5 ปี กม.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่คืบ ยังไร้องค์กรจัดเก็บ-ติดปัญหาเงินกองทุน

ยังไม่ตกผลึก พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ค้างต่อลากไปกลางปี 2564 กรมควบคุมมลพิษติงการตั้ง “องค์กรกลาง-กองทุน” ไม่มีกฎหมายรองรับ ชูโมเดลเยอรมันเก็บค่ากำจัดซากทันทีจ่ายตอนซื้อสินค้าให้ผู้ผลิตและผู้บริโภครับผิดชอบร่วมกัน

นายอุดม เสถียรภาพงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถึงความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 5 ปี เพื่อให้มีกฎหมายสำหรับดูแลเรื่องการจัดเก็บและกำจัด

ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากที่ประเทศไทยกลายเป็นสถานที่กำจัดเศษซากไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากการนำเข้าต่างประเทศจำนวนมาก และกลายเป็นปัญหาทำให้สารอันตราย รวมถึงโลหะหนักที่ถูกนำไปทิ้งปะปนขยะทั่วไปเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยในร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์/โทรศัพท์มือถือ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น และได้ประชาพิจารณ์เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาปี 2561 เข้าสู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว แต่ได้ส่งกลับมาให้ปรับแก้เพิ่มเติม ซึ่งทาง ส.อ.ท.แก้ไขในประเด็นการตั้งองค์กรกลาง และกองทุนโดยได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทั่งเมื่อเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ไปยัง คพ.เพื่อร่วมกันแก้ไขปรับแก้จากร่างฉบับเดิม 34 มาตรา โดยเฉพาะเรื่ององค์กรกลางและกองทุน ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการ แต่ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาทาง คพ.ไม่รับข้อเสนอและมีข้อชี้แจงกลับมาว่า ตามที่ภาคเอกชนได้เสนอปรับแก้และเพิ่มเติมมานั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับร่าง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.น่าจะเสร็จกลางปี 2564 จากเดิมที่จะมีกำหนดเสร็จปี 2563 นี้

ประเด็นเรื่องการตั้งองค์กรกลางในการดูแลการกำจัดซากนั้น ทางกรมแจ้งว่ามีผู้นำเข้าจำนวนมาก ปัจจุบันผู้ผลิตต่างคนต่างทำไม่ต้องรับผิดชอบซากผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้น ส่วนนี้ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ สำหรับองค์กรกลางจะเป็นทีมบริหารมืออาชีพที่ชำนาญในเรื่องของระบบบัญชี ไอที การประมวลผล ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการข้อมูล เงิน จัดเก็บข้อมูลที่ป้อนเข้ามาจากศูนย์รับซากของแต่ละจังหวัด โรงถอดแยกชื่ออะไร อยู่ที่ไหน วิเคราะห์ชิ้นส่วนที่ถูกถอดแยกออกมาเป็นประเภทที่รีไซเคิลได้กี่กิโลกรัม ส่งโรงรีไซเคิลที่ไหน ซากที่เหลือมีกี่กิโลกรัม ส่งกำจัดที่ไหน ราคาเท่าไร ซึ่งตามกระบวนการจะทำให้เรารู้ตั้งแต่ศูนย์รับซากโรงถอดแยกถึงโรงกำจัดที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ควบคุมอยู่

ส่วนการตั้งกองทุนซึ่งตามร่างเดิมกำหนดว่าจะหักเงินจากเอกชน เพื่อนำมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของศูนย์รับคืนซาก สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนรูปแบบการบริหารจัดการ “จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ” แม้จะมีการเสนอให้ตั้งกองทุนจากรัฐโดยการกู้ยืมและทยอยคืนในอีก 1-2 ปี แต่คณะทำงานพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม และยังมีข้อถกเถียงเรื่องของระบบบริหารจะต้องใช้รูปแบบคล้ายระบบเคลียริ่งเช็ก หรือ clearing house ของสถาบันการเงิน ไม่ใช่วิธีเบิกจ่าย

“ปัญหาใหญ่คือเรื่ององค์กรกลางและกองทุน กฤษฎีกาหาทางออกไม่ได้เพราะต้องมีกฎหมายขึ้นมารองรับถึงจะตั้งได้ ซึ่งเรามองว่าอย่างที่เยอรมันเขาใช้องค์กรกลางทำหน้าที่แทนเอกชนทั้งหมด จากนั้นเอากองทุนที่หักเก็บจากเอกชนมาใช้ร่วมกัน นำเงินมาจ่ายในการกำจัดซาก โดยมีกฎหมายเรื่องการจ่ายเงินมาควบคุม”

และถึงแม้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะยังไม่ตกผลึก แต่ได้มีการหารือถึงแนวทางการจัดเก็บเงินค่ากำจัดซากไว้แล้วเบื้องต้น ตัวอย่างในต่างประเทศจะเก็บค่ากำจัดซากบวกรวมไว้กับค่าผลิตภัณฑ์ เช่น ตู้เย็น ราคา 1,000 บาท บวกค่ากำจัดซาก 500 บาท รวมราคาตู้เย็นที่ผู้บริโภคต้องจ่ายทันทีตอนซื้อสินค้าคือ 1,500 บาท นี่เป็นโมเดลแรกที่ในหลายประเทศทำกัน ส่วนโมเดลที่ 2 ราคาตู้เย็น

1,000 บาท กำหนดค่ากำจัดซากไว้ที่ 500 บาท โดยผู้บริโภคจะจ่ายค่าสินค้า 1,000 บาท บวกค่ากำจัดซากก่อน 100 บาท โดยมีคูปองแปะไว้ที่ตัวสินค้า และเมื่อเกิดซากขึ้น (ประมาณการระยะเวลาการใช้งานต่อผลิตภัณฑ์ 5-10 ปี) ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ากำจัดซากเพิ่มอีก 400 บาท หรือโมเดลที่ 3 ราคาตู้เย็น 1,000 บาท ถอดแยกชิ้นส่วน

ออกมาสามารถรีไซเคิลได้ 700 บาท หักเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายไปแล้วส่วนของค่ากำจัดซากที่เหลือคือผู้นำเข้ารับผิดชอบ 300 บาท โดยผู้บริโภคจะร่วมรับผิดชอบ 100 บาท เป็นต้น ซึ่งในบางประเทศจะไม่แจ้งว่ามีส่วนที่ผู้บริโภคต้องร่วมรับผิดชอบจากการกำจัดซากด้วย โดยจะเป็นการบวกไปในราคาสินค้าโดยปริยายที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงขึ้น แม้จะเป็นภาระแต่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์/โทรศัพท์มือถือ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น สามารถใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนที่มีค่าอย่างทองแดงได้ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือ ซาเล้ง ผู้รับซื้อของเก่า ส่วนชิ้นส่วนซากที่เหลืออย่างพลาสติก แก้ว ยาง จะถูกนำส่งไปกำจัดยังโรงกำจัดขยะ หรือใช้วิธีฝังกลบในบ่อขยะ เผา ซึ่งทำให้เกิดมลพิษต่อชุมชน

“ปัญหาอีกอย่างคือ ซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจะมาถึงโรงกำจัดซากหรือไม่ เพราะตอนนี้ซากดังกล่าวถูกไปกำจัดถูกวิธีเพียง 1-2% เท่านั้น เราจะต้องทำให้แน่ใจว่าเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปแล้วเป็นค่ากำจัดซาก แล้วซากจะไปกำจัดถูกต้อง ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริม มีกลไกเข้ามาช่วยควบคุมดูแล การขนส่ง การกำจัดให้เข้ม ต้องมีบทลงโทษเพราะกฎหมายตัวนี้หัวใจ

สำคัญมันมีว่า ผู้ผลิตต้องร่วมรับผิดชอบ ผู้บริโภคต้องจ่าย หากไม่ทำทั้งหมดก็ผิด”

สำหรับบทลงโทษมีการแก้ไขให้รุนแรงขึ้น ทั้งยังกำหนดให้เป็นโทษอาญา มีอัตราค่าปรับที่สูงขึ้น จากร่างเดิมที่กำหนดไว้ 100,000-200,000 บาท ปรับขึ้นเป็นสูงสุด 500,000 บาท จำคุกอีก 2 ปีด้วย