อลหม่านจัดสรร “หน้ากาก” 1.2 ล้านชิ้นวันเดียวหายวับ

การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้กับคนไทย จากยอดคนติดเชื้อใกล้ทะลุ 100,000 คน มีผู้เสียชีวิต 3,383 คน ที่สำคัญคือ ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่ใช้รักษาหรือป้องกันโรคโดยตรง ด้านกรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การระบาดในไทยขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 2 หลังจากพบผู้ป่วย ซึ่งเป็นคนไทยจำนวนหนึ่งติดเชื้อภายในประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวชาวจีนและผู้คนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก

กรมควบคุมโรค ระบุว่าหากไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดให้ “จำกัด” อยู่ในระยะที่ 2 ได้ จะเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างภายในประเทศหรือการระบาดระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่า ช่วง 1-2 เดือนแรกของระยะที่ 3 จะพบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย/วัน และอาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นรายวันเหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเกาหลีใต้-อิตาลี-อิหร่าน

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของการระบาดในประเทศรอบข้าง การไม่ห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก ตลอดจนปรากฏการณ์ “ผีน้อย” ที่หนีตายจากเกาหลีใต้กลับเข้าสู่ประเทศ ยิ่งทำให้คนไทยต้องอาศัย “หน้ากากอนามัย” เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านการแพร่กระจายจากการไอ-จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและยังไม่แสดงอาการจนเกิดปรากฏการณ์ การขาดแคลนหน้ากากอนามัยประเภทใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์อย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดแคลนหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านและไม่มีการเตรียมการรับมือในช่วงแรกของรัฐบาล ทำให้กรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศให้หน้ากากอนามัย (รวมถึงใยสังเคราะห์ polypropylene หรือ spunbond วัตถุดิบที่ใช้ทำหน้ากาก) เป็น “สินค้าควบคุม” มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

ผลจากการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการกลางฯเข้าไปตรวจสอบโรงงาน การให้รายงานการผลิต สต๊อกสินค้า สต๊อกวัตถุดิบ ไปจนถึงการกำหนดราคาจำหน่ายหน้ากาก และห้ามส่งออกหน้ากากไปนอกประเทศโดยเด็ดขาด ทำให้รัฐบาลสามารถ “เข้าถึง” ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ทั้งประเทศมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประเภทใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์อยู่ 11 แห่ง ทั้ง 11 แห่ง แจ้งว่ามีกำลังการผลิตรวมกันประมาณวันละ 1,200,000 ชิ้นหรือเดือนละประมาณ 36 ล้านชิ้น ทว่าจากการตื่นกลัวการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้คนไทยเกือบทั้งประเทศยึดถือเอาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็น “สรณะ” ส่งผลให้ความต้องการหน้ากากเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 เท่าจากปกติ

กลายมาเป็นเกิดการกักตุนหน้ากากอนามัย การลักลอบส่งออก และราคาหน้ากากพุ่งขึ้นไปเป็น 10 เท่า โดยที่กรมการค้าภายใน ไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและการควบคุมราคาหน้ากากให้อยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการทางกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด เข้ามา “กำกับดูแล” การผลิตหน้ากากอนามัยของโรงงานทั้ง 11 แห่ง ด้วยการ “บังคับ” ให้โรงงานต้องส่งหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ทั้งหมดมาให้ “ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย” ที่บริหารร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข

โดยศูนย์แห่งนี้จะรับหน้ากากอนามัยจากโรงงานเข้ามาวันละ 1,200,000 ชิ้น ทั้งหมดจะถูกจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก 700,000 ชิ้นให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดสรรหน้ากากให้กับโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยอีก 500,000 ชิ้นให้กรมการค้าภายใน จัดสรรกระจายสินค้าให้กับประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการหน้ากากผ่านทางร้านค้าสะดวกซื้อ-ร้านธงฟ้าประชารัฐ และรถโมบายมากกว่า 100 คัน

แต่ทั้งหมดนี้รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาบริหารจัดการหน้ากากอนามัย หลังจากผ่านมาเกือบ 1 เดือน นับจากหน้ากากอนามัยถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์จนเกิดการขาดแคลนไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

จากการสอบถามโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยถึงการขาดแคลนสินค้าและถูกกรมการค้าภายในเข้ามา “กำกับดูแล” กระบวนการผลิตหน้ากากทุกชิ้นสะท้อนว่า การขาดแคลนหน้ากากระยะแรก ๆ เกิดจากมีหน้ากากส่วนหนึ่งที่กรมการค้าภายใน “ขอแบ่ง” ไปกองเอาไว้ที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ถูกบริหารจัดการที่เหมาะสมตามช่องทางการจำหน่ายตามปกติ

“สมมุติโรงงานผลิตหน้ากากออกมาได้ 100 ชิ้น กรมการค้าภายในเอาไปครึ่งหนึ่ง ทีนี้พวกโรงพยาบาลที่เขาสั่งออร์เดอร์เข้ามาตามปกติก็ไม่มีของ มันก็ขาดไปทั่วจนสถานการณ์บานปลาย สะสมเพิ่มขึ้น กลายเป็นของขาดทั้งโรงพยาบาลทั้งร้านค้า แน่นอนว่า ความต้องการมันเพิ่มขึ้นจากการตื่นกลัว COVID-19 รัฐบาลควรต้องออกมาชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นอันดับ 1 ของโรงพยาบาลทั้งบุคลากรและผู้ป่วย คนปกติที่ไม่ติดเชื้อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หน้ากากแบบนี้ แต่พวกผมก็ไม่เข้าใจว่า กรมการค้าภายในจะเอาหน้ากากไปทำไมวันละ 500,000 ชิ้น”

กลับกลายเป็นการบริหารจัดการหน้ากากจำนวน 500,000 ชิ้น/วันของกรมการค้าภายในเป็นเรื่อง “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” คำนวณง่าย ๆ รถโมบาย 100 กว่าคันที่พร้อมจะจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนในราคา 2.50 บาท/ชิ้น 1 คันจะบรรทุกหน้ากากไปขายประมาณ 3,000-5,000 ชิ้น “คุณออกรถ 100 กว่าคันทุกวันหน้ากากวันละ 500,000 ชิ้นก็แทบหมดไปแล้ว นี่เป็นคำตอบว่า ทำไมร้านสะดวกซื้อที่อ้างว่าจัดสรรไปแล้วมันถึงไม่มีของ”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลายแห่งบอกว่า การขาดแคลนหน้ากากอนามัยยังไม่ดีขึ้นและน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน ที่ปกติจะได้โควตาหน้ากากมาไม่มากนัก สำหรับโรงพยาบาลศูนย์เองออร์เดอร์ที่สั่งไปแต่ละครั้ง เวลาที่มีหน้ากากมาส่งก็จะได้รับไม่ครบ ส่วนที่เหลือก็จะนำมาส่งในครั้งถัด ๆ ไปทำให้ รพ.มีสต๊อกหน้ากากสำรองใช้เพียง 4-5 วัน จากปกติที่จะสต๊อกและใช้ได้ 2-3 เดือน “เรียกว่าต้องลุ้นวันต่อวันกันเลย จนตอนนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลเย็บหน้ากากผ้าเพื่อสต๊อกไว้ใช้กันแล้ว” โดยสถานการณ์เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจาก รพ.ไม่สามารถสั่งออร์เดอร์จากโรงงานได้ และทุกโรงต้องไปสั่งผ่านองค์การเภสัชกรรม

ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า จากการประชุมกับภาครัฐและกลุ่มโรงงานผลิตหน้ากาก ล่าสุดได้มีการจัดสรรโควตาให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว และถือว่า “คลี่คลายลงไประดับหนึ่ง อาทิ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวมประมาณ 400,000-500,000 ชิ้น/วัน โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ  60,000 ชิ้น/วัน ส่วนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 100,000 ชิ้น/วัน ซึ่งสมาคมจะนำไปกระจายให้กับสมาชิก 382 โรง ส่วนคลินิกต่าง ๆ คลินิกทันตกรรมประมาณ 25,000-40,000 ชิ้น แต่ภาพรวมของหน้ากากในประเทศยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ขาดแคลน ทุกหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรไปก็ยังต้องมีการควบคุมการใช้และประหยัด โดยจะจัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์จะต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง” นพ.เฉลิมกล่าว

ส่วนโรงพยาบาลในเครือกลุ่มสถาบันการแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีการจัดสรรโควตาหน้ากากอนามัยให้กับส่วนต่าง ๆ แล้ว แต่เนื่องจากเพิ่มเป็นช่วงแรกในแง่ของแนวทางปฏิบัติ ตอนนี้ยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร ยังมีความขลุุกอยู่บ้าง จำนวนที่กลุ่มโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่ประมาณ 20 แห่งได้รับจัดสรรมา

“ก็ยังไม่พอกับความต้องการ แต่เราก็เข้าใจได้ว่าสาเหตุหลักมาจากโรงงานผลิตได้น้อย แต่ความต้องการมีมากของจึงขาด แต่ที่สำคัญก็คือ ปัญหาในการบริหารการจัดการหน้ากากของรัฐบาลนั่นเอง”