สรท.ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยปี’62 ติดลบ 1.5% ลุ้นปี’63 ฟื้น 0-1% สงครามการค้าคลี่คลาย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกในปี 2562 หดตัว -1.5% ภายใต้ค่าเงินบาท 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์การส่งออกปี 2563 เติบโต 0-1% ภายใต้ค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยบวกสำคัญ สงครามการค้าที่เริ่มมีท่าทีที่ผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเห็นได้จากสหรัฐเลื่อนการขึ้นภาษี 30% มูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวันที่ 1 ต.ค. เป็น 15 ต.ค. และเลื่อนขึ้นภาษีสินค้าจีนกว่า 400 ชนิด แต่ยังไม่ชัดเจนว่าภาษีทั้งหมดที่ได้รับยกเว้นมีสัดส่วนมากเพียงไร รวมไปถึงจีนประกาศงดเว้นภาษีสินค้าสหรัฐในกลุ่ม ยา น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ มูลค่ากว่า 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 62

สินค้าทองคำเป็นปัจจัยหลักในช่วยในการส่งออก โดยมีการขยายตัวของการส่งออกในเดือน ส.ค. กว่า 300% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบส่งออก อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากท่าทีการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายของประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป ที่ดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรมูลค่า 200,000 ล้านยูโรต่อเดือน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ของ FED จาก 2.00-2.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% สินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งและปริมาณสต๊อกสินค้าที่มีอยู่มากในตลาดโลก ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันปริมาณการส่งออกของไทยจึงชะลอตัวลง

การโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง ของบริษัทพลังงานแห่งชาติประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกระทบต่อปริมาณอุปทานของน้ำมันดิบทั่วโลกกระทบต่อราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น 8% ในช่วงวันที่ 14–16 กันยาที่ผ่านมา ส่งผลต่อความผันผวนและไม่แน่นอน เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวทั่วโลกจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และสถานการณ์ Brexit ที่ยังคลุมเครือต่อทิศทางของอังกฤษ ส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่ลดลงและปริมาณการส่งออกที่ลดลง และสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศ ได้แก่ น้ำท่วมที่ภาคะวันออกเฉียงเหนือซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงแก่ผลผลิตทางการเกษตรในระยะสั้นและระยะยาวในภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทย

ทั้งนี้ สรท.เห็นว่าภาครัฐควรที่จะดำเนินการ สนับสนุนให้มีการต่อยอดการเจรจาธุรกิจจากการเปิดตลาดศักยภาพระดับรอง อย่างต่อเนื่องเพราะจากผลที่ผ่านในการเยือนอินเดียคาดมีการเจรจาซื้อขายเพิ่มเติม การเร่งเจรจา FTA ซึ่ง FTA ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและคู่ค้ารองกับไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร RCEP และ ไทย-อินเดีย เป็นต้น และสนับสนุนลดต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกของไทย จากสถานการณ์ของความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามทางการค้า และค่าเงินบาทที่ปัจจุบันไทยยังคงแข็งค่ากว่าคู่ค้าและคู่แข่ง