โควิดเขย่าตลาดข้าวโลก 4 ประเทศ ชะลอขาย “ราคาพุ่ง”

“โควิด-19 เขย่าตลาดข้าวโลก” 4 ประเทศชะลอส่งออก ซัพพลายตึงตัว ดันราคาข้าวโลกขึ้นพรวด 50 เหรียญสหรัฐ ลุ้นคว้าออร์เดอร์ Q2 สมาคมส่งออกข้าว-โรงสี-ชาวนา ดี๊ด๊า มี.ค.ยอดพุ่ง 6 แสน

แหล่งข่าวในวงการส่งออกข้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวหลายประเทศ ประกาศหยุดส่งออกชั่วคราว เริ่มจากจีนเป็นประเทศแรกที่หยุดส่งออกนับจากที่มีปัญหาโควิด ส่งผลให้ปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลว่าสต๊อกข้าวจากจีน 120 ล้านตันจะมาถล่มตลาดโลกคลายไป ขณะที่อินเดียประกาศปิดประเทศและหยุดส่งออกเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ส่งผลต่อตลาดข้าวโลก เพราะอินเดียเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ปีที่ผ่านมาส่งออก 10-11 ล้านตัน

ล่าสุดทางกัมพูชาประกาศงดส่งออกข้าวขาวทั้งหมด ยกเว้นข้าวหอมมะลิและข้าวคุณภาพสูง 2 เดือนนับตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ส่วนเวียดนามคาดว่าจะพิจารณาจำกัดปริมาณการส่งออกเช่นกัน

“ผู้นำเข้าหันมาซื้อที่ไทยทำให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นทั้งราคาส่งออกและราคาภายใน เช่น ข้าวขาว 5% ราคาส่งออกปรับขึ้นตันละ 50 เหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนที่ 490 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นเป็น 560 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวสารในประเทศตันละ 16,500 บาท แต่ต้องระวังว่าตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดหลักก็มีคนป่วยเพิ่มขึ้นแล้ว”

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่าเบื้องต้นจากการติดตามสถานการณ์คาดว่าเวียดนามจะออกประกาศชัดเจนในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจจะจำกัดการส่งออกเพียง 2 เดือน ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ให้ส่งได้ไม่เกินเดือนละ 400,000 ตัน ส่วนประเทศอื่น อินเดียและปากีสถานยังคงส่งออกต่อเนื่อง ทั้งยังมีอาร์เจนตินา เริ่มมาส่งออกข้าวขาวราคาตันละ 470 เหรียญสหรัฐ

จากกรณีที่กังวลว่าผลการปิดประเทศและหยุดส่งออกชั่วคราวของหลาย ๆ ประเทศ จะทำให้ส่งออกข้าวขยายตัวมากขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อปริมาณข้าวภายในประเทศนั้น ยืนยันว่าปริมาณข้าวภายในมีเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอนและแม้ขณะนี้จะมีปริมาณคำสั่งซื้อข้าวหอมมะลิจากฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เดือนมีนาคม 2563 มีปริมาณ 620,000-630,000 ตัน สูงกว่าช่วง 2 เดือนแรก เฉลี่ยเพียงเดือนละ 400,000-500,000 ตัน แต่สมาคมยังคาดการณ์ว่าทั้งปี 2563 จะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายเดิม 7.5 ล้านตัน

“สถานการณ์ที่ดีขึ้นไม่ได้ส่งผลให้ส่งออกโตก้าวกระโดด คงเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น เพราะปัจจัยด้านราคาซึ่งราคาข้าวไทยยังสูงกว่าหลายประเทศ เช่น ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนามเฉลี่ยตันละ 650 เหรียญสหรัฐ ส่วนราคาข้าวขาวไทยตันละ 550 เหรียญสหรัฐ เวียดนามตันละ 430 เหรียญสหรัฐ การที่ราคาข้าวภายในประเทศสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากภัยแล้งด้วย แต่ก็ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”

นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า รายงานปริมาณสต๊อกข้าวคาดการณ์มีอยู่ 6 ล้านตันข้าวสาร หากรวมผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดอีก 2 ล้านตัน ไทยจะมีสต๊อก 8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเชื่อว่าปริมาณข้าวดังกล่าวเพียงพอทั้งการบริโภคภายในและการส่งออกไปต่างประเทศจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ก่อนจะเข้าสู่ฤดูการผลิตข้าวนาปี

“การบริโภคภายในประเทศของคนไทยเฉลี่ยสูงสุด 86 กก.ต่อคนต่อปี หรือเดือนละ 7 กก. ซึ่งปริมาณดังกล่าวรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคนด้วย แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ดังนั้น ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวในประเทศจะลดลงตาม”

ส่วนการส่งออกข้าวเดือนมีนาคม 2563 ที่จะมี 600,000 ตัน ก็ยังมีปัญหาระบบโลจิสติกส์อาจทำให้ส่งมอบล่าช้าด้วย

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ภาพรวมการพยากรณ์ผลผลิตข้าว ปี 2562/2563 มีข้าวเปลือก 28.44 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสาร 18 ล้านตันเศษ ลดลงจากปกติปีที่ไม่มีภาวะภัยแล้ง ไม่ท่วม 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวสาร ประมาณ 19.50-20 ล้านตัน ซึ่งไทยบริโภคในประเทศประมาณ 8 ล้านตัน ปีที่ผ่านมาส่งออก 7.5 ล้านตันเศษเท่ากับ 15.5 ล้านตัน เทียบปริมาณการใช้แล้ว ยังถือว่ามีเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่ควรชะลอส่งออก

“ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 3 ปีที่ราคาข้าว 5% ผงกหัวขึ้นมาจากที่เคยตันละ 370-380 เหรียญสหรัฐ เป็นตันละ 500 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นราคาข้าวสาร 5% ตันละ 16,500 บาท จาก 3 ปีก่อนที่ราคาทรง ๆ ตันละ 11,500-12,000 บาท คิดทอนเป็นราคาข้าวเปลือก 5% ความชื้น 15% ตันละ 10,000-10,500 บาท จากเดิม 7,600-8,000 บาท แต่ถ้าราคาไทยแพงมาก ต่างประเทศก็ระมัดระวังสั่งซื้อใช้เท่าที่จำเป็น”

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรก ซึ่งปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 100,000 ตัน แต่จะยังทยอยออกมาเรื่อย ๆ คาดว่าหลังจากเดือนเมษายน เกษตรกรจะเริ่มปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ทันที เนื่องจากขณะนี้ข้าวราคาดี โดยข้าวเปลือกตันละ 8,000 บาท หรือเป็นข้าวสารเฉลี่ยตันละ 15,000-16,000 บาท

ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมปทุมและข้าวเปลือก กข 79 เฉลี่ยตันละ 9,000-10,000 บาท หรือเป็นข้าวสารตันละ 25,000 บาท และมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการปิดประเทศทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้น และแพงกว่าคู่แข่ง อีกด้านก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ