช้แล้วได้ผลแค่ไหนเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นกระทรวงการคลังทำงานอย่างจริงจังในเรื่องนี้” 

2) มาตรการเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจเมื่อไร เพราะมาตรการที่ออกมา เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรหรือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง 9 แสนไร่ อาจจะต้องใช้เวลาการพิสูจน์ความเสียหายก่อนจ่ายชดเชย ซึ่งหากดำเนินการตามระเบียบวิธีปฏิบัติของทางราชการก็อาจจะต้องใช้เวลาถึง 5-6 เดือนไม่สามารถกระตุ้นลงสู่เศรษฐกิจโดยเร็วได้

“ยังห่วงว่ามาตรการขาดการมองผลระยะยาว เป็นการกระตุ้นระยะสั้น ๆ และบางมาตรการที่ส่งเสริมให้เกษตรกร และเอสเอ็มอีกู้จากแบงก์เพื่อลดดอกเบี้ย เป็นการส่งเสริมการเกิดหนี้ จะเกิดผลกระทบหากไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และเอาเข้าจริงไม่เกิดผล เพราะธนาคารก็ไม่กล้าปล่อยกู้ ถ้าเครดิตไม่ดี”

ก่อสร้างลุ้นอานิสงส์เงินท้องถิ่น

นายชนะ ภูมี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และคอนสตรักชั่น บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลใหม่เดินหน้าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าครึ่งปีหลังจะสามารถเติบโตได้ตามคาด ที่สำคัญคือการอนุมัติงบประมาณในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 6 แสนล้านบาท

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี สร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน ทางกลุ่มจึงยังคงคาดการณ์เป้าหมายรายได้เท่าเดิม ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างอาจจะลดลงช่วงต้นปี ซึ่งต้องติดตามผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์สงครามการค้าว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยในไตรมาสที่ 2/2562 บริษัทมีรายได้จากการขาย 45,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กมองว่าความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศปีนี้ น่าจะยังไม่มีการเติบโตมากนักจากโครงการใหญ่ หรือการลงทุนของเอกชน อย่างไรก็ดี คาดหวังว่าภาครัฐจะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้เหล็กเพิ่มขึ้นได้

ห่วงปั่นคนใช้เงินก่อหนี้เกินตัว

ด้าน นายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) มองว่า รองนายกฯสมคิดต้องการให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบ ถ้ามีเงินให้ประชาชนเอาไปใช้จ่ายยิ่งมาก ก็จะยิ่งช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับปีที่แล้วช่วงวันหยุดยาว ถ้าไปเที่ยวต่างจังหวัดก็จะสามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีได้ ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น แต่จะมากขึ้นขนาดไหน ปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณาสำคัญ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เชื่อว่าอย่างน้อยจะทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนมากขึ้น เกิด economic flow มากขึ้น เพียงแต่มาตรการเหล่านี้จะส่งผลบวกในระยะสั้นมากกว่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน เพราะในภาพรวม จีดีพีส่วนใหญ่น้ำหนักกว่า 70% มาจากภาคส่งออก และบริการที่เกิดจากการท่องเที่ยวเป็นหลักใหญ่ การอัดฉีดเงินในการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจน่าจะส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก

“สิ่งที่สำคัญเท่าที่เราเคยศึกษาตลอด เมื่อใส่เงินในกระเป๋าของประชาชนมากขึ้น ส่วนใหญ่มันไม่เกิดในเรื่องของการออมเงิน แต่เกิดการผลักดันให้เกิดการใช้จ่าย ประเด็นของคนไทย คือ เมื่อใช้จ่าย มักจะใช้จ่ายเกินตัว กลับไปปลุกให้เกิดภาระหนี้เสีย หนี้นอกระบบ เป็น cycle เพราะทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะไม่ใช้จ่ายแค่ตามเงินที่มี แต่มักจ่ายเกิน ที่ตามมาคือเกิดหนี้นอกระบบ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

กระตุ้น ศก.แค่ระยะสั้น

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย หรือการปรับเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าในระยะสั้นจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการค้าต่อภาคธุรกิจ และกระตุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ ส่วนในระยะยาว ยังต้องศึกษาว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลดี หรือผลเสียอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด

นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) แสดงความเห็นว่า คาดว่าจะส่งผลให้ภาพเศรษฐกิจ และบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากการมีเม็ดเงินก้อนใหม่ถูกส่งเข้าระบบผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งกระตุ้นให้กลุ่มคนระดับกลางลงล่าง มีกำลังซื้อดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการที่รัฐบาลเสนอเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มองว่า ไม่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เห็นได้จาก 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มองว่าไม่เห็นผล มีทั้งส่วนได้ส่วนเสีย คนที่ได้รับเงินก็จะขาดความกระตือรือร้นในการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้ผลประโยชน์ไปกระจุกอยู่กับนายทุนใหญ่ สินค้าแบรนด์ดังขายดีในกลุ่มคนจน ทำให้สินค้าแบรนด์เล็ก ๆ เสียโอกาสในการขาย รัฐบาลควรเปลี่ยนวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้วิธีการใหม่ ๆ เช่น ควรจะนำเม็ดเงินนี้ไปใช้สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนมีรายได้ และมั่นคงมากกว่าอัดฉีดเงิน และรัฐบาลควรเปลี่ยนวิธีคิดเก่า ๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่เดินหน้าแซงประเทศไทยไปไกลแล้ว