บริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานิญา ดูแลไร่นา 27 ล้านไร่

ถึงเวลาที่กรมชลประทานต้องเริ่มวางมาตรการบริหารน้ำฤดูฝน รับมือปรากฏการณ์ “ลานิญา” ที่อาจทำให้เกิดอุทกภัยได้เหมือนปี 2538

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2563เพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้ง ปี 2563/2564แบ่งเป็น 5 มาตรการ คือ

1.การจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดทั้งปี

2.ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง

3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระบบชลประทาน

4.กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ

5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย

โดยกำชับให้บริหารตามแผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชในฤดูฝน ปี 2563 จัดการน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในการเพาะปลูกทั่วประเทศไว้ 31,351.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพาะปลูก 27.61 ล้านไร่ แบ่งเป็น การทำนาปี 16.79 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.54 ล้านไร่ และพืชอื่น ๆ 10.29 ล้านไร่ เป็นการใช้น้ำในลุ่มเจ้าพระยา 11,664.94 ล้าน ลบ.ม.เพื่อเพาะปลูกพืช 10.57 ล้านไร่ แบ่งเป็น การทำนาปี 8.1 ล้านไร่ พืชผัก 0.13 ล้านไร่ พืชอื่น ๆ 2.34 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง4,768.89 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพาะปลูกพืช2.42 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาปี 0.90 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.22 ล้านไร่ และพืชอื่น ๆ 1.30 ล้านไร่

“ปีนี้การเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานแนะนำให้ปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. 63 เมื่อมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ จะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับข้าวโดยขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีที่ฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์”

ทั้งนี้ คาดว่าในภาคเหนือ จะทำนาปีประมาณ 5.13 ล้านไร่ รวมทุ่งบางระกำในที่ดอน ภาคกลาง และภาคตะวันตก 16 จังหวัด จะมีการทำนาปี 5.86 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด จะทำนาปี 3.48 ล้านไร่ และภาคตะวันออก8 จังหวัด จะทำนาปี 1.34 ล้านไร่ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 8 จังหวัด จะทำนาปี 0.96 ล้านไร่ ให้เริ่มปลูกข้าวได้ต้นเดือน ต.ค. 63 และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 6 จังหวัด คาดว่าจะทำนาปี 0.03 ล้านไร่ ให้ปลูกข้าวต้นเดือน ส.ค. 63

ส่วนลุ่มเจ้าพระยา ปีนี้มีน้ำต้นทุนน้อยไม่เพียงพอส่งน้ำให้ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างครอบคลุมพื้นที่ 1.145 ล้านไร่ ปีนี้จึงจำเป็นต้องทำนาเหลื่อมปี เหมือนปี 2562 โดยหลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนจึงเริ่มทำ และเมื่อเกิดความเสียหายต่อข้าวในนาทั้งจากฝนแล้ง หรือน้ำท่วม รัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามระเบียบ รวมโครงการบางระกำโมเดล ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายเขตชลประทาน จ. พิษณุโลก และสุโขทัย 2.65 แสนไร่ เมื่อต้นเดือน มี.ค. เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ และส่งน้ำเข้าระบบไปแล้ว จะให้เริ่มเพาะปลูกข้าว 31 ก.ค. 63 สิ้นสุดการส่งน้ำ 1-15 ส.ค. 63 เป็นช่วงที่ต้องเกี่ยวเสร็จ และระหว่าง 15 ส.ค.-31 ต.ค. 63 เตรียมพื้นที่รองรับน้ำหลากปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ กรมยังมีแผนตามแบบจำลองสถานการณ์ช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันอุทกภัย หากฝนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยจะทำให้ปี 2563 หรือนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 จะมีน้ำใช้การได้มากกว่าปริมาณน้ำใช้การได้ในปีก่อนหน้า 5,052 ล้าน ลบ.ม.

โดยมีเขื่อนที่มีน้ำดีมาก 81% จำนวน 13 แห่ง เขื่อนที่มีน้ำดี 51-80% จำนวน 19 แห่ง และมีเขื่อนที่มีน้ำพอใช้ 31-50% จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนเก็บน้ำลำแชะจ.นครราชสีมา และเขื่อนเก็บน้ำแม่กวงจ.เชียงใหม่ แต่หากปริมาณน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% จะมีน้ำใช้การได้มากกว่าปีก่อน 3,545 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนที่มีน้ำดีมาก 81% จำนวน 10 แห่ง มีเขื่อนที่มีน้ำดี 51-80% จำนวน 21 แห่งมีเขื่อนที่มีน้ำพอใช้ 31-50% จำนวน4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเก็บน้ำลำนางรอง เขื่อนเก็บน้ำลำแชะ เขื่อนเก็บน้ำแม่กวง และเขื่อนบางลาง

อย่างไรก็ดี ฤดูฝนปี 2563 จะคล้ายปี 2538 ที่มีฝนตกทางตอนบนค่อนข้างมาก ดังนี้ เดือน พ.ค.ปริมาณฝนปกติ ส่วนเดือน มิ.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและตะวันตก ปริมาณฝนปกติ ภาคอีสานและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนต่ำกว่าค่าปกติ ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑลฝนตกสูงกว่าค่าปกติ ขณะที่เดือน ก.ค.ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ซึ่งกรมได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ หากมีฝนตกในพื้นที่ต่าง ๆ ไว้แล้ว

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งทั้งปี 2563 แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้วรวมถึงกรมอุตุฯ คาดว่าในช่วงเดือน ส.ค. ถึง ก.ย. จะมีปรากฏการณ์ลานิญา ซึ่งตามแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาจะช่วยให้คลี่คลายภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง”

ทั้งนี้ กรมชลประทานประกาศสิ้นสุดฤดูแล้งเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ผลการใช้น้ำรวม 17,053 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 96% ของแผนซึ่งฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,595 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้