ปีทอง “จ็อบเบอร์” ค้าส่งน้ำมัน แห่ตั้ง 218 รายฟันกำไร 5 สตางค์/ลิตร

ค้าส่งน้ำมันคึกคัก จำนวนจ็อบเบอร์ในตลาดพุ่งแตะ 218 ราย เฉพาะยอดจดทะเบียนใหม่ ม.ค.-ส.ค.รวม 12 ราย วงในระบุกำไรเฉลี่ย 5 สตางค์/ลิตร สู้กันด้วยยอดสั่งซื้อน้ำมันยิ่งเยอะยิ่งต่อรองผู้ค้าน้ำมันได้ถูก บางรายหัวใสตั้งบริษัทลูกใหม่หวังแชร์ยอดขาย เพื่อเลี่ยงเข้าข่ายเป็นผู้ค้ามาตรา 7 ต้องลงทุนสร้างคลังและสำรองน้ำมันตามกฎหมาย

ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากที่เคยมีราคาอยู่ที่มากกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันกลับมาใช้น้ำมันและความต้องการใช้น้ำมันก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันกลับมาคึกคักตามไปด้วย โดยเฉพาะค้าปลีกน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันค่ายเล็ก-ใหญ่ต่างแห่ขยายสถานีบริการน้ำมันให้ครอบคลุมเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) ไปจนถึงผู้ค้าส่งน้ำมัน หรือผู้ค้ามาตรา 10 (จ็อบเบอร์) ที่มียอดจำหน่ายน้ำมันไม่เกิน 120 ล้านลิตร/ปี และต้องมีปริมาณจำหน่ายตั้งแต่ 36 ล้านลิตรขึ้นไป เพื่อส่งต่อไปยังสถานีบริการน้ำมัน, ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งอื่น ๆ นั้น เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้ค้าส่งน้ำมันมากขึ้น

ตามรายงานของกรมธุรกิจพลังงาน เฉพาะในเดือนสิงหาคมมีรายใหม่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มรวม 3 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูสิทธิ์ออยล์ บริษัท น้ำมันสยามมงคล จำกัด และบริษัท อิมเพรส เอทานอล จำกัด รวมจำนวนผู้ค้าน้ำมันมาตรา 10 ทั้งสิ้น 218 ราย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ค้ามาตรา 10 ที่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มใหม่ในปี 2560 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าส่งน้ำมันเบนซิน ดีเซล ฯลฯ และบางบริษัทเป็นผู้ค้าส่งเอทานอล (นำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน) เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด สวัสดิ์ไพบูลย์ บริษัท ร่มเย็นเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท เบทเทอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ฯลฯ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้าส่งน้ำมันเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้ถือว่ามีจำนวนจ็อบเบอร์ในระบบค้าน้ำมันเกิดขึ้น “มากที่สุด” เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา จากจำนวนรวม 218 ราย จะแบ่งเป็น 1) ผู้ค้าส่งรายใหม่จริง ๆ ที่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเดิมทีเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระ (ไม่มีแบรนด์) และเมื่อมียอดจำหน่ายค่อนข้างสูง จึงหันมาเป็นผู้ค้าส่งด้วย 2) ผู้ค้าส่งน้ำมันที่เดิมปิดกิจการไปแล้ว กลับมาทำตลาดใหม่ เพราะเห็นสถานการณ์ตลาดน้ำมันดีขึ้น 3) อาจจะเป็นจ็อบเบอร์ที่เคยติดแบล็กลิสต์ เช่น สั่งน้ำมันแล้วไม่ยอมจ่ายเงิน หรือทำผิดกฎหมายในประเด็นอื่น ๆ เปลี่ยนชื่อและขอเข้ามาจดทะเบียนใหม่ 4) จ็อบเบอร์ในส่วนของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เช่น บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ที่ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาประมาณ 8 บริษัท เพื่อรับน้ำมันจากผู้ค้ามาตรา 7 และกระจายไปยังสถานีบริการน้ำมันของตัวเองที่มีอยู่ทั่วประเทศ และ 5) จ็อบเบอร์ที่มียอดขายสูงและมีแนวโน้มว่ายอดขายจะเกินเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 120 ล้านลิตร/ปี และเข้าข่ายต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้ค้ามาตรา 7 นั่นหมายความว่าจะต้องลงทุนสร้างคลังน้ำมัน เพื่อสำรองน้ำมันตามที่กฎหมายกำหนด จึงใช้วิธีเปิดบริษัทลูกใหม่เพิ่มเติมเพื่อกระจายยอดจำหน่ายออกไป

สำหรับกำไร (margin) ที่จ็อบเบอร์ได้ในขณะนี้เฉลี่ยที่ 5 สตางค์/ลิตร ซึ่งในอดีตกำไรเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 10 สตางค์/ลิตร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้กำไรค่อนข้างน้อย แต่หากมียอดสั่งซื้อน้ำมันยิ่งมากก็จะทำให้สามารถ “ต่อรอง” กับผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 (ปตท.-บางจาก-เอสโซ่ ฯลฯ) เพื่อให้ได้ส่วนลดมากขึ้น

Advertisment

ทั้งนี้ จ็อบเบอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ผูกติดที่จะซื้อขายน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันรายใดรายหนึ่งเท่านั้น บางรายก็รับน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ทุกรายที่มีอยู่ เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด อย่างเช่น จ็อบเบอร์รายใหญ่อย่างบริษัทพิชญ์ออยล์กรุ๊ป (2003) จำกัด

“มาร์จิ้นแค่ 5 สตางค์ดูว่าน้อย แต่รถขนน้ำมัน 1 คัน มากกว่า 50,000 ลิตร กำไรเท่าไหร่แล้ว นิวคัมเมอร์จึงมีเข้ามาทุกปี เข้ามาสักพักบางรายก็จะล้มหายตายจากไป การแข่งขันค่อนข้างสูง ที่สำคัญการขายส่งน้ำมันส่วนใหญ่เป็นเครดิต คือ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง รายใดการเงินไม่แข็งแกร่งพอก็หยุดกิจการไป จริง ๆ ตอนที่ตลาดน้ำมันบ้านเราบูม ๆ มีจ็อบเบอร์แค่ 10 กว่ารายเอง สบาย ๆ ไม่ได้แข่งขันอะไรมาก ที่สำคัญในตลาดนี้ก็มีรายใหญ่ที่คุมตลาดอยู่ ซึ่งรายใหญ่เหล่านี้มีจุดแข็งที่ว่า มีวอลุ่มเยอะจึงมีอำนาจต่อรองราคา”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ5 จ็อบเบอร์รายใหญ่ในปัจจุบัน คือ บริษัท พิชญ์ออยล์กรุ๊ป (2003) จำกัด บริษัท แสงอารีย์ ออยล์ บริษัท ซี ซี ออยล์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทบี เอส ออยล์ จำกัด (กลุ่มนี้รับน้ำมันจากเอสโซ่เป็นหลัก) ส่วนใหญ่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน